MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

ลักษณะทั่วไปของจิตรกรรมไทยประเพณี

1) มักมีลักษณะเป็นอุดมคติ (Idealistic) เกิดจากการประดิษฐ์ของช่างให้มีลักษณะเหนือจริง ตัวพระและตัวนางมักถูกออกแบบด้วยลีลาที่งามสง่าอ่อนช้อยแบบนาฏลักษณ์ มีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วยอากัปกิริยาท่วงท่ามากกว่าการแสดงออกทางสีหน้าตามแบบจิตรกรรมตะวันตก การวาดภาพสัตว์ มีการจับลักษณะเด่นและอากัปกิริยาท่าทางมาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามความคิดสร้างสรรค์ของช่างจนเกิดเป็นรูปแบบความงามเฉพาะตัว

(นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี)
2) มักแสดงภาพคล้ายกับการมองจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หรือที่เรียกว่า Aerial Perspective หรือที่เรามักคุ้นว่าทัศนียภาพแบบตานกมอง (Bird’s Eye View)
3) มักแสดงภาพ 2 มิติ โดยไม่แสดงแสงเงาตามธรรมชาติ ไม่แสดงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน และไม่สนใจการเขียนให้ถูกตามสัดส่วนใหญ่ – เล็กเพื่อแสดงระยะใกล้ไกลของภาพตามหลักทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการระบายสีตัวภาพแบนเรียบ ใช้สีอ่อน – เข้มระบายสีตัวบุคคลเพื่อแสดงฐานะหรือความสำคัญของตัวละคร
4) มักเขียนภาพเล่าเรื่องต่อกันไปทั้งผนัง โดยใช้เส้นสินเทา พุ่มไม้ ท้องฟ้า ภูเขา โขดหินหรือผืนน้ำเป็นตัวแบ่งฉากหรือเรื่องราว

(การใช้พุ่มไม้ ท้องฟ้า ภูเขา โขดหิน ฯลฯ เป็นตัวแบ่งฉาก วัดหน่อพุทธางกูร จังหวัดสุพรรณบุรี)
5) มักใช้สัญลักษณ์ซ้ำ ๆ เพื่อสื่อความหมายแทนตอนใดตอนหนึ่ง
6) มีการประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ เพื่อใช้ตกแต่งภาพและแก้ปัญหาพื้นที่ว่าง

เอกสารอ้างอิง
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2556). ความเข้าใจในจิตรกรรมไทยประเพณี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต