ฎีกาพาหุง
ฎีกาพาหุง หรือ พุทธชัยมงคลคาถา หรือ บทสวดพาหุงมหากา เป็นชื่อพระคาถาในพระพุทธศาสนา มีความยาวแปดบท ใช้สวดสรรเสริญชัยชนะแปดประการที่พระสมณโคดมทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยธรรมานุภาพ มีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า ผู้ประพันธ์คาถานี้ คือ พระมหาพุทธสิริเถระ ซึ่งรจนาคัมภีร์ฎีกาพาหุง ในราว พ.ศ. 2006 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งการมีอยู่ของคัมภีร์ฎีกาพาหุง ทำให้สามารถอนุมานได้ว่า พระคาถานี้น่าจะแต่งขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 2100 ทั้งนี้ บางกระแสระบุว่า คาถานี้ชื่อว่า “บทถวายพรพระ” เพราะแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดินชนะศึก ในบทสวดมนต์ฉบับวัดบางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จัดหมวดพาหุง (แป่ยฮึง) ไว้ในบทสวดชุดเดียวกับบทสวดถวายพรพระทั้งอิติปิ โส (อิต๊อยป๊อยซาว) และมะหาการุณิโก (แมะฮาการุ่น๊อยกาว) ชัยชนะที่เป็นมงคลของพระพุทธองค์จำนวน 8 ครั้งนี้ หากศึกษาพุทธประวัติจะพบว่าพระพุทธองค์ทรงชนะมารมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนแต่ชัยชนะครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ที่นักปราชญ์ส่วนใหญ่ท่านถือเอาชัยชนะครั้งสำคัญ 8 ครั้ง ที่กล่าวไว้ในคาถาพาหุง 8 คาถา ซึ่งเป็นพุทธชัยมงคลคาถาว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ของพุทธองค์ คาถาเหล่านั้นกล่าวสรรเสริญพุทธานุภาพและอ้างเอาพระพุทธานุภาพนั้นขอความสุขความเจริญและชัยมงคลให้แก่ตน พาหุง 8 บท เป็นคาถาที่พระสงฆ์ใช้สวดในพิธีมงคลต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของพิธีและผู้ที่มาร่วมในพิธีนั้น นิยมเรียกกันว่า ถวายพรพระ ซึ่งความจริงเป็นการให้พรของท่านมากกว่า โดยอ้างเอาชัยชนะของพระพุทธเจ้า 8 ครั้ง เป็นที่ตั้งว่าด้วยอำนาจแห่งพระเดชานุภาพแห่งชัยมงคลขอความสวัสดีจงมีแก่ผู้มาในมงคลพิธีนั้น ชัยชนะของพระพุทธเจ้า 8 ครั้งที่สำคัญ ได้แก่ |
ครั้งที่ 1 เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร ผู้เนรมิตแขนได้ตั้ง 1,000 มีอาวุธครบมือ ขี่คชสารคีรีเมขล์พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึกแต่ต้องพ่ายแพ้ต่อทานบารมีของพระองค์ เนื้อหาโดยย่อ พระยามารตรัสเรียกพระธิดาทั้งสาม ได้แก่ นางตัณหา นางราคะ และนางอรดี ให้รีบไปทำลายล้างพระพุทธองค์โดยไปทีละนางแต่ก็มิอาจล่อลวงพระทัยของพระองค์ได้ จึงกลายร่างแก่เฒ่าชรา เกศาหงอก ฟันหัก แก้มตอบ ร้อนกระสับกระส่าย กลับไปหาพระยามาร พระยามารจึงพิจารณาว่าจะรบด้วยอุบายไหน ถ้าอุบายนั้นไม่ได้ก็จะขีดแผ่นดินลงในที่หนึ่ง จนขีดแผ่นดินได้มากกว่าร้อย พระยามารบังเกิดความโกรธกริ้ว จึงมีโองการเรียกเหล่าเสนามารทั้งหลายให้ไปกำจัดพระสมณโคดม จากนั้นเนื้อเรื่องจะดำเนินไปเช่นเดียวกับพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย (ปริจเฉทที่ 9 มารวิชัยปริวรรต) (ฎีกาพาหุง เมื่อพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร วัดแก้วตะเคียนทอง) |
ครั้งที่ 2 เมื่อพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทนมีฤทธิ์มากกว่าพระยามารเข้ามาต่อสู้จนตลอดรุ่ง พระพุทธองค์ทรงทรมานยักษ์โดยใช้พระขันติธรรม เรื่องมีว่าพระเจ้าอาฬวีราชแห่งอาฬวีนครเสด็จประพาสไล่ตามกวางทองที่พระอินทร์แปลงร่างมา ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นไทรใหญ่ดูร่มรื่นต้นหนึ่งจึงเข้าไปอาศัยใต้ร่มไทรต้นนั้นซึ่งเป็นต้นไทรที่อาฬวกยักษ์รักษาดูแลอยู่ อาฬวกยักษ์จึงเปล่งเสียงออกมาว่าท่านจะต้องเป็นภักษาหารแก่อาฬาวกยักษ์ตามที่พระอิศวรเคยตรัสไว้กับอาฬวกยักษ์ พระเจ้าอาฬวีราชทรงปรารถนาที่จะส่งส่วยให้นักโทษมาเป็นภักษาหารแทนพระองค์ เมื่อนักโทษหมดเรือนจำจึงจับกุมารน้อยส่งให้แทนจนในที่สุดไม่เหลือกุมารน้อยแล้วจำเป็นที่จะต้องส่งอาฬวีราชกุมารไป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาในเพลาใกล้รุ่งแล้วว่า อาฬวีราชกุมารจะเป็นพระอนาคามิในภายหน้า จึงเสด็จไปทรมานอาฬวกยักษ์ โดยมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ คันธัพยักษ์ ผู้เฝ้าประตูวิมานแห่งอาฬวกยักษ์ทูลเชิญพระองค์เข้ามาประทับในวิมานนี้ เหล่าบรรดาสนมของอาฬวกยักษ์เข้ามาน้อมนมัสการพระองค์ สาตาคิริยักษ์และเหมวตายักษ์เข้าไปถวายนมัสการพระองค์เช่นกัน ทำให้อาฬวกยักษ์โกรธมาก บันดาลห่าฝนกรวดทรายก้อนศิลาและห่าฝนถ่านเพลิงพร้อมเถ้าตกใส่พระวรกายของพระองค์ รวมทั้งขว้างผ้าโพกเศียรที่สามารถทำลายภูเขาลูกใหญ่เฉกเช่นเขาพระสุเมรุได้ แต่ก็ได้กลายเป็นเครื่องสักการะบูชาตกใส่แทน พระองค์จึงทรงเทศนาสั่งสอนโปรดอาฬวกยักษ์และทรงเอาชนะได้ในที่สุด (ฎีกาพาหุง เมื่อพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ วัดปราสาททอง) |
ครั้งที่ 3 ทรงชนะช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคิรีเป็นช้างตกมันที่มีความทารุณประดุจเพลิงป่าจักรวุฒิและสายฟ้าด้วยวิธีลดลงด้วยน้ำโดยใช้พระเมตตา กล่าวคือ พระเทวทัตยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูรับสั่งนายควาญช้างเอาสุรา 16 กระออม กรอกช้างนาฬาคิรีจนคุ้มคลั่งวิ่งเข้าทำลายล้างไปทั่วเมือง จนสตรีอุ้มลูกอ่อนนางหนึ่งถึงกับทิ้งลูกวิ่งหนีไป ด้วยเดชานุภาพของพระพุทธองค์ทำให้ช้างนาฬาคิรีหมอบลงแทบพระยุคลบาท |
ครั้งที่ 4 พระพุทธองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ชนะโจรชื่อองคุลีมาล ผู้โหดร้ายด้วยฤทธานุภาพ องคุลีมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ ขณะคลอดจากครรภ์มารดา เครื่องศาสตราวุธที่มีอยู่ในเรือนนั้นบังเกิดรุ่งเรืองเป็นมหัศจรรย์ เมื่อเติบใหญ่บิดาส่งไปเรียนสำนักแห่งทิศาปาโมกข์ ด้วยความฉลาดว่องไวทำให้เป็นที่อิจฉาจึงมีคนหาทางกำจัด ทิศาปาโมกข์ออกอุบายให้อหิงสกะกุมารตัดแขนคนให้ได้ 1,000 และจะนำมาประกอบศิลปศาสตร์ให้ องคุลีมาลอยากได้ศิลปศาสตร์จึงออกฆ่าคน จนเป็นที่เกรงกลัวไปทั่ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบข่าว ทรงมีญาณหยั่งรู้ว่าองคุลีมาลนั้นเป็นผู้มีปัญญาจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาจึงไปพบองคุลีมาลและแสดงปาฏิหาริย์บังเกิดแม่น้ำใหญ่ประกอบด้วยคลื่นขวางหน้าองค์คุลีมาน ทำให้องคุลีมาลไม่สามารถตามได้ทัน ท้ายที่สุดองคุลีมาลขอบรรพชา (ฎีกาพาหุง เมื่อพระพุทธองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ชนะโจรองคุลีมาล หอฉัน วัดลาดหอย) |
ครั้งที่ 5 ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ซึ่งแกล้งทำเป็นว่ามีครรภ์กับพระองค์โดยใช้ท่อนไม้ปลอม พระพุทธองค์ทรงใช้ทำสมาธิระงับพระทัยเอาชนะได้อย่างงดงาม นางจิญจมาณวิกาเป็นสาวงามที่ถูกพวกเดียรถีย์ว่าจ้างให้ทำอุบายว่าท้องว่าตั้งครรภ์กับพระพุทธองค์ และกล่าวถ้อยคำหยาบช้ากล่าวหาพระพุทธองค์ แต่พระอินทร์ทราบความจึงเรียกเทวบุตรทั้งสี่บัญชาให้เนรมิตเป็นหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ที่อุทรของนางจิญจมาณวิกาให้ขาดความจึงแตก มหาชนทั้งปวงจึงเกิดความโกรธ ถ่มน้ำลายรดศีรษะนาง บริภาษนางต่าง ๆ นานา ไล่ทุบตีนางจนออกจากพระเชตวัน ต่อมานางถูกธรณีสูบ |
ครั้งที่ 6 ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์ผู้ที่ละทิ้งความสัตย์ มีใจยกถ้อยคำตนเองให้สูงส่ง ทรงเอาชนะด้วยเทศนาญาณตรัสเทศนาด้วยปัญญาธรรม ที่เมืองเวสาลีมีนิครนถ์ชาย 1 หญิง 1 ต่างเล่าเรียนวาทะ 500 ตอบโต้กันด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยมไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ กษัตริย์ลิจฉวีจึงอัญเชิญมาเป็นอาจารย์ของพระกุมาร ต่อมานิครนถ์ทั้งสองแต่งงานกันมีบุตรชาย 1 คน หญิง 4 คน ภายหลังหญิงทั้งสี่โต้วาทะพ่ายแพ้แก่พระสารีบุตรและขอบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา ส่วนบุตรชายชื่อสัจจกนิครนถ์มีปัญญาเฉียบแหลมกว่าพี่สาวทั้งสี่ ต่อมาได้โต้วาทะและพ่ายแพ้ให้กับพระพุทธองค์ |
ครั้งที่ 7 ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ ผู้หลงผิดฤทธิ์มากโดยทรงประทานอนุญาตให้พระโมคคัลลานะแสดงปาฏิหาริย์เนรมิตกายเป็นนาคราชไปปราบ ในสมัยพุทธกาลขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐีอาราธนาพระพุทธองค์และพระสงฆ์อีก 500 องค์รับอาหารบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงหยั่งเห็นพระยานาคนันโทปนันทะว่าเป็นที่ผู้หยั่งรู้ธรรมได้ พระพุทธองค์ตรัสเรียกพระอานนท์และเหล่าพระสงฆ์เสด็จโดยเหาะขึ้นไปในดาวดึงส์เทวโลก พระยานาคนันโทปนันทะเห็นพระพุทธองค์และสาวกเสด็จข้ามวิมานของตนเองจึงโกรธเนรมิตกายของตนให้ใหญ่โตขนดรอบเขาพระสุเมรุขวางทางพระพุทธองค์ พระอานนท์จึงทูลขอพุทธานุญาตปราบด้วยการเนรมิตตนเองให้ยิ่งใหญ่กว่า (ฎีกาพาหุง เมื่อพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ) |
ครั้งที่ 8 พระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม ผู้ซึ่งมีมิจฉาทิฐิเห็นผิดว่านิพพานนั้นไม่มีสำคัญตนเองว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีฤทธิ์เดชเหนือพระองค์ พระพุทธองค์ทรงปราบโดยวิธีตรัสเทศนาญาณ ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงมีญาณหยั่งรู้เห็นท้าวพกาพรหมเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิหลงตนว่าเกิดก่อน ผู้ใดโต้วาทะอวดอ้างว่ามีฤทธานุภาพสามารถเนรมิตกายไม่ให้คนอื่นมองเห็นได้ แต่พระพุทธทรงมองเห็นและแสดงธรรมจนลดมิจฉาทิฐิยอมแพ้ในที่สุด (ฎีกาพาหุง เมื่อพระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม) |
จิตรกรรมฎีกาพาหุงมีปรากฏมาแล้วตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีการเขียนแทรกไว้ในพุทธประวัติเกือบครบทุกตอนยกเว้นชัยชนะที่มีต่อท้าวพระพรหมเท่านั้น สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ผนังมุขหลังพระวิหารทิศใต้ครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราว พ.ศ. 2378 แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีจิตรกรรมฝาผนังปรากฏเหลืออยู่แล้วแต่ถูกบันทึกไว้ในรูปของศิลาจารึกเป็นโคลงบอกการปฏิสังขรณ์ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2458 มีการสร้างประติมากรรมโลหะที่วัดทองนพคุณ ตำบลคลองสาน โดยแทรกภาพฎีกาพาหุงเข้าไปด้วยแต่ไม่มีตอนชัยชนะที่มีต่อนาคนันโทปนันทะไว้ในประติมากรรมชุดนี้ สันนิษฐานว่าศิลปกรรมที่ถ่ายทอดฎีกาพาหุงถูกสร้างอย่างต่อเนื่องโดยความเชื่อที่ลงตัวเป็นชุดชัยชนะครบ 8 ประการ ดังที่รับรู้กันในปัจจุบันน่าจะเกิดขึ้นสมัยหลังรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม ฎีกาพาหุงบางฉบับแบ่งชัยชนะของพระพุทธองค์ออกเป็น 9 ครั้ง เช่น ฉบับของ พระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) ผู้นิพนธ์หนังสือ ชนะแปดทิศพิชิต 8 สถานการณ์ เป็นการตีพิมพ์บทสวดโดยอธิบายศัพท์บาลีขยายเป็นร้อยแก้ว ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2470 ครั้งที่สอง พ.ศ. 2494 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงความแพร่หลายยาวนานของพาหุง 9 ครั้ง ได้แก่ มารวิชัย อาฬวกสูตร นาฬาคิรีสูตร อังคุลิมาลสูตร จิญจมาณวิกาวัตถุ สุนทรียวัตถุ สัจจกสูตร นันโทปนันทสูตร และพรหมนิมันตสูตร ในขณะที่ ฎีกาพาหุง ฉบับของสำนักพิมพ์ลูก ส. ธรรมภักดี แบ่งชัยชนะของพระพุทธองค์เป็น 9 ครั้ง เช่นเดียวกับฉบับของพระสารประเสริฐโดยมีชัยชนะครั้งพิเศษที่ต่างออกไป คือ ตอนทรงชนะนางสุนทรีปริพาชิกา จิตรกรรมฎีกาพาหุงในจังหวัดสุพรรณบุรีมีปรากฏทั้งหมด 4 วัด ได้แก่ วัดลาดหอย วัดชีปะขาว วัดแก้วตะเคียนทอง และวัดปราสาททอง มักถ่ายทอดชุดชัยชนะครบ 8 ครั้ง โดยตัดเรื่องชัยชนะที่มีต่อนางสุนทรีปริพาชิกาออกไปและเรียงลำดับกันโดยนำเสนอเนื้อหา 1 ชัยชนะต่อ 1 ภาพ มีรูปแบบการแสดงออกที่คล้ายกันในทุกวัด เช่น ชัยชนะครั้งที่ 5 ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกาซึ่งแกล้งทำเป็นว่ามีครรภ์กับพระองค์ ภาพวาดทุกวัดจะปรากฏภาพหญิงสาวยืนกล่าวถ้อยคำใส่ความพระพุทธองค์และมีหนูกัดเชือกจนครรภ์ปลอมหลุดลงมาต่อหน้าธารกำนัน |
เอกสารอ้างอิง
ชุลีบูล บุรณเวช. (2531). ฎีกาพาหุงกับศิลปกรรมไทย. ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 11(12), 27-49.
พระสารประเสริฐ (นาคะประทีป). (2556). ชนะแปดทิศพิชิตแปดสถานการณ์. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
ส.ธรรมภักดี, สำนักงาน. (ม.ป.ป.). ฎีกาพาหุงพระพุทธะพรชัยยะมงคลคาถาแสดงถึงพระพุทธองค์ทรงชนะสัตว์โลก. กรุงเทพฯ: ลูก ส. ธรรมภักดี.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |