MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

พระมาลัย

พระมาลัย คือ พระอรหันต์เถระองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เกิดที่โรหณชนบทในลังกาทวีป เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีความเมตตาจิตแรงกล้าเคยไปโปรดสัตว์ในนรกภูมิ สัตว์นรกได้ฝากความมาถึงญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์ พระมาลัยนำความนั้นมาแจ้งให้กับญาติพี่น้องทราบ พร้อมทั้งแนะนำให้ทำบุญให้ทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องของตนที่ทนทุกข์ทรมานในนรกให้พ้นจากทุก

วันหนึ่งพระมาลัยกำลังบิณฑบาต ชายยากจนเข็ญใจผู้หนึ่งซึ่งมีความศรัทธาในพระมาลัยได้เก็บดอกบัวในสระมาถวายพระมาลัย 8 ดอก และตั้งจิตปรารถนาให้พ้นจากความยากจนในภายหน้า เมื่อพระมาลัยรับดอกบัวจากบุรุษนั้นแล้วดำริถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่จะนำดอกบัวนั้นไปบูชา ในที่สุดได้ระลึกถึงพระเจดีย์จุฬามณีในดาวดึงส์สวรรค์ พระมาลัยจึงขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กระทำสักการะพระเจดีย์ในทิศทั้งแปดและสนทนากับพระอินทร์ถึงอานิสงส์แห่งการทำบุญเพื่อจะได้มาเกิดบนสวรรค์ ในครั้งนั้นพระมาลัยได้พบกับพระศรีอาริยเมตไตรยด้วย ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า เมื่อพระมาลัยกลับจากดาวดึงส์สวรรค์ จึงนำเรื่องในนรกและสวรรค์มาเทศน์ให้ประชาชนฟัง สั่งสอนให้คนกลัวบาป หมั่นทำบุญสุนทาน คนทั้งหลายก็ชวนกันสร้างบุญกุศลบริจาคทานด้วยใจศรัทธา เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วได้บังเกิดในภพอันสมควรแก่กุศลที่สร้างไว้ ส่วนชายยากจนเข็ญใจที่เคยถวายดอกบัว 8 ดอก เมื่อสิ้นชีพไปได้เกิดเป็นเทพองค์หนึ่งมีนามว่า อุบลเทวินทร์ ประทับในวิมานสวรรค์ชั้นดุสิต

ภาพพระมาลัยในจิตรกรรมไตรภูมิมักเขียนอยู่บริเวณส่วนยอดเขาพระสุเมรุแสดงฉากร่วมกับพระเจดีย์จุฬามณี โดยพระมาลัยนั่งสนทนาธรรมกับพระอินทร์ บริเวณท้องฟ้าจะเขียนภาพเหล่าเทวดาถือเครื่องสักการะบูชามานมัสการพระเจดีย์จุฬามณี

จิตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรีที่แสดงภาพพระมาลัย เช่น วัดแก้วตะเคียนทอง วัดมะนาว วัดน้อย วัดสังโฆสิตาราม วัดไทรย์ การถ่ายทอดเนื้อหาพระมาลัยมักสัมพันธ์กับพระเจดีย์จุฬามณีอยู่เสมอ วัดที่มีการวาดภาพพระมาลัยและให้รายละเอียดมากที่สุด คือ วัดแก้วตะเคียนทองโดยเขียนภาพเล่าถึงกรรมจากการทำชั่วและการถูกลงโทษในนรกด้วยวิธีการต่าง ๆ  
 
 (พระมาลัย ศาลาการเปรียญ วัดแก้วตะเคียนทอง)
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต