MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

ทศชาติชาดก

ทศชาติชาดกเป็นชาดกสำคัญ 10 เรื่อง สุดท้ายของชาดก 547 เรื่อง ที่มีอยู่ในลังกา หรือจำนวนที่มากกว่าเล็กน้อย 550 เรื่อง มีที่มาจากพม่า เรียกว่า ปัญญาสชาดก เนื้อหาสำคัญของทศชาติชาดกเป็นการบำเพ็ญ 10 บารมีในอดีตชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าศากยมุนีเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องในงานจิตรกรรมไทย “ทศชาติชาดก” ได้รับการเขียนอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยาประกอบไปด้วยชาดก 10 เรื่อง ได้แก่ เตมิยชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พรหมนารทชาดก วิธุรชาดก และพระเวสสันดรชาดก ชาดกแต่ละเรื่องมีจุดมุ่งหมายในการสั่งสอนให้ทำความดีในด้านต่างๆ เช่น เตมิยชาดก สอนให้รู้จักบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หมายถึงการละทิ้งจากกามคุณ มหาชนกชาดก สอนให้รู้จักมีความวิริยะอุตสาหะ สุวรรณสามชาดก กล่าวการบำเพ็ญเมตตาบารมี เป็นต้น

จิตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรีที่ถ่ายทอดเนื้อหาทศชาติชาดกและเวสสันดรชาดกจากการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลาและคณะ เมื่อ พ.ศ. 2529 มีจำนวน 9 วัด ได้แก่ วัดลาดหอย วัดชีปะขาว วัดแก้วตะเคียนทอง วัดสังโฆสิตาราม วัดหน่อพุทธางกูร วัดปราสาททอง วัดปู่บัว และวัดแก้วทับตีเหล็ก โดยวัดชีปะขาวและวัดแก้วทับตีเหล็ก อำเภอศรีประจันต์ ปรากฏเฉพาะเวสสันดรชาดกโดยไม่มีทศชาติชาดก อนึ่งจิตรกรรมที่เป็นต้นแบบในการศึกษาภาพทศชาติชาดกตามแบบประเพณีนิยมได้ดีที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรีคือ วัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งกำหนดอายุในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าเป็นทศชาติ ชาดกรุ่นใหม่ที่มีอายุราว พ.ศ. 2500-2513 คือ พระอุโบสถวัดแก้วตะเคียนทอง และพระอุโบสถเก่าที่วัดสังโฆสิตาราม

(ทศชาติชาดก พระอุโบสถ วัดแก้วตะเคียนทอง)


(ส่วนหนึ่งของทศชาติชาดก พระอุโบสถเก่า วัดสังโฆสิตาราม)
คณะผู้วิจัยขออธิบายเนื้อหาชาดกแต่ละเรื่องที่มักถูกถ่ายทอดเป็นภาพวาดโดยยกตัวอย่างจิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนี้
เตมิยชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์กุมาร โอรสของพระเจ้ากาสิกราช พระเตมีย์ทรงเกรงการครองราชย์เพราะสลดพระทัยที่เห็นพระชนกลงโทษโจรด้วยวิธีทารุณ ทรงเห็นว่าเป็นบาปเป็นหนทางไปสู่นรกจึงทรงแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก แม้จะถูกทดลองต่าง ๆ เช่น นำช้างตกมัน กองไฟ งู ฯลฯ มาหลอก ก็ทรงอดกลั้นไว้ไม่แสดงอาการใด ๆ เป็นเวลา 16 ปี พระราชาจึงโปรดให้นำพระองค์ไปฝังนอกเมือง ขณะที่สุนันท์สารถีกำลังขุดหลุม พระเตมีย์ทรงทดลองกำลังด้วยการยกราชรถขึ้นกวัดแกว่งด้วยพระหัตถ์ข้างเดียว พระอินทร์ทรงเห็นถึงความประสงค์จึงทรงประทานเครื่องทิพย์มาประดับให้งดงามราวกับพระอินทร์ พระเตมีย์ทรงแสดงธรรมให้กับสุนันท์สารถีและให้กลับไปทูลความแก่พระชนก ส่วนพระองค์ออกบรรพชา เมื่อพระชนก พระชนนี และอำมาตย์ราชบุรุษทั้งหลายมาเฝ้าและสดับธรรมของพระเตมีย์จึงพากันออกบรรพชา

จิตรกรรม สุพรรณบุรีที่วาดภาพเตมิยชาดกมักถ่ายทอดฉากสุนันท์สารถีกำลังขุดหลุม โดยมีพระเตมีย์กำลังยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง ตัวอย่างเช่นศาลาการเปรียญ วัดลาดหอย

(พระเตมียชาดก ศาลาการเปรียญ วัดลาดหอย)
มหาชนกชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก โอรสพระเจ้าอริฏฐชนกผู้ครองเมืองมิถิลาผู้ซึ่งถูกพระเจ้าโปลชนกพระอนุชายกกองทัพมาแย่งราชสมบัติและประหารพระเจ้าอริฏฐชนก พระราชเทวีของพระเจ้าอริฏฐชนกทรงตั้งครรภ์แต่เสด็จหนีไปเมืองอื่นต่อมาทรงประสูติ เมื่อพระมหาชนกเจริญวัยและรับรู้เรื่องพระบิดาจึงขอเดินทางไปค้าขายที่เมืองมิถิลา ขณะอยู่ในเรือสำเภาเกิดพายุใหญ่พัดเรือแตกกลางมหาสมุทร ทรงว่ายน้ำอยู่ 7 วัน จนนางมณีเมขลาเห็นความอุตสาหะจึงช้อนร่างพระองค์เหาะไปส่งเมืองมิถิลา เวลานั้นพระเจ้าโปลชนกสวรรคต ทรงมีพระธิดาองค์เดียวชื่อสีวลีเทวี ปุโรหิตจึงปล่อยราชรถเสี่ยงทายหาผู้มีบุญญาธิการมาครองราชย์ ราชรถมาเกยที่พระมหาชนก  บรรทมอยู่และได้ครองราชย์สมบัติเพียง 4 เดือนและทรงสละราชสมบัติออกบรรพชา
สุวรรณสามชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมฤๅษีชื่อสุวรรณสาม มีบิดามารดาเป็นดาบสผู้รักษาศีล พระอินทร์จึงประทานพระโพธิสัตว์มาจุติเพื่อปรนนิบัติ วันหนึ่งดาบสทั้งสองออกไปหาผลไม้ในป่าโดนงูพิษต้องจักษุจนบอด สุวรรณสามได้ดูแลบิดามารดาเป็นอย่างดี วันหนึ่งขณะออกไปตักน้ำพร้อมด้วยฝูงเนื้อเดินห้อมล้อม พระราชากปิลยักข์แห่งกรุงพาราณสีเข้าใจผิดจึงแผลงศรพิษต้องสุวรรณสามตาย ทุกูลดาบสผู้เป็นบิดาจึงให้พระราชากปิลยักข์จูงไปหาสุวรรณสาม ดาบสทั้งสองต่างพรรณนาความดีของสุวรรณสามจนเทพธิดาสุนธรีผู้เคยเป็นมารดาของสุวรรณสามได้ทำสัจกิริยาร่วมกันอธิษฐานกับดาบสทั้งสองและพระราชากปิลยักข์ สุวรรณสามจึงฟื้นคืนชีพและแสดงพระธรรมแก่พระราชากปิลยักข์ พระราชาน้อมรับโอวาท เมื่อเสด็จคืนสู่นครทรงบำเพ็ญมหาทานและครองราชย์สมบัติโดยธรรม

จิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรีที่วาดภาพสุวรรณสามชาดก มักถ่ายทอดฉากพระสุวรรณสามต้องศรพระราชากปิลยักข์ขณะไปตักน้ำมาปรนนิบัติบิดามารดาอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น วัดหน่อพุทธางกูร

(สุวรรณสามชาดก วัดหน่อพุทธางกูร)
เนมิราชชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราชครองเมืองมิถิลา ทรงโปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ ทรงสั่งสอนให้ข้าราชบริพารและประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรม เหล่าเทวดาทูลขอให้พระอินทร์อัญเชิญพระเนมิราชประทับบนสวรรค์เพื่อฟังธรรมจากพระองค์ พระอินทร์จึงส่งเวชยันราชรถและมาตุลีเทพบุตรสารถีมารับพระองค์ไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเนมิราชทรงรับการเชิญและโปรดให้มาตุลีเทพบุตรพาพระองค์ไปยังนรกภูมิเพื่อทอดพระเนตรแดนคนบาป ทรงเห็นสัตว์นรกที่ถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ เพราะบาปกรรมที่ทำไว้ เช่น ฆ่าสัตว์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายบิดามารดา ฯลฯ จากนั้นทรงทอดพระเนตรสวรรค์ซึ่งเป็นภูมิแห่งผู้กระทำความดีด้วยบุญกุศลต่าง ๆ เช่น ทำบุญ ให้ทาน สร้างวัด เลี้ยงดูบิดามารดา ฯลฯ ทรงแสดงธรรมให้พระอินทร์และเหล่าเทวดา จากนั้นทรงลากลับเมืองมิถิลา ทรงสั่งสอนให้ทำความดีหลีกเลี่ยงความชั่ว ผู้คนทั้งหลายจึงพากันตั้งอยู่ในธรรม

จิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรีที่วาดภาพเนมิราชชาดก มักถ่ายทอดฉากภาพเนมิราชประทับนั่งบนราชรถโดยเหาะมีสุนันท์สารถพาไปชมนรกหรือสวรรค์
มโหสถชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระมโหสถ บุตรเศรษฐีแห่งเมืองมิถิลา เมื่อทรงคลอดจากครรภ์มารดามีแท่งโอสถทิพย์ในมือและใช้รักษาผู้คนให้หายป่วย เมื่อพระมโหสถเติบโตขึ้นมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจนได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตตั้งแต่อายุ 7 ปี และได้เป็นราชบัณฑิตของพระเจ้าวิเทหราช กษัตริย์เมืองมิถิลา ต่อมามีกษัตริย์จาก 101 นครเข้ารบกับเมืองมิถิลา นำโดยพระเจ้าจุลนีพรหมทัตซึ่งมีปุโรหิตชื่อเกวัฏพราหมณ์เป็นผู้ออกอุบายการรบแต่พระมโหสถทรงแก้ไขได้ทุกประการ เกวัฏพราหมณ์จึงท้าให้พระมโหสถทดลองปัญญาท่ามกลางที่ประชุมชน พระมโหสถนำแก้วมณีติดไปด้วย เกวัฏพราหมณ์เห็นจึงมีความอยากได้ พระมโหสถจึงออกอุบายทำแก้วมณีพลัดจากมือ เกวัฏพราหมณ์ก้มลงเก็บ พระมโหสถทำเป็นพยุงให้ลุกขึ้นและตะโกนให้ได้ยินกันทั่วว่าท่านเกวัฏพราหมณ์อย่ากราบไหว้ข้าพเจ้า กษัตริย์จาก 101 นคร จึงพากันตกใจยกทัพกลับนครของตน เกวัฏพราหมณ์แค้นจึงทูลให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตออกอุบายถวายพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชทรงเชื่อจึงเสด็จไปอภิเษกที่เมืองของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต พระมโหสถทูลทัดทานแต่ไม่สำเร็จจึงขอไปสร้างพระราชวังเตรียมไว้ล่วงหน้าและได้ขุดอุโมงค์อันวิจิตรใต้พระราชวังให้ทะลุออกนอกกำแพงเมือง เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบว่าเสียรู้ พระมโหสถจึงช่วยเหลือด้วยการทูลเชิญพระเจ้าวิเทหราชและพระธิดาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเข้าไปในอุโมงค์และทรงทำพิธีอภิเษกในอุโมงค์จากนั้นจึงเสด็จกลับเมืองมิถิลา
ภูริทัตชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยานาคชื่อพระภูริทัต ทรงตั้งพระทัยรักษาศีลบนจอมปลวกเพื่อสร้างหนทางไปสู่เทวโลก ต่อมาพรานเนสารทและบุตรชายออกจับพระภูริทัต พระภูริทัตจึงนำนายพรานและบุตรชายไปเมืองนาคและให้สมบัติเป็นอันมาก วันหนึ่งพราหมณ์อาลัมพายน์ได้มนต์จับนาคจากฤษีและเก็บแก้วมณีที่นางนาคทำตกไว้ได้ พรานเนสารทอยากได้แก้วมณีจึงแลกกับการบอกที่อยู่พระภูริทัต เมื่อพระภูริทัตทราบถึงความต้องการของพราหมณ์อาลัมพายน์จึงอธิษฐานว่าจะไม่โกรธแม้ถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ พราหมณ์อาลัมพายน์จึงจับพระภูริทัตทรมานและนำไปแสดงให้ชาวเมืองชมจนได้รับแก้วแหวนเงินทองมากมาย จากนั้นนำพระภูริทัตไปแสดงถวายพระเจ้ากรุงพาราณสีซึ่งเป็นพระมาตุละของพระภูริทัต พระยานาคสุทัศน์ผู้เป็นพี่ชายของพระภูริทัตจึงมาช่วยปราบพราหมณ์อาลัมพายน์และพาพระภูริทัตกลับคืนนาคพิภพ พระภูริทัตอยู่รักษาศีลตลอดชีวิตเมื่อสิ้นอายุขัยจึงได้ขึ้นสวรรค์

จิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรีที่วาดภาพภูริทัตชาดกทุกวัด มักถ่ายทอดฉากพราหมณ์อาลัมพายน์กำลังจับพระภูริทัตที่กำลังขดกายอยู่บนจอมปลวก ตัวอย่างเช่น จิตรกรรมวัดหน่อพุทธางกูร
จันทกุมารชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมารโอรสของพระเจ้าเอกราชซึ่งมีกัณฑหาลพราหมณ์เป็นราชปุโรหิต แต่กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนที่ไม่เที่ยงธรรมตัดสินความโดยรับสินบน พระจันทกุมารจึงช่วยตัดสินความด้วยความยุติธรรม ประชาชนจึงสรรเสริญจนพระเจ้าเอกราชให้พระจันทกุมารตัดสินคดีความแทน กัณฑหาล พราหมณ์จึงอาฆาต วันหนึ่งพระเจ้าเอกราชทรงพระสุบินเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และปรารถนาที่จะไปถึง กัณฑหาล พราหมณ์จึงออกอุบายกราบทูลให้พระเจ้าเอกราชบูชายัญด้วยหมวด 4 แห่ง บุคคลและสัตว์ เช่น พระราชบุตร พระมเหสี ช้างมงคล โคอสุภราช ฯลฯ พระเจ้าเอกราชหลงเชื่อจึงให้ตั้งพิธีบูชายัญ ร้อนถึงพระอินทร์เสด็จลงมาพร้อมด้วยค้อนเหล็กไฟทำลายพิธี กัณฑหาลพราหมณ์และพระเจ้าเอกราชจึงถูกประชาชนทำร้ายและเนรเทศออกจากเมืองและตั้งพระจันทกุมารเป็นพระราชา พระจันทกุมารทรงครองราชย์สมบัติด้วยความเที่ยงธรรมและปรนนิบัติพระบิดาที่ถูกเนรเทศออกนอกเมืองด้วยความกตัญญู เมื่อสิ้นพระชนม์จึงเสด็จสู่เทวโลก

จิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรีที่วาดภาพจันทกุมารชาดก มักถ่ายทอดฉากพระอินทร์นำค้อนไฟมาหักฉัตรที่ประกอบการทำพิธีบูชายัญ
พรหมนารทชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระพรหมนารท ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอังคติราชครองเมืองมิถิลาเป็นผู้ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระเจ้าอังคติราชได้ฟังคำสอนของคุณาชีวกนักบวชเปลือยกายและหลงผิดละเว้นราชกิจต่าง ๆ มุ่งเสวยสุขในกามคุณ พระนางรุจาราชกุมารีผู้เป็นพระธิดาทรงทูลทัดทานแต่ไม่สามารถทำให้พระชนกละมิจฉาทิฐิได้จึงอธิษฐานให้เทพมาโปรดพระบิดา พระพรหมนารทเสด็จมาช่วย ทรงแปลงเพศเป็นนักบวชนำภาชนะทองและคนโทน้ำแก้วประพาฬมาสู่ปราสาทของพระเจ้าอังคติราชและแสดงธรรมพร้อมกับชี้ให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของนรกขุมต่าง ๆ พระเจ้าอังคติราชจึงทรงละมิจฉาทิฐิ พระพรหมนารทจึงเสด็จกลับเทวโลก

จิตรกรรม สุพรรณบุรีที่วาดภาพพรหมนารทชาดก ถ้าเป็นจิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น วัดหน่อพุทธางกูร มักถ่ายทอดฉากพรหมนารทแบกสาแหรกมาสู่ปราสาทของพระเจ้าอังคติราชและพระนางรุจาเพื่อแสดงธรรม

(พรหมนารทชาดก วัดหน่อพุทธางกูร)

หากเป็นพรหมนารทชาดกรุ่นใหม่ พ.ศ. 2491-2513 เช่น พระอุโบสถเก่าวัดสังโฆสิตาราม วาดเป็นพรหมนารทในรูปฤษีนั่งแสดงธรรมให้แก่พระเจ้าอังคติราช

(พรหมนารทชาดก วัดสังโฆสิตาราม)
วิธุรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ชื่อวิธุระในราชสำนักของพระเจ้าธนนชัยโกรพวันหนึ่งพระอินทร์ พระยาครุฑ พระยานาค และพระเจ้าธนนชัยโกรพมารักษาศีลและได้ฟังธรรมจากพระวิธุระจึงเกิดความศรัทธาและสรรเสริญว่าเป็นผู้มีปัญญาอันยอดเยี่ยม นางวิมาลาซึ่งเป็นพระชายาของพระยานาคทราบข่าวจึงต้องการฟังธรรมของพระวิธุระและแสร้งทำอาการป่วยไข้อยากได้หัวใจของพระวิธุระ นางอริทันตีผู้เป็นธิดาจึงป่าวประกาศว่าหากผู้ใดนำหัวใจของพระวิธุระมาให้มารดาได้นางจะยอมเป็นภรรยา ปุณณกยักษ์จึงขออาสาและท้าเล่นสกากับพระเจ้าธนนชัยโกรพ เมื่อพระเจ้าธนนชัยโกรพทรงแพ้พนัน ปุณณกยักษ์จึงทูลขอพระวิธุระ พระองค์จำเป็นต้องยกให้ วิธุระได้ขอไปลาครอบครัวและให้ปุณณกยักษ์จับตัวไป ปุณณกยักษ์จับพระวิธุระทรมานนานัปการทั้งจับฟาดภูเขา ผลักลงเหว ฯลฯ แต่พระวิธุระมิได้หวาดหวั่นและแสดงธรรมแก่ปุณณกยักษ์จนได้สติรู้ถึงความผิดของตน พระวิธุระจึงให้ปุณณกยักษ์พาไปหานางวิมาลาและแสดงธรรมให้นางฟัง เมื่อฟังธรรมแล้วนางวิมาลาจึงกล่าวว่าปัญญานี้แหละคือหัวใจของบัณฑิตและมอบนางอริทันตีให้กับปุณณกยักษ์ รวมทั้งเชิญพระวิธุระคืนให้พระเจ้าธนนชัยโกรพ

จิตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรีที่วาดภาพวิธุรชาดก มักถ่ายทอดภาพปุณณกยักษ์จับพระวิธุระทรมานนานัปการทั้งจับฟาดภูเขา ตัวอย่างจิตรกรรมวัดหน่อพุทธางกูร

(วิธุรชาดก วัดหน่อพุทธางกูร)
เวสสันดรชาดก หรือ มหาชาติชาดก เป็นชาดกพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะจุติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนี เป็นเรื่องราวของการบำเพ็ญมหาทานอันยิ่งใหญ่ด้วยการบริจาคทรัพย์สิน พาหนะ ช้างม้า แม้แต่พระมเหสี โอรสและธิดาที่รักยิ่ง ผลของการบริจาคทานด้วยจิตบริสุทธิ์ทำให้พระองค์จุติอีกครั้งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื้อหาทั้งหมดมี 13 กัณฑ์ ได้แก่

1 กัณฑ์ทศพร พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ตัวอย่างจิตรกรรมวัดหน่อพุทธางกูร ฉากพระอินทร์ให้พรนางผุสดี 
 
(กัณฑ์ทศพร เวสสันดรชาดก วัดหน่อพุทธางกูร)
 
2 กัณฑ์หิมพานต์ พระเวสสันดรบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์ซึ่งเป็นช้างที่บันดาลให้ฝนตกทำให้ชาวเมืองเชตุดรไม่พอใจเนรเทศพระองค์ออกจากเมือง

3 ทานกัณฑ์ พระเวสสันดรออกบวชและเสด็จสู่เขาวงกตด้วยราชรถเทียมม้า ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขอม้า ขอราชรถ พระองค์ทรงประทานให้และพากันเข้าสู่เขาวงกตด้วยพระบาท ตัวอย่างจิตรกรรมศาลาการเปรียญวัดลาดหอย แสดงฉากพระเวสสันดรทรงประทานราชรถให้กับพราหมณ์ 
 
(ทานกัณฑ์ เวสสันดรชาดก ศาลาการเปรียญ วัดลาดหอย)
 
4 กัณฑ์วนประเวศน์ พระเวสสันดร พระนางมัทรี และกุมารทั้งสองเสด็จถึงแคว้นเจตราษฎร์ พระราชาทูลอัญเชิญให้ครองราชย์แต่ทรงปฏิเสธ พระราชาจึงให้พรานเจตบุตรเป็นผู้ดูแลทางเข้าป่ามิให้ผู้ใดรบกวน

5 กัณฑ์ชูชก พราหมณ์ชราชื่อชูชกหาเลี้ยงชีพด้วยการขอทานและนำเงินที่ได้ไปฝากเพื่อนพราหมณ์แต่เพื่อนพราหมณ์นำเงินไปใช้หมดจึงยกธิดาชื่อนางอมิตดาให้เป็นภรรยา นางอมิตดาปรนนิบัติชูชกอย่างดีจนบรรดาพราหมณ์อิจฉาและด่าทอว่ากล่าวภรรยาของตน นางพราหมณีพากันมาต่อว่านางอมิตดา นางอมิตดาจึงขอให้ชูชกนำสองกุมารมาเป็นทาสรับใช้

6 กัณฑ์จุลพน ชูชกเดินทางเข้าป่าพบสุนัขของพรานเจตบุตรไล่จนต้องหนีขึ้นต้นไม้แล้วออกอุบายลวงว่าเป็นคนของพระเจ้าสญชัยต้องการไปเฝ้าพระเวสสันดร

7 กัณฑ์มหาพน ชูชกเดินทางมาถึงอาศรมอัจจุตฤษีและออกอุบายว่าต้องการเฝ้าพระเวสสันดรเพื่อสนทนาธรรม อัจจุตฤษีหลงกลและบอกทางให้

8 กัณฑ์กุมาร ชูชกพบพระเวสสันดรและขอสองกุมารในขณะที่พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ในป่า เมื่อสองกุมารทราบจึงหลบหนีไปซ่อนในสระบัว พระเวสสันดรทรงพรรณนาคุณของทานบารมีให้พระกุมารฟัง สองกุมารคลานขึ้นจากสระ พระเวสสันดรทรงประทานสองกุมารให้

9 กัณฑ์มัทรี บารมีแห่งทานของพระเวสสันดรทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือนถึงพรหมโลก เทพทั้งหลายจึงแปลงกายเป็นสัตว์ร้ายขวางสกัดไม่ให้พระนางมัทรีมาทัน เมื่อพระนางกลับถึงอาศรมไม่พบสองกุมาจึงร่ำไห้ออกตามหาจนถึงแก่วิสัญญี ตัวอย่างจิตรกรรมศาลาการเปรียญวัดลาดหอย แสดงฉากเทพทั้งหลายแปลงกายเป็นสัตว์ร้ายขวางทางไม่ให้พระนางมัทรีมาทันสองกุมาร

(กัณฑ์มัทรี เวสสันดรชาดก ศาลาการเปรียญ วัดแก้วทับตีเหล็ก)
 
10 กัณฑ์สักกบรรพ พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์ชรามาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรทรงประทานให้ตามคำขอ พระอินทร์ถวายพระนางมัทรีคืนแก่พระเวสสันดร

11 กัณฑ์มหาราช ชูชกค้างคืนในเขาวงกตโดยมัดสองกุมารไว้ใต้ต้นไม้แต่ตนเองขึ้นไปนอนบนต้นไม้ เทวดาจึงแปลงกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีมาดูแลสองกุมาร เมื่อชูชกเดินทางถึงเมืองเชตุดร พระเจ้าสญชัยทรงไถ่ตัวสองกุมารและพระราชทานทรัพย์สมบัติรวมทั้งอาหารให้มากมาย   ชูชกบริโภคมากเกินพอดีจนท้องแตกตาย พระเจ้าสญชัยจัดขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง

12 กัณฑ์ฉกษัตริย์ กษัตริย์ทั้งหกเมื่อได้พบกันจึงเกิดความปลื้มปิติและวิสัญญีพร้อมกัน พระอินทร์ทรงบันดาลฝนโบกขรพรรษทำให้กษัตริย์ทั้งหกและข้าราชบริพารฟื้นขึ้นและทูลอัญเชิญกลับพระนคร

13 กัณฑ์นครกัณฑ์ กษัตริย์ทั้งหกเสด็จกลับพระนคร พระเวสสันดรทรงขึ้นครองราชย์ทรงปกครองด้วยความเมตตาและบริจาคทานแก่ผู้ทุกข์ยาก ตัวอย่างจิตรกรรมพระอุโบสถวัดปราสาททอง แสดงฉากขบวนเสด็จแห่กษัตริย์ทั้งหกกลับคืนพระนคร
 
(นครกัณฑ์ เวสสันดรชาดก พระอุโบสถ วัดปราสาททอง)
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต