MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดเดิมบาง

ที่ตั้ง
วัดเดิมบางตั้งอยู่เลขที่ 233 ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช ทิศตะวันออกเป็นโรงเรียนซึ่งติดถนนหมายเลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำท่าจีน
ประวัติ
วัดเดิมบาง .. ไม่ปรากฏประวัติแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง จากหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 21 ของกรมศาสนา กล่าวถึงวัดเดิมบางว่าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2431 ต่อมาใน พ.ศ. 2451 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสคลองมะขามเฒ่า ทรงประทับที่หน้าวัดเดิมบางและพระราชทานนามว่า “วัดคงคาราม” เสนาสนะสำคัญภายในวัด เช่น พระอุโบสถ กว้าง 16 เมตร ยาว 232 เมตร สร้าง พ.ศ. 2431 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญกว้าง 20.50 เมตร ยาว 49 เมตร สร้าง พ.ศ. 2525 หอสวดมนต์กว้าง 11 เมตร ยาว 22 เมตร สร้าง พ.ศ 2505 นอกจากนี้ยังมีหอระฆัง กุฎิสงฆ์ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ฯลฯ
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง






พระอุโบสถ .. เป็นอาคารแบบไทยประเพณีขนาด 6 ห้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีพาไลด้านหน้าก่อผนังเจาะช่องวงโค้ง 3 วง ตัวอาคารประดับเสาติดผนังมีบัวหัวเสาเป็นบัวแวง มีคันทวยรองรับชายคา ด้านข้างทำหน้าต่างข้างละ 3 บาน ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเขียนด้วยสีฝุ่นฝีมือช่างพื้นบ้าน เชื่อกันว่าเป็นฝีมือนายยา ซึ่งเป็นช่างท้องถิ่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมคงมีจิตรกรรมประดับอยู่ทั้งภายนอกและภายในอาคาร แต่ปัจจุบันหลงเหลือเฉพาะภายในอาคารเท่านั้น โครงสีโดยรวมเป็นสีวรรณะร้อน สีที่ใช้มากคือสีเหลืองและสีน้ำตาล รองลงมาคือ สีคราม สีเขียวขี้ม้า สีเทา สีดำ และสีขาว การเขียนต้นไม้ใช้วิธีการระบายสีพื้นและใช้สีที่เข้มกว่าระบายให้เกิดเป็นแสงเงารวมทั้งใช้เส้นสีดำขีดให้เป็นกิ่งก้านรวมทั้งนิยมแต่งแต้มดอกไม้มากเป็นพิเศษ การแบ่งฉากนิยมใช้กลุ่มสถาปัตยกรรมและแนวต้นไม้เป็นตัวแบ่ง การเขียนน้ำเลียนแบบเกล็ดปลาแต่ระบายสีไล่น้ำหนักแสงเงา ท้องฟ้าระบายสีฟ้าครามและแต้มก้อนเมฆม้วนไปมาเป็นกลุ่ม ๆ ลักษณะเด่นของภาพเขียนที่พระอุโบสถแห่งนี้คือ การเขียนอาคารที่มีสัดส่วนที่สูงและมียอดแหลมสูง รวมทั้งการทิ้งรอยพู่กันของช่างผู้วาดทั้งผนัง มีทั้งการตวัดไปมาและการขีดเส้นตรงแนวตั้งจนเกิดเป็นแสงเงา เนื้อหางานจิตรกรรมเริ่มจากฝั่งขวามือพระประธานเวียนทวนเข็มนาฬิกาไปยังทิศตะวันออก แผนผังงานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ
จิตรกรรมฝาผนัง
เริ่มที่ผนังด้านขวาของพระประธาน ทิศใต้ ด้านที่ติดกับพระประธาน



หมายเลข 1 : เป็นตอนพระนางสิริมหามายาประสูติพระสิทธัตถะกุมารใต้ต้นสาละ มีพระพรหมนำพานทองมารองรับ แวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา
หมายเลข 2 : พระสิทธัตถะกุมารประทับนั่งตรงกลางปราสาทและทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเสด็จขึ้นไปบนเศียรของกาฬเทวิลดาบส หมายถึงพุทธประวัติตอนทำนายพุทธลักษณะ พระสิทธัตถะกุมารประทับนั่งตรงกลางปราสาทและทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเสด็จขึ้นไปบนเศียรของกาฬเทวิลดาบส พุทธประวัติตอนทำนายพุทธลักษณะ
หมายเลข 3 : พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จพิธีแรกนาขวัญ มีแถวทหารแต่งกายแบบตะวันตกรายล้อม
หมายเลข 4 : เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานด้วยราชรถและทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ หนึ่งในนั้นคือ สมณะ
หมายเลข 5 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงร่ำลานางพิมพาเพื่อออกบรรพชา
หมายเลข 6 : เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระยาวัสวดีมารมาห้ามไม่ให้ออกบวช


หมายเลข 7 : ด้านล่างภาพเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา บนสุดของภาพ พระอินทร์มารับพระเมาลีไปประดิษฐานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หมายเลข 8 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาในสำนักอุทกดาบสและอาฬารดาบส


หมายเลข 9 : ปัญจวัคคีย์คอยปรนนิบัติพระสมณโคดม
หมายเลข 10 : ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พระอินทร์แสดงนิมิตโดยดีดพิณ 3 สาย


หมายเลข 11 : ด้านขวาและเห็นแนวกำแพงเมืองมีกษัตริย์ประทับภายในปราสาท อีกตำแหน่งหนึ่งมีกษัตริย์องค์หนึ่งพร้อมด้วยข้าราชบริพาร 2 คน ประทับนั่งสนทนากับพระพุทธองค์ น่าจะหมายถึงพระเจ้าพิมพิมสารตรัสเชิญพระองค์ไปครองเมืองราชคฤห์
หมายเลข 12 : นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส
หมายเลข 13 : พระพุทธองค์เสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชราทรงตั้งจิตอธิษฐานลอยถาดให้ทวนกระแสน้ำหากได้ตรัสรู้อนุตตรธรรม เบื้องหน้าแลเห็นวิมานพระยานาค
หมายเลข 14 : โสตถิยะพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้าคาแก่พระพุทธองค์ เหนือขึ้นไปเป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งบนบัลลังก์


หมายเลข 15 : คั่นภาพพระอดีตพุทธเจ้าและเทพชุมนุมด้วยลายหน้ากระดาน เทพชุมนุมปรากฏแต่พระพรหมประทับนั่งพนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน พื้นหลังเป็นสีครามอมเทา มีกลุ่มเมฆม้วนเป็นก้อนตัดเส้นด้วยสีดำ ด้านบนสุดของแถวเป็นลายผ้าม่ายห้อยคล้ายริบบิ้น
หมายเลข 16 : แถวพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วคั่นด้วยแจกันดอกบัวพื้นหลังเป็นสีน้ำตาล ด้านบนสุดของแถวเป็นลายผ้าม่ายห้อยคล้ายริบบิ้น
ผนังด้านตรงข้ามพระประธาน ทิศตะวันออก


หมายเลข 17 : ภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย สังเกตภาพบุคคลที่เป็นพลมารแสดงออกด้วยคนต่างชาติต่างภาษา น้ำที่ท่วมเหล่าพระยามารมีสัตว์น่าพรึงกลัวต่าง ๆ นานา เช่น ปลายักษ์ จระเข้ นอกจากนี้ยังมีมังกรอย่างจีนอีกด้วย
หมายเลข 18 : ธิดาพระยามารกำลังร่ายรำยั่วยวนพระพุทธองค์ การให้ความสำคัญกับฉากในตอนนี้มีความสัมพันธ์กับจิตรกรรมในภาคอีสาน (ผนังข้างบานประตูด้านขวาล่าง)
ผนังด้านซ้ายมือของพระประธาน ทิศเหนือ


หมายเลข 19 : เป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 สัปดาห์ สัปดาห์แรก ทรงประทับบนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นมหาโพธิเป็นเวลา 7 วัน สัปดาห์ที่ 2 ทรงประทับยืนลืมพระเนตรบูชาพระมหาโพธิ โดยมิได้กะพริบตา 7 วัน สัปดาห์ที่ 3 เสด็จจงกรม สัปดาห์ที่ 4 ทรงประทับนั่งสมาธิในเรือนแก้วที่เทวดาได้เนรมิตขึ้นมา
หมายเลข 20 : สัปดาห์ที่ 5 เสด็จไปประทับใต้ต้นอัชปาลนิโครธและทรงพบพราหมณ์หิหิกชาติ ด้านข้างมีภาพฝูงแพะ
หมายเลข 21 : สัปดาห์ที่ 6 เสด็จไปประทับใต้ต้นจิก มีพญานาคมุจลินทร์ขึ้นมาขดกายแผ่พังพานกั้นฝนและลมพายุมิให้ถูกพระองค์
หมายเลข 22 : สองพ่อค้าปุสสะและภัลลิกะนำสัตตูข้าวสัตตูผงมาถวาย


หมายเลข 23 : ด้านขวามีแนวกำแพงเมืองและปราสาทขนาดใหญ่ซึ่งมีกษัตริย์ประทับอยู่ภายใน ถัดลงมาที่ขอบผนังด้านล่างเป็นภาพเรือที่มีบุษบกประดิษฐานอยู่กลางลำเรือ ล้อมรอบด้วยทะเลที่มีเรือสำเภาแล่นอยู่เป็นระยะ ขนาดของเรือสำเภาช่วยผลักระยะใกล้-ไกลให้เกิดในภาพ มีเกาะ 2 เกาะที่มีสำเภาอัญเชิญบุษบกเข้าเทียบท่า เกาะที่อยู่ด้านบนมีพระยานาคขดกาย ซึ่งภาพนี้ หมายถึง สองพ่อค้าวานิชที่รับพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์ภายหลังถวายก้อนสัตตูข้าวสัตตูผง อัญเชิญพระเกศาธาตุออกเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองอุปลนคร ระหว่างทางผ่านเมืองอเชฏฐนครและพบพระยานาค


หมายเลข 24 : ด้านซ้ายล่างเป็นแนวกำแพงเมืองและปราสาทขนาดใหญ่มีกษัตริย์ประทับนั่ง กลางภาพเป็นขบวนแห่พระธาตุและพ่อค้าวานิชเข้าเมือง ตรงกลางเป็นภาพกษัตริย์ถอดเครื่องทรงบูชาพระธาตุ ด้านซ้ายบนเป็นภาพพระเจดีย์ 1 องค์ มีเทวดาและกลุ่มคนมาสักการะ มุมขวาบนเขียนภาพปูต่อสู้กับตะขาบ

สันนิษฐานว่าภาพหมายเลข 23 และหมายเลข 24 มาจากตำนานการสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นตำนานที่นิยมกันของกลุ่มชาวมอญจากเมืองหงสาวดี


หมายเลข 25 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในปราสาทมีพระอินทร์และพระพรหมรวมทั้งเหล่าเทวดามาทูลเชิญมาอาราธนาเชิญให้ทรงแสดงธรรม
หมายเลข 26 : พระพุทธองค์เสด็จยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันระหว่างทางพบอุปชีวก
หมายเลข 27 : พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์
หมายเลข 28 : ด้านบนของผนังเขียนภาพสายน้ำและมีศาลาเรียงรายต่อเนื่องกัน ศาลาด้านขวาสุดมีกลุ่มฤษีนั่งอยู่ ศาลาหลังกลาง พระพุทธองค์ประทับยืนปราบพระยานาค มีเหล่าชฎิลเฝ้าดู ศาลาหลังซ้าย พระพุทธองค์แสดงธรรมแก่เหล่าชฎิล ภายหลังชฎิลจึงถอดเครื่องบริขารของตนลอยน้ำและหันมานับถือพระพุทธศาสนา พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงปราบชฎิล


หมายเลข 29 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในปราสาท มีกษัตริย์นั่งเฝ้า มีเปรตหลายตนมาเกาะตามหลังคาปราสาท พุทธประวัติตอนทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตรัสเล่าบุพกรรมของพวกเปรต ทรงถวายมหาทานแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เปรตเพื่อพ้นจากความหิวกระหาย
ผนังสกัดด้านหลังพระประธาน ด้านทิศตะวันตก


หมายเลข 30 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในปราสาทท่ามกลางสาวกและชาวบ้านที่มาเฝ้าสักการะล้อมรอบด้วยป่า หมายถึงพุทธประวัติตอนพระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวันให้เป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
หมายเลข 31 : พระพุทธองค์ประทับนั่งศาลา มีเหล่าสาวกอยู่ด้านขวา ด้านซ้ายมีกลุ่มคนนั่งแวดล้อม คนหนึ่งสวมเครื่องทรงแบบชนชั้นสูง สันนิษฐานว่าหมายถึงพุทธประวัติตอนทรงเทศนาโปรดยสกุลบุตร
หมายเลข 32 : ตำแหน่งหลังพระประธาน เป็นเหตุการณ์ 3 ตอน คือ พระพุทธองค์เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเทศนาโปรดพุทธบิดา ต่อมาพระบิดาทรงสวรรคต ช่างวาดเป็นโลงพระศพในปราสาท ทางซ้ายเป็นตอนโปรดพระนางพิมพาและพระราหุล
หมายเลข 33 : แสดงภาพ 2 ฉาก ด้านบนสุดเป็นพระสงฆ์เหาะไปบนท้องฟ้าเพื่อไปนำบาตรลงมา อีกฉากหนึ่งคือพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์


หมายเลข 34 : พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หมายเลข 35 : พระพุทธเจ้าอาพาธบรรทมใต้ต้นรังคู่ มีพระอานนท์ใช้บาตรตักน้ำ หมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
หมายเลข 36 : พระมหากัสสปะเห็นอาชีวกถือดอกมณฑาทิพย์ผ่านมา ด้านขวาเป็นพระอานนท์แจ้งข่าวปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์ และฉากพระมหากัสสปะถวายบังคมพระบรมศพ

จากเทคนิคการเขียนภาพเล่าเรื่องยังคงเขียนเป็นกลุ่ม ๆ เชื่อมต่อกันในแต่ละผนังแบ่งฉากด้วยแนวต้นไม้และอาคารบ้านเรือน การเขียนภาพตัวละครสำคัญแบบนาฏลักษณ์ ภาพบุคคลและต้นไม้ยังไม่แสดงขนาดใหญ่-เล็กเพื่อช่วยผลักระยะหน้า-หลังแบบตะวันตกอย่างเด่นชัด ภาพต้นไม้ พื้นดิน อาคารบ้านเรือนเขียนเกือบจรดขอบบนของผนัง ไม่ปรากฏเส้นขอบฟ้า การวาดภาพคลื่นน้ำและก้อนเมฆในท้องฟ้าแบบไล่น้ำหนักแสงเงาเหมือนจริง ภาพเรือกลไฟ ธงช้าง ภาพสถาปัตยกรรมที่ผสมกับแบบตะวันตก รวมทั้งแถวทหารที่แต่งกายแบบตะวันตก กำหนดอายุจิตรกรรมได้ว่าอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เอกสารอ้างอิง

กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต