MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

พุทธประวัติ

พุทธประวัติ คือ ประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า ในงานจิตรกรรมช่างเขียนมักจะเลือกเหตุการณ์สำคัญของแต่ละตอนมานำเสนอโดยให้พระพุทธเจ้าเป็นองค์ประกอบหลักของภาพ และมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ช่วยขยายความเนื้อหาพุทธประวัติตอนนั้น ๆ ให้เห็นชัดว่าเป็นตอนใด ซึ่งช่างเขียนจะต้องเขียนภาพตามลำดับเรื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้ดู การศึกษาภาพพุทธประวัติในงานจิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรีครั้งนี้ เป็นงานศึกษาตามรอยการสำรวจของกรมศิลปากร โดย วรรณิภา ณ สงขลา และคณะเมื่อ พ.ศ. 2529

จิตรกรรมพุทธประวัติ จังหวัดสุพรรณบุรี มีทั้งที่เขียนเล่าเรื่อง 1 ภาพ 1 เนื้อหาหรือ 1 ตอน เช่น คอสองศาลาการเปรียญวัดมณีวรรณ อำเภอบางปลาม้า พระอุโบสถวัดปราสาททอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ หรือวาดภาพ 1 ภาพ เล่าพุทธประวัติหลายตอนรวม ๆ กัน เช่น คอสองศาลาการเปรียญวัดกลาง อำเภอบางปลาม้า พระอุโบสถวัดเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช ฯลฯ

(พุทธประวัติ ตอน พระพุทธองค์ทรงปราบชฎิล วัดมณีวรรณ อำเภอบางปลาม้า)


(พุทธประวัติ ตอน ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา วัดเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช)
การศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาของภาพจะใช้การเทียบเคียงกับ ปฐมสมโพธิกถา ฉบับ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นหลัก ในที่นี้จะสรุปเนื้อหาพุทธประวัติโดยเรียงลำดับตาม ปฐมสมโพธิกถา จำนวน 29 ปริจเฉท ดังนี้ 

ปริจเฉทที่ 1 วิวาหมงคลปริวรรต กล่าวถึงความเป็นมาของวงศ์ทางพระชนกและพระชนนีของเจ้าชายสิทธัตถะ คือพระเจ้าสุทโธทนะ (ศากยวงศ์) และพระนางสิริมหามายา (โกลิยวงศ์) เป็นลำดับจนถึงตอนอภิเษกสมรสของทั้ง 2 พระองค์ จิตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรีมีเพียง 2 วัด เท่านั้นที่แสดงตอนวิวาหมงคลปริวรรต คือวัดชีปะขาวและวัดป่าพระเจ้า แสดงอิทธิพลของ ปฐมสมโพธิกถา เนื่องจากเป็นพุทธประวัติที่มีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ฉบับนี้เท่านั้นไม่พบในคัมภีร์อื่น ๆ เช่น คัมภีร์นิทานกถา คัมภีร์ชินมหานิทาน และปฐมสมโพธิกถา ฉบับล้านนา

ปริจเฉทที่ 2 ดุสิตปริวรรต กล่าวถึงเทพยดาทั้งหลายอันมีท้าวมหาพรหมเป็นประธานได้อัญเชิญโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา

ปริจเฉทที่ 3 คัพภานิกขมนปริวรรต กล่าวถึงพระนางสิริมหามายาทรงสุบิตนิมิตว่ามีเศวตหัตถีกระทำประทักษิณพระนาง 3 รอบ เหมือนดุจเข้าไปในอุทรแห่งพระนาง ต่อมาทรงปรารถนาจะกลับกรุงเทวทหะและประสูติพระสิทธัตถะกุมารที่สวนลุมพินีวัน ป่าไม้รัง ณ ใต้ต้นรัง เมื่อประสูติแล้ว พระสิทธัตถะกุมารทรงย่างพระบาทไป 7 ก้าว พร้อมประกาศวาจาเป็นบุพพนิมิตร แวดล้อมด้วยข้าราชบริพาร พระอินทร์ พระพรหมและเหล่าเทพยดา

ปริจเฉทที่ 4 ลักขณปริคคาหกปริวรรต หลังประสูติได้ 5 วัน กาฬเทวิลดาบสเข้าเยี่ยมถวายพยากรณ์ว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สิทธัตถะกุมารแสดงปาฏิหาริย์โดยการเสด็จขึ้นไปยืนบนชฎาของกาฬเทวิลดาบส ต่อมาพระราชบิดาได้เชิญพราหมณ์ผู้ทรงวิชา 8 คนมาทำนายลักษณะของพระกุมาร การทำนายในครั้งนั้นพราหมณ์ 7 คนได้ทำนายเป็นอย่างเดียวกันว่า หากพระกุมารอยู่ในเพศฆราวาสจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิแต่หากบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดา มีโกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เดียวที่ถวายคำทำนายว่าพระกุมารจะเสด็จออกผนวชและได้บรรลุโพธิสมภาณ

ปริจเฉทที่ 5 ราชาภิเษกปริวรรต กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดาของพระสิทธัตถะกุมารหลังประสูติได้ 7 วัน และทรงบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตตามประเพณีของพุทธมารดา พระนางมหาปชาบดีโคตมีผู้เป็นภคินีแห่งพุทธมารดาเป็นผู้เลี้ยงดู พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งตั้งพระทัยจะให้สิทธัตถะกุมารเป็นพระมหาจักพรรดิจึงบำรุงความสุขทุกประการ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จออกในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสดงปาฏิหาริย์บรรลุปฐมฌานขณะประทับใต้ร่มไม้หว้าขณะพระชนมายุ 7 พรรษา ต่อมาทรงสำแดงศิลปศาสตร์ธนูทั้ง 12 ประการ ทรงยกสหัสถามธนูที่หนักเท่าคนจำนวนหนึ่งพัน ทรงลองดีดสายธนูส่งเสียงกระหึ่มดังทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงเสวยราชสมบัติและมีพระนางพิมพายโสธรราชเทวีเป็นอัครมเหสี

ปริจเฉทที่ 6 มหาภินิกขมณปริวรรต เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุ 29 พรรษา ทรงเสด็จประพาสอุทยานพบเทวทูตทั้งสี่ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ที่เทวดานิมิตขึ้นมา ทรงสังเวชพระทัยจึงตัดสินใจออกผนวช ก่อนผนวชทรงทอดพระเนตรพระราหุลโอรสที่เพิ่งประสูติและพระนางพิมพาแล้วเสด็จออกจากวังพร้อมนายฉันนะและม้ากัณฐกะ (ภาพที่ 2) แต่มีพระยามารมาห้ามแต่ไม่สำเร็จ เมื่อถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมาจึงตัดพระเกศาละจากเพศฆราวาส พระอินทร์อัญเชิญพระเกศาไปประดิษฐานยังพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวฆฎิกาพรหมนำอัฐบริขารทั้งแปดมาถวายพร้อมทั้งอัญเชิญพระภูษาไปประดิษฐานยังทุสสเจดีย์บนพรหมโลก 
 
(มหาภินิกขมณปริวรรต วัดประตูสาร อำเมืองสุพรรณบุรี)
 
ปริจเฉทที่ 7 ทุกรกิริยาปริวรรต นายฉันนะและม้ากัณฐกะนำอาภรณ์ของเจ้าชายสิทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์ แต่ม้ากัณฐกะอกแตกตาย ด้วยความเศร้าก่อนถึงพระนคร พระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์ทรงตรัสเชิญให้พระสิทธัตถะครองราชย์สมบัติแต่ได้รับการปฏิเสธและได้ทูลขอให้มาเทศนาโปรดเมื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พระสิทธัตถะเข้าศึกษายังสำนักต่าง ๆ แต่ไม่พบหนทางตรัสรู้ จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาพบกับพราหมณ์ทั้งห้าที่มาเฝ้าปรนนิบัติพระองค์ขณะที่ทรงกระทำทุกรกิริยาเป็นเวลา 6 พรรษา แต่ด้วยการกระทำที่ตึงจนเกินไปนี้พระอินทร์จึงได้ดีดพิณ 3 สาย ถวายเพื่อชี้ให้เห็นถึงทางสายกลาง เมื่อพระพุทธองค์เลิกกระทำทุกรกริยาแล้วพราหมณ์ทั้งห้าจึงละทิ้งพระองค์ไป

ปริจเฉทที่ 8 พุทธบูชาปริวรรต นางสุชาดาและบริวารได้หุงข้าวมธุปายาสถวายต่อพระสิทธัตถะ หลังจากทรงเสวยแล้วทรงลอยถาดพร้อมตั้งจิตอธิษฐาน หากได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำ ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำแล้วจมลงสู่วิมานของพระยานาคราชกระทบกับถาดของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ที่เคยอธิษฐานไว้ จากนั้นโสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้าคา 8 กำ พระองค์นำมาปูพื้นตรงโคนต้นโพธิ์และประทับบำเพ็ญสมาธิ

ปริจเฉทที่ 9 มารวิชัยปริวรรต พระยาวัสดีมารยกกองทัพมารมาสำแดงอิทธิฤทธิ์นานัปการจนเทวดาที่มาเฝ้าชมบารมีต่างหลบหนีไปสิ้น พระสิทธัตถะจึงเหยียดนิ้วพระหัตถ์เรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานประกอบทานบารมีของพระองค์ในอดีตชาติ พระแม่ธรณีจึงปรากฏกายบิดเอาน้ำจากพระโมฬีที่สิทธัตถะเคยหลั่งทักษิโณทกไหลท่วมจนกองทัพมารแตกพ่ายไป
 
 (มารวิชัยปริวรรต วัดกลาง อำเภอบางปลาม้า)
 
ปริจเฉทที่ 10 อภิสัมโพธิปริวรรต พระสิทธัตถะทรงประทับสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ปริจเฉทที่ 11 โพธิสัพพัญญูปริวรรต ภายหลังตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุข ณ สัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง แห่งละสัปดาห์ ดังนี้ สัปดาห์ที่ 1 ประทับบนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ท่ามกลางเทพยดาที่มาชื่นชมบารมี สัปดาห์ที่ 2 ประทับลืมพระเนตรพิจารณามหาโพธิบัลลังก์ (อนิมิสเจดีย์) สัปดาห์ที่ 3 ประทับจงกรม สัปดาห์ที่ 4 ประทับนั่งในเรือนทรงแก้วที่เทวดาได้เนรมิตขึ้นมา พิจารณาหลักธรรมจนบังเกิดฉัพพรรณรังสีรอบพระวรกาย สัปดาห์ที่ 5 ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นอัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ในครั้งนี้ธิดาพระยาวัสดีมารได้เข้ายั่วยวนด้วยกิเลสทั้งปวงแต่พระพุทธองค์ทรงขับไล่จนแตกพ่ายไป สัปดาห์ที่ 6 ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ครั้นประทับอยู่ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก พระยานาคมุจลินท์จึงขึ้นมาแผ่พังพานปกคลุมพระวรกาย สัปดาห์ที่ 7 ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นราชายตนะพฤกษ์ พระอินทร์ได้ลงมาถวายผลสมออันเป็นทิพย์โอสถ มีวานิช 2 พี่น้อง คือ ตปุสสะและภัลลิกะได้นำสัตตูก้อนและสัตตูผงมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตรที่ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้นำมาถวายโดยสมานให้เป็นใบเดียว

ปริจเฉทที่ 12 พรหมัชเฌสนปริวรรต ท้าวสหัมบดีพรหมและเหล่าเทวดาลงมาอาราธนาพระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดอเนกเวไนยสัตว์ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบอเนกเวไนยสัตว์เฉกเช่นดอกบัวทั้งสี่เหล่า

ปริจเฉทที่ 13 ธัมมจักกปริวรรต พระพุทธองค์เสด็จสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงเลือกที่จะไม่เสด็จไปโดยการเหาะเพราะต้องการพบอุปชีวกผู้ที่จะบรรพชาในพระพุทธศาสนาในอนาคต ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์จนบรรลุโพธิญาณ

ปริจเฉทที่ 14 ยสบรรพชาปริวรรต กล่าวถึงยสะบุตรของเศรษฐีผู้หนึ่งซึ่งเกิดความเบื่อหน่ายในกามคุณ ได้ดำเนินไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบกับพระพุทธองค์ที่ทรงจงกรม พระพุทธองค์ทรงเทศนาอริยสัจสี่โปรดยสะจนได้ดวงตาเห็นธรรมขอบรรพชาเป็นพระสาวก ฝ่ายบิดาของพระยสะได้ออกตามหาบุตรครั้นเห็นรองเท้าวางอยู่ในที่ประทับของพระพุทธองค์จึงเข้าไปอภิวาท พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดบิดาพระยสะจนบรรลุโสดาบัน บิดาของพระยสะจึงประกาศตนเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนา บิดาของพระยสะได้อาราธนาพระพุทธเจ้าและพระยสะเข้าไปฉันอาหารยังเคหะสถาน ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เทศนาโปรดมารดา ภรรยา และเหล่าสหายของพระยสะจนบรรลุโสดาบัน มารดาและภรรยาของพระยสะจึงประกาศตนเป็นปฐมอุบาสิกาคู่แรก ฝ่ายสหายของพระยสะต่างบรรพชาเป็นสาวกของพระพุทธองค์

ปริจเฉทที่ 15 อุรุเวลคมนปริวรรต พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสู่อุรุเวลา ทรงโปรดเจ้าชายแห่งแคว้นโกศล 30 พระองค์ ณ ป่าไร่ฝ้าย ต่อมาทรงปราบชฎิล 3 พี่น้อง คืออุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ชฎิลทั้ง 3 ล้วนมีทิฐิต่อพระพุทธองค์จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบ เช่น ทรงปราบพญานาคที่ดุร้ายมีฤทธิ์พ่นเปลวเพลิงใส่ ทรงขดพญานาคนั้นไว้ในบาตร ฯลฯ จนชฎิลทั้งสามและบริวารยอมแพ้ลอยบริขารของตนลงแม่น้ำก่อนอุปสมบท

ปริจเฉทที่ 16 อัครสาวสกบรรพชาปริวรรต พระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์เสด็จสู่ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) ทรงถวายเวฬุวันให้เป็นพระอารามแห่งแรก พระเจ้าพิมพิสารทรงทูลแก่พระพุทธเจ้าว่าทรงได้ยินเสียงเปรตหวีดร้องน่าสะพรึงกลัว พระพุทธองค์ตรัสว่านั่น คือ เสียงพระญาติในอดีตของพระเจ้าพิมพิสารที่บังเกิดเป็นเปรตส่งเสียงร้องขอส่วนกุศล ต่อมาอุปติสะกับโกลิตะบุตรพราหมณ์ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงพากันมาพร้อมด้วยบริวารเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขออุปสมบท ภายหลังอุปสมบทอุปติสะได้นามว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะได้นามว่าพระโมคคัลลานะ

ปริจเฉทที่ 17 กปิลวัตถุคมณปริวรรต พระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้จึงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารมาทูลเชิญพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ถึง 9 ครั้ง เนื่องด้วยอำมาตย์และบริวารเหล่านั้นต่างศรัทธาในพระพุทธศาสนาขออุปสมบทเสียทุกครั้ง ในครั้งที่ 9 กาฬุทายีอำมาตย์พร้อมบริวารก็ได้อุปสมบทเช่นเดียวกัน หลังอุปสมบท 7 วัน ได้ทูลเชิญพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จนิโครธาราม ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์จงกรมบนอากาศเนื่องจากพระญาติที่อาวุโสกว่าไม่ถวายอัญชลีแก่พระองค์ ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมา พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรชาดกประทานพุทธบิดาและเหล่าประยูรญาติ

ปริจเฉทที่ 18 พิมพาพิลาปปริวรรต พระนางพิมพาทรงชี้ให้พระราหุลโอรสทอดพระเนตรพุทธบิดาขณะกำลังบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทราบจึงทูลเชิญพระพุทธองค์เข้าบิณฑบาตภายในเคหะสถาน นางพิมพาทรงน้อยพระทัยที่พระพุทธองค์ทอดทิ้งจึงไม่ออกมาเข้าเฝ้า พระพุทธองค์จึงแสดงธรรมเทศนาโปรดนางพิมพาจนบรรลุโสดาบัน

ปริจเฉทที่ 19 สักยบรรพชาปริวรรต พระพุทธองค์ทรงประทานบาตรส่งให้พระนนท์ประคองถือไว้แล้วเสด็จออกมาโดยมิได้ทรงรับเอาบาตรกลับคืน พระนนท์ทรงเกรงพระทัยจึงถือบาตรตามเสด็จไปถึงนิโครธาราม แล้วพระพุทธองค์ทรงโปรดประทานอุปสมบทบวชพระนนท์ ต่อมาพระราหุลเสด็จไปนิโครธารามทูลขอพระราชสมบัติ พระพุทธองค์ทรงบรรพชาพระราหุล ครั้งนั้นพระเทวทัตผูกใจเจ็บอาฆาตพระพุทธองค์โดยออกอุบายให้นายขมังธนูทำร้ายพระพุทธองค์ เมื่อไม่สำเร็จจึงขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏกลิ้งหินลงมาเพื่อสังหารจนสะเก็ดหินกระทบพระบาทบังเกิดห้อพระโลหิต ต่อมาปล่อยช้างนาฬาคีรีให้ทำร้ายพระพุทธองค์ขณะออกบิณฑบาตแต่พระอานนท์ยืนขวางไว้ พระพุทธองค์ทรงทรมานช้างนาฬาคีรีให้หยุดพยศ ท้ายที่สุดพระเทวทัตโดนธรณีสูบ
 
ปริจเฉทที่ 20 เมตตไตยพยากรณ์ปริวรรต พระเมตไตยโพธิสัตว์ลงมาจุติเป็นโอรสของพระเจ้าอชาตสัตรู มีพระนามว่าพระอชิตราชกุมาร ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีตั้งพระทัยถวายจีวรผ้าสาฎกเนื้อดีคู่หนึ่งแก่พระพุทธองค์ แต่พระองค์ไม่รับ พระสาวกองค์อื่น ๆ ก็ไม่รับเช่นกัน จนถึงพระอชิตะภิกษุผู้เป็นสงฆ์นวกะที่น้อมรับผ้านั้นไว้ พระนางทรงเสียพระทัย พระพุทธองค์จึงโยนบาตรให้หายไปในอากาศแล้วทรงเรียกให้พระอชิตะภิกษุถือบาตรนั้น พระอชิตะภิกษุได้อธิษฐานว่าหากท่านได้ตรัสรู้ในอนาคตขอบันดาลให้บาตรตกลงมายังหัตถ์ บาตรนั้นก็มาอยู่ในหัตถ์ พระอชิตภิกษุจึงทรงได้รับพยากรณ์จากพระพุทธองค์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

ปริจเฉทที่ 21 พุทธปิตุนิพพานปริวรรต ครั้งพระพุทธองค์ทราบว่าพุทธบิดาประชวรหนักจึงเสด็จไปเยี่ยมและแสดงธรรมถวายจนบรรลุอรหันต์ก่อนนิพพาน ต่อมาทรงมีพุทธานุญาติให้สตรีสามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้จากการทูลอ้อนวอนของพระอานนท์ ทรงอุปสมบทพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้เป็นภิกษุณีพร้อมด้วยนางสักยราชนารีอีกห้าร้อย ณ กุฎาคารศาลา เมืองเวสาลี
 
(พุทธปิตุนิพพานปริวรรต วัดเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช)
 
ปริจเฉทที่ 22 ยมกปาฏิหาริย์ปริวรรต เศรษฐีผู้หนึ่งแห่งกรุงราชคฤห์ได้ไม้จันทร์แดงมาจากแม่น้ำและกลึงเป็นบาตรผูกห้อยไว้กับยอดไม้ไผ่สูง 60 ศอก แล้วประกาศว่าผู้ใดเป็นอรหันต์ให้เหาะขึ้นไปบนอากาศมาเอาบาตรไม้จันทร์แดงไป พระโมคคัลลานะจึงให้พระบิณโฑลภารทวาชเถรเหาะขึ้นไปนำบาตรนั้น พระพุทธองค์ทราบจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระสาวกมิให้กระทำปาฏิหาริย์ ฝ่ายเดียรถีย์ต้องการประลองปาฏิหาริย์แข่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่าจะกระทำปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์ในวันเพ็ญเดือน 8 ใต้ต้นมะม่วง ณ กรุงสาวัตถี เมื่อถึงกำหนดทรงแสดงปาฏิหาริย์โดยรัตนจงกรมในอากาศและนิรมิตกายทั้งประทับยืน ประทับนั่ง สีหไสยาสน์ จงกรม มีท่อไฟพุ่งและสายน้ำไหลออกจากพระองค์ เดียรถีย์พ่ายแพ้ไป

ปริจเฉทที่ 23 เทศนาปริวรรต พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อรอพระอินทร์อัญเชิญพุทธมารดาลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา 90 วัน

ปริจเฉทที่ 24 เทโวโรหนปริวรรต พระโมคคัลลานะสำแดงฤทธิ์แทรกพื้นปฐพีแล้วไปผุดขึ้น ณ เชิงเขาพระสุเมรุ ถามพระพุทธองค์ว่าจะเสด็จกลับเมื่อไร พระองค์ทรงตรัสว่า อีก 7 วัน จะกลับไปยังที่ซึ่งพระสารีบุตรจำพรรษาใกล้ ๆ เมืองสังกัสนคร เมื่อถึงกำหนดพระพุทธองค์เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ พระอินทร์เนรมิตบันไดทั้งสาม ได้แก่ บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว บันไดทองสำหรับหมู่เทวดาลงด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม และบันไดแก้วอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธองค์ หัวบันไดแต่ละอันพาดะหว่างเขาพระสุเมรุกับประตูเมืองสังกัสนคร การเสด็จครั้งนี้ทรงเปิดให้เห็นทั้งเทวโลก พรหมโลก มนุษยโลก และอเวจี ให้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน
 
(เทศนาปริวรรตและเทโวโรหนปริวรรต วัดจรรย์ อำเภอศรีประจันต์)
 
ปริจเฉทที่ 25 อัครสาวกนิพพานปริวรรต ในพรรษาที่ 45 ของพระพุทธองค์ พระสารีบุตรได้กราบลากลับบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมเยียนพระมารดาและทูลขอนิพพาน ฝ่ายพระโมคคัลลานะได้ประสบกรรมเก่าถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแหลกจึงทูลลานิพพานต่อพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน

ปริจเฉทที่ 26 มหาปรินิพพานปริวรรต พระพุทธเจ้าทรงอาพาธ ทรงแสดงธรรมแก่กษัตริย์ลิจฉวีราช เสด็จออกบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ทรงหยุดทอดพระเนตรเป็นครั้งสุดท้าย พระยามารเข้าเฝ้าทูลขอให้เสด็จปรินิพพาน ทรงกำหนดปลงพระชนมายุสังขารจากนี้ไปอีก 3 เดือน จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ทรงเสด็จมุ่งหน้าสู่กรุงกุสินารา ทรงเสวยสุกรมัททวะของนายจุนทกัมมารบุตรที่ปาวานครทำให้ทรงอาพาธอีกครั้ง ระหว่างเดินทางทรงกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง พระอานนท์จึงไปตักน้ำมาถวาย ทรงให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานแก่กษัตริย์มัลลราช ทรงแสดงธรรมโปรดท่านสุภัททปริพพาชก เสด็จประทับไสยาสน์ดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ มีมนุษย์และเทพยดาจำนวนมากทำการสักการะบูชา

(มหาปรินิพพานปริวรรต วัดประตูสาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี)
 
ปริจเฉทที่ 27 ธาตุวิภัชนน์ปริวรรต ครั้งนั้นกษัตริย์มัลละจัดเตรียมผ้าห่อศพ เตรียมเส้นทางเคลื่อนพระศพ สถานที่ถวายพระเพลิง ณ มงกุฎพันธเจดีย์และจัดให้มีมหรสพบูชา ในวันที่ 7 มีการเคลื่อนพระบรมศพ นางมัลลิกาสวมมหาลดาปสาธน์ให้พระบรมศพ กษัตริย์มัลละจะถวายพระเพลิงแต่ไม่สำเร็จ พระกัสสปเถระยังไม่ทราบข่าวปรินิพพาน เห็นอาชีวกถือดอกมณฑารพในมือจึงทราบข่าว เมื่อพระกัสสปเถระมาถึงและถวายบังคมพระบาทพระองค์แล้วเปลวไฟจึงลุกติดเองไหม้อยู่ 7 วัน จนเหลือผ้าคู่หนึ่งและพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่าง ๆ กษัตริย์แห่งมัลละฉลองสมโภช 7 วัน พระเจ้าอชาตศัตรูส่งราชทูตและกองทหารไปขอพระบรมธาตุเช่นเดียวกับกษัตริย์จากนครต่าง ๆ รวม 7 เมือง โทณพราหมณ์จึงอาสาเป็นผู้ระงับเหตุการณ์โดยอาสาแบ่งพระบรมธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน แต่ตนเองกลับซุกซ่อนพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาไว้ที่มวยผม พระอินทร์จึงลอบหยิบพระเขี้ยวแก้วนั้นอัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งบรรจุพระเกศาของพระพุทธองค์ครั้งทรงผนวช อย่างไรก็ดียังมีพระธาตุส่วนต่าง ๆ อยู่ในมือเทพยดา พรหม และนาค

ปริจเฉทที่ 28 มารพันธปริวรรต พระกัสสปะอัญเชิญพระบรมธาตุต่าง ๆ จากกษัตริย์แคว้นต่าง ๆ และจากนาคพิภพ มาประดิษฐานไว้ในเจดีย์ เมื่อพุทธศาสนาล่วงเลยมา 218 ปี จนถึงรัชสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราชแห่งชมพูทวีป มีกรุงปาตลีบุตรเป็นราชธานี ทรงมีศรัทธารับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ทั่วชมพูทวีป 8 หมื่น กว่าแห่ง ทรงกำหนดวันสมโภชพระบรมธาตุแต่เกรงว่าจะไม่ราบรื่นจึงเชิญให้พระอุปคุตมาช่วยคุ้มครองงานสมโภช พระอุปคุตใช้ฤทธิ์เข้าต่อสู้กับพระยามารโดยนำซากหมาเน่าผูกไว้ที่คอและผูกพระยามารไว้ที่ภูเขา พระยามารยอมแพ้ พระเถระจึงแก้มัดพระยามารแล้วขอร้องให้เนรมิตกายเป็นพระพุทธองค์ให้ดูเพราะตนเกิดไม่ทันเห็น พระยามารจึงเนรมิตกายได้สง่างามสมดังตำราจนพระเถระและประชาชนต่างก้มถวายบังคมโดยทั่วกัน

ปริจเฉทที่ 29 ธาตุอันตรธานปริวรรต กล่าวถึงการเสื่อมสูญของพุทธศาสนาอันเกิดจากสาเหตุ 5 ประการ คือ 1) ภิกษุทั้งหลายขัดสนด้วยจตุปัจจัย พระไตรปิฎกไม่มีใครเรียนรู้ 2) ภิกษุเกิดความเหนื่อยหน่ายที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ 3) เมื่อการปฏิบัติเสื่อมลงจะไม่มีผู้ใดบรรลุโสดาบัน 4) เมื่อภิกษุเสื่อมสูญมารยาท ผู้คนสิ้นความเลื่อมใสต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น และ 5) เมื่อความศรัทธาเสื่อมถอยไปหมดไม่มีใครบูชาพระธาตุที่ประดิษฐานในสถูปเจดีย์ต่าง ๆ

เอกสารอ้างอิง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. (2539). พระปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: อำนวยสาส์น.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต