MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดชีปะขาว

ที่ตั้ง
วัดชีปะขาวเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า
ประวัติวัด
วัดชีปะขาว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2425 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ด้านหน้าวัดเป็นโรงเรียนวัดชีปะขาวซึ่งติดกับถนนเทศบาลตำบลตะค่า ด้านหลังติดแม่น้ำท่าจีน ภายในมีพระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2476 กว้าง 32 เมตร ยาว 58 เมตร มีหอสวดมนต์ และอาคารไม้ที่เป็นกุฏิสงฆ์
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
ศาลาการเปรียญหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีธรรมาสน์อยู่ด้านท้ายทางทิศตะวันตก มีงานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้ประดับที่คอสองและชายคา เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านที่มีอิทธิพลของช่างหลวง มีตัวอักษรเขียนไว้ที่ภาพว่าวาดใน พ.ศ. 2477 แต่จากการศึกษาเทคนิคการวาด เช่น การลงสีพื้น การตัดเส้น การเขียนตัวพระตัวนาง ฯลฯ แสดงฝีมือที่ต่างกันอย่างน้อย 3 สมัย

จิตรกรรมที่คอสองมีจำนวน 18 แผ่น ติดไว้ระหว่างช่วงเสาแต่ละแผ่นมีขนาดเท่า ๆ กัน จิตรกรรมที่ชายคามีทั้งที่เป็นจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้และภาพพิมพ์ในกรอบซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน จำนวน 21 แผ่น โดยรวมทั้งที่คอสองและชายคาเขียนเรื่องพุทธประวัติ ฎีกาพาหุง และเวสสันดรชาดก ในขณะที่เพดานแบ่งพื้นที่เป็น 7 ช่อง เขียนเรื่องตำราพรหมชาติ

โดยเริ่มจากคอสองเรียกว่าภาพชุด A ทางทิศใต้เวียนตามเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออก จากนั้นจะเรียกว่าภาพวาดที่ชายคาว่าภาพชุด B เริ่มจากชายคาด้านทิศใต้โดยเวียนทวนเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศตะวันตก จากนั้นจะกล่าวถึงภาพเขียนที่เพดานเรียกว่าภาพชุด C โดยเริ่มจากทิศตะวันตก (ที่มีธรรมมาสน์) ไล่ไปทางทิศตะวันออก ลำดับหมายเลขดังที่ปรากฏในแผนผัง
จิตรกรรมฝาผนัง
ภาพชุด A

บริเวณคอสองเป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าวางเรียงกัน 3 แผ่น ต่อมุมด้านล่างทั้งซ้ายและขวาเป็นรูปสามเหลี่ยมวาดรูปยักษ์ มาร ลิง นาค และลวดลายต่าง ๆ ประกอบ เทคนิคการวาดภาพบริเวณคอสองโดยรวมเป็นการวาดด้วยสีฝุ่นที่มีการรองพื้นบนแผ่นไม้ ลักษณะภาพโดยรวมเป็นแบบไทยประเพณี ฝีมือช่างพื้นบ้าน โครงสีโดยรวม คือ น้ำเงิน น้ำตาล และขาว มีการตัดเส้นรอบตัวภาพบุคคลด้วยสีดำ ภาพทิวทัศน์ที่เป็นฉากหลังระบายไล่น้ำหนักสีและมีเส้นขอบฟ้าปรากฏทุกภาพ บริเวณด้านล่างของภาพมีตัวอักษรระบุชื่อผู้ที่ออกเงินจ้างให้วาด พ.ศ.ที่วาด จำนวนเงิน และเนื้อหาภาพ คณะผู้วิจัยลำดับเนื้อหาภาพบริเวณคอสองตามลำดับหมายเลขและคัดเฉพาะตัวอักษรบรรยายภาพ ดังนี้

หมายเลข A1 : ธิดาพระยามารมาล่อลวงพระพุทธเจ้า หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร มีตัวอักษรใต้ภาพ “ลูกสาวพยามารมาล่อลวง”


หมายเลข A2 : กองทัพมารเข้าจู่โจมและพ่ายแพ้ต่อพระพุทธเจ้า หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร มีตัวอักษรใต้ภาพ “มารประจนพระพุทธเจ้า”

หมายเลข A3 : ด้านซ้ายมีกษัตริย์สองพระองค์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้านขวาเป็นฉากพระเจ้าอาฬวีราชแห่งอาฬวีนครไล่จับกวางทองและโดนอาฬวกะยักษ์จับตัวไว้หมายจะกินเป็นอาหาร หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระอาสวีใล่กวางทอง”

หมายเลข A4 : ด้านซ้ายเป็นสาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์มาฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า ด้านขวาพระพุทธเจ้าทรมานอาฬวกยักษ์ หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “เหมมะวะตา, สาตะยักมาไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรมานอารวะกะยักษ์”


หมายเลข A5 : ด้านซ้ายเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมจนอาฬวกยักษ์สำเร็จโสดาบันและอาฬวกยักษ์พาพระพุทธเจ้ามาเทศนาสั่งสอนผู้คนที่เมืองอาฬวี หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรมานอาราวกยักสำเหร็จโสดาปัตติผล แล้วพามาโปรดเมืองอารวิมหากระษัตร”

หมายเลข A6 : ด้านซ้ายเป็นฉากเมือง มีกลุ่มคนซ่อนตัว ด้านขวาเป็นช้างที่กำลังมุ่งหน้าไปหากลุ่มพระพุทธเจ้าและพระสาวก คือภายหลังพระเทวทัตกลิ้งหินให้ตกลงมาทับพระพุทธเจ้าแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นจึงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตั้งแต่เทวทัตกลิ้งหินให้ทับพระพุทธเจ้า ไม่ทับแล้วให้พยาอชาตศัตรูปล่อยช้างไห้แทง”

หมายเลข A7 : ภาพนายเนสาตพรานหาบสาแหรกนำหงส์เข้าไปเฝ้าเจ้าเมืองสาคลนคร มีตัวอักษรใต้ภาพ “นายเนสาตพรานพาหงส์เข้าไปเฝ้าเจ้าเมืองสาคลนคร” เป็นเนื้อหาตอนท้ายของฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี


คอสองทิศตะวันตก

หมายเลข A8
: เป็นภาพพระอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่องคุลีมาลไปเรียนวิชาแต่ต่อมาต้องการกำจัดองคุลีมาลจึงออกอุบายให้ไปฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาให้ครบหนึ่งพัน ด้านขวาเป็นฉากองคุลีมาลเดินออกไป ใต้ภาพมีตัวอักษร “เมื่อครูทิสาปาโมกได้ยิน…(ลบเลือน)… แล้วให้เจ้าอหิงสาไปฆ่าคน” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะโจรองคุลีมาล

หมายเลข A9 : ภาพค่อนข้างลบเลือน แต่ด้านขวาพอมองเห็นองคุลีมาลถือดาบชี้นิ้วไปที่พระพุทธเจ้าเพื่อหวังฆ่าและตัดนิ้ว มีตัวอักษรใต้ภาพ “องคุลีมานฆ่าพระพุทธเจ้า” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะโจรองคุลีมาล

คอสองทิศเหนือ

หมายเลข A10
: ด้านซ้ายพระอินทร์และเทวดานั่งพนมมือรอเฝ้าพระพุทธเจ้า ตรงกลางภาพเป็นนางจิญจมาณวิกานำท่อนไม้มาผูกท้องทำนองตั้งครรภ์เดินเข้ามาในศาลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมท่ามกลางประชาชนและกล่าวหาว่าพระพุทธองค์ทรงทำให้นางตั้งครรภ์ ตัวอักษรใต้ภาพ “ดิรัถถีให้นางจิระจะมานะวิกาเอาท่อนไม้ผูกท้องโตแล้วว่าท้องกะพระพุทธเจ้า” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา


หมายเลข A11 : ด้านหน้าเป็นรูปนักโทษถูกล่ามตรวนโดยมีตำรวจคุมตัวและมีกษัตริย์กำลังชำระความ ด้านบนเป็นพระพุทธองค์ประทับฟังความในศาลาพร้อมด้วยสาธุชน มีตัวอักษรใต้ภาพ  “ดิรัถถีจ้างขี้เล่าฆ่านางสุนทรีแล้วว่าพระพุทธเจ้าฆ่า” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา น่าสังเกตทหารในภาพแต่งกายแบบตะวันตก

หมายเลข A12 : กลางภาพเป็นพระสารีบุตรและพระสาวกนั่งในศาลากำลังโต้วาทะกับนางนิครนถ์ทั้งสี่ที่นั่งอยู่ด้านซ้าย มีตัวอักษรใต้ภาพ “นางนิคนทั้ง 4 มาแก้ปัญหากับพระษารีบุตร แพ้พระษารีบุตร” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์

หมายเลข A13 : ภาพค่อนข้างลบเลือน แต่พอมองเห็นนางนิครนถ์ทั้งสี่มาโกนหัวบวชในสำนักภิกษุณี มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระษารีบุตรเห็นนางนิคนทั้ง 4 มาบวชในสำนักนางภิกษุณี” หมายถึง ฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์

หมายเลข A14 : ภาพค่อนข้างลบเลือน พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรงกลาง ด้านขวาเป็นพระสงฆ์สาวก ด้านซ้ายเป็นมีสัจจกะนิครนถ์ (นักบวชในศาสนาเชน) โต้วาทะในป่ามหาวัน ใต้ภาพมีตัวอักษร “สัจจกะนิคนมาแก้ปัญหากับพระพุทธเจ้า แพ้พระพุทธเจ้า” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์

หมายเลข A15 : สัจจกะนิมนต์พระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนและประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “สัจจกะนิคนนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันทีอาของตน” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์

หมายเลข A16 : ด้านซ้ายเป็นพระโมคัลลานะปราบพระยานาคนันโทปะนันทะ ด้านบนขวาเป็นกลุ่มพระพุทธเจ้าพระสาวกเหาะลอยในอากาศ มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระพุทธเจ้าให้พระโมคัลลาทรมานนาคท่านเข้าไปในท้องนาค” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ


คอสองทิศตะวันออก

หมายเลข A17
: ด้านซ้ายเป็นรูปครุฑกำลังต่อสู้กับพระยานาคนันโทปะนันทะ ด้านบนขวาเป็นกลุ่มพระพุทธเจ้าพระสาวกเหาะลอยในอากาศ มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระโมคัลลาแปลงเป็นครุฑ…(ตัวอักษรเลือน)…พระยานาคนันโทปนันทะ” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ

หมายเลข A18 : ภาพค่อนข้างลบเลือน แต่พอมองเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งในปราสาทที่ลอยอยู่กลางท้องฟ้า ด้านซ้ายมีบุคคลนั่งพนมมือฟังพระธรรม มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระพุทธเจ้าเสด็จใปบลชั้นพรมทรมาณพระพรม” หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม

ทั้งนี้ การกำหนดอายุภาพเขียนชุด A เป็นไปตาม พ.ศ. ที่ปรากฏในภาพวาด คือ พ.ศ. 2477 เป็นสมัยเดียวกันกับที่สร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน

ภาพชุด B

บริเวณชายคาปรากฏภาพวาด 3 ด้าน โดยเริ่มจากด้านทิศใต้ เวียนไปทางทิศตะวันออกและจบภาพสุดท้ายที่ทิศเหนือ แต่ละภาพประกอบด้วยแผ่นไม้ 2 แผ่นประกบต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีขนาดยาวไม่เท่ากัน มีการรองสีบนพื้นไม้ก่อนที่จะระบายสีตัวภาพด้วยสีฝุ่น บางภาพยังคงแลเห็นตัวอักษรอธิบายเนื้อหาแทรกอยู่ บางภาพปรากฏรายชื่อผู้ที่ให้เงินสนับสนุนการเขียนภาพ ส่วนใหญ่จิตรกรรมค่อนข้างชำรุด สีหลุดร่อน ลักษณะภาพโดยรวมเป็นแบบไทยประเพณี ฝีมือประณีตแบบช่างหลวง โครงสีโดยรวม คือ น้ำตาลแดง เขียวขี้ม้า เหลือง ฟ้า ขาว และดำ มีการตัดเส้นรอบตัวภาพบุคคลและปราสาทราชวังด้วยสีดำหรือเข้ม ภาพทิวทัศน์ที่เป็นฉากหลังระบายไล่น้ำหนักสีและมีเส้นขอบฟ้าปรากฏทุกภาพ ยกเว้นภาพหมายเลข B13 และ B20-B22 เป็นภาพพิมพ์ด้วยกระดาษใส่กรอบ คณะผู้วิจัยลำดับภาพตามทิศที่เริ่มเรื่องและหมายเลข ดังนี้

ชายคาทิศใต้ เป็นพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก (เวียนทวนเข็มนาฬิกา)
หมายเลข B1 : ด้านขวาเป็นฉากพิธีอภิเษกสมรส ตรงกลางภาพเป็นตอนที่พระนางสิริมหามายาเสด็จไปยังกรุงเทวทหะ มีตัวอักษร “ออกจากเมือง” ด้านซ้ายเป็นพระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ประสูติพระพุทธองค์โดยมีพระอินทร์และพระพรหมมาคอยเฝ้า


หมายเลข B2 : กลางภาพเป็นพระมหาปราสาทด้านในเป็นตอนกาฬเทวิลดาบสพยากรณ์ว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและในปราสาทด้านซ้ายเจ้าชายสิทธัตถะทรงสำแดงศิลปศาสตร์ด้วยการยกคันธนู นอกกำแพงเมืองด้านขวาเป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ นอกกำแพงเมืองด้านซ้ายเป็นตอนพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จออกพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสดงปาฏิหาริย์บรรลุปฐมฌานขณะประทับใต้ร่มไม้หว้า


หมายเลข B3 : ผนังค่อนข้างลบเลือน เป็นพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ด้านขวาเป็นฉากพระมหาปราสาท พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเหล่านางกำนัลหลับนอนระเกะ ระกะ ทรงร่ำลาพระนางพิมพา ตรงกลางภาพเป็นตอนพระยามารยืนขวางห้ามไม่ให้ออกบวช ด้านซ้ายเป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเมาลีที่แม่น้ำอโนมา

หมายเลข B4 : เป็นพุทธประวัติก่อนตรัสรู้ ด้านขวาล่างเป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงศึกษาวิชากับพระดาบส จากนั้นจึงออกแสวงหาทางหลุดพ้นด้วยพระองค์เอง ด้านขวาบนปัญจวัคคีย์ทั้งห้ามาปรนนิบัติ ตอนทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอม กลางภาพด้านล่างเป็นพระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณสามสาย กลางภาพด้านบนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสและกลางภาพด้านล่างทรงอธิษฐานลอยถาด โสตถิยพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้าคา ทรงนำฟ่อนหญ้าคามาปูลาดเป็นอาสนะใต้ต้นโพธิ์ ด้านซ้ายสุดเป็นตอนธิดาพระยามารทั้ง 3 ร่ายร่ำยั่วยวนพระพุทธเจ้า

หมายเลข B5 : ด้านขวาเป็นพุทธประวัติตอนมารวิชัย ด้านซ้ายเป็นสัตตมหาสถาน จิตรกรรมค่อนข้างลบเลือน แต่พอมองเห็นกิจวัตรของพระพุทธเจ้าสัปดาห์ต่าง ๆ หลังการตรัสรู้ เช่น สัปดาห์ที่ 5 เสด็จไปประทับใต้ร่มไม้ไทร (อชปาลนิโครธ) ในภาพมีตัวอักษรกำกับ “ต้นไทร” สัปดาห์ที่ 6 เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิภายใต้ร่มไม้จิกและมีพระยานาคมุจลินท์แผ่พังพานป้องกันพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วัน ในภาพมีตัวอักษรกำกับ “ต้นจิก” ด้านซ้ายล่างมีกรอบสี่เหลี่ยมมีตัวอักษระบุชื่อผู้สร้าง

หมายเลข B6 : ด้านขวาเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งในป่าเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีตัวอักษรกำกับความว่า “โปรถปันจวัคคี” ด้านซ้ายเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งในพระมหาปราสาทกำลังเทศนากษัตริย์ มีตัวอักษร “เทศนาโปรถพีมพิศาล”


หมายเลข B7 : ผนังลบเลือน ด้านขวาพอมองเห็นพระพุทธองค์ประทับนั่งในอาคารสันนิษฐานว่าหมายถึงตอนเทศนาโปรดพระญาติ ด้านซ้ายแลเห็นต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านออกโดยมีพระพุทธองค์ประทับบนต้นไม้เป็นคู่ ๆ มีตัวอักษรปรากฏ “ปาฏิหาร…” หมายถึงตอนยมกปาฏิหาริย์ ในภาพแลเห็นปล่องไฟโรงสีข้าวจำนวน 2 ปล่อง

หมายเลข B8 : ผนังลบเลือน ด้านขวาเป็นพุทธประวัติตอนเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีตัวอักษรปรากฏใต้ภาพตรงกลาง “เทศนาโปรดพุทธมารดา” ถัดออกไปเป็นตอนเทโวโรหณะ พระพุทธองค์เสด็จกลับจากสวรรค์ดาวดึงส์โดยมีชาวเมืองสังกัสสนครมาต้อนรับ

หมายเลข B9 : ผนังลบเลือน ด้านขวาเป็นตอนพระพุทธองค์ทรงประทับป่าเลไลย์มีช้างถวายคนโทน้ำ ลิงถวายรวงผึ้ง ตรงกลางเป็นพระพุทธองค์ประทับยืนแสดงปางประทานพร มีคนนั่งเฝ้าทั้ง 2 ฝั่ง ด้านซ้ายมีภาพยักษ์นั่งพนมมือขนาบทั้งสองข้างของพระพุทธองค์ มีตัวอักษรปรากฏใต้ภาพ “…มาร…อาฬะวะกยัก”

หมายเลข B10 : ผนังลบเลือน เนื้อหาโดยรวมเป็นตอนพระพุทธองค์ทรงทรมานพระยาชมพูบดี ด้านขวาเป็นการเดินทางด้วยช้างของพระยาชมพูบดี ด้านซ้ายเป็นตอนพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในพระมหาปราสาทโดยมีพระยาชมพูบดีนั่งเฝ้าฟังพระธรรมและมีขุมนรกเปิดอยู่ด้านล่าง

หมายเลข B11 : ด้านขวาเป็นพระพุทธองค์และแถวพระสาวกเดินบิณฑบาต ตรงกลางด้านบนเป็นตอนพระองค์ทรงประชวร พระอานนท์นำบาตรมาตักน้ำ ด้านซ้ายเป็นตอนสุภัททะขอเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่พระอานนท์ห้ามไว้ สังเกตอาคารที่ปรากฏในภาพ มีทั้งบ้านทรงไทย ตึกแบบฝรั่งที่มีหลังคาเป็นแบบจีน

หมายเลข B12 : เป็นเหตุการณ์ตอนถวายพระเพลิงพระศพ ด้านขวาเป็นแถวพระสงฆ์ที่มาร่วมงานพระศพ ท้องฟ้ามีเทวดาเหาะนำดอกไม้มาไหว้พระบรมศพ กลางภาพเป็นพระมหากัสสปะกำลังก้มกราบพระบาทที่ยื่นออกมาจากโลงพระศพ ด้านซ้ายเป็นการละเล่นและวิถีชาวบ้าน เช่น กลองยาว ไต่ราว ภาพชาวจีนเปิดร้านขายอาหาร ฯลฯ


หมายเลข B13 : เป็นภาพพิมพ์เวสสันดรชาดกใส่กรอบไม้ เป็นตอนที่กษัตริย์ทั้งหกได้พบกันตอนท้ายเรื่อง มีตัวอักษรด้านล่างตรงกลางภาพ “เนื้อหากัณฑ์ที่12 ฉกษัตริย์ 36 พระคาถา” ต้นฉบับเขียนใน พ.ศ. 2470 มีแหล่งจำหน่ายหน้าวัดราชบพิธ

หมายเลข B14 : เป็นเหตุการณ์ต่อจากภาพหมายเลข 12 ด้านขวาเป็นตอนโทณพราหมณ์ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบงาน ด้านล่างมีตัวอักษร “… ตวงพระบรมทาด” ด้านซ้ายเป็นภาพเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีเสาหงส์คู่และเครื่องสูงประกอบโดยรอบ ด้านล่างเจดีย์มีตัวอักษร “เมรบันจุ”   

หมายเลข B15 : ตรงกลางเป็นภาพกษัตริย์นั่งดูการละเล่นยิงธนู ด้านขวาเป็นภาพกษัตริย์อัญเชิญพระธาตุมาประดิษฐานในมณฑป มีกลุ่มพระสงฆ์และชาวบ้านรายล้อม ด้านล่างซ้ายมีตัวอักษร “พระเจ้าสีธัมมาโศกราชขุดพระธาต” น่าสังเกตว่านับตั้งแผ่นภาพ B15 เป็นต้นไป ฝีมือช่างและรูปแบบงานจิตรกรรมต่างออกไปจากภาพที่ชายคาแผ่นอื่น ๆ กล่าวคือ การเขียนภาพบุคคลมีขนาดใหญ่ รายละเอียดตัวภาพสำคัญ เช่น พระศรีธรรมโศกราชมีความวิจิตรลดลง ภาพทหารแต่งกายแบบขุนนางสมัยรัชกาลที่ 5 หรือโทนสีน้ำตาล-แดงเปลี่ยนเป็นโทนสีน้ำตาล-น้ำเงินเข้ม สังเกตภาพทหารดูแลม้าและช้างใส่ชุดราชปะแตน

หมายเลข B16 : ด้านขวาเป็นงานรื่นเริงฉลองพระธาตุ ด้านล่างมีตัวอักษร “พระเจ้าสีธัมมาโศกราชะชลองพระเจดีย์” ในภาพมีการละเล่นต่าง ๆ เช่น การฉายหนัง การแสดงลิเก ที่โรงลิเกมีตัวอักษรระบุ “ลิเกดอกดินเล่นเรื่องจับนม” ด้านซ้ายเป็นภาพพระยามารถูกพระอุปคุตจับมัดไว้กับต้นไม้ ครุฑสู้กับนาค เสือไล่กัดวัว และพระยามารโดนพระอุปคุตเสกหมาเน่าห้อยคอ โดยรวมหมายถึงพุทธประวัติตอนฉลองพระธาตุ มีพระยามารมาขวางพิธี และพระอุปคุตถูกอัญเชิญมาปราบพระยามาร ภาพนาคกับครุฑอธิบายได้ว่าเป็นเรื่องแทรกในพุทธประวัติตอนนี้ พระยานาคขึ้นมาจากนาคพิภพเพื่อนมัสการพระภิกษุ พระยาครุฑต้องการไล่จับกิน สามเณรอายุ 7 ขวบ ผู้มีอิทธิฤทธิ์บันดาลลมพายุพัดให้ครุฑปลิวหายไป


หมายเลข B17 : ด้านขวาล่างมีตัวอักษรปรากฏ “พระภิกษุ…พระเถรอุตครุดในเทล” ด้านขวาเป็นภิกษุ 2 รูป ไปเชิญพระอุปคุตที่อยู่ในสะดือทะเลขึ้นมาปราบพระยามารคราวฉลองพระธาตุ ตรงกลางภาพเป็นพระภิกษุ 2 รูป กำลังเกี้ยวผู้หญิง ด้านล่างของภาพมีตัวอักษร “โคตภสงฆ์” ด้านซ้ายเป็นภาพพระสงฆ์ที่จีวรและสังฆาฏิพันไว้ที่บั้นเอว ข้อมือ และใบหู หมายถึงพุทธประวัติปริเฉทที่ 29 ความเสื่อมสูญแห่งเครื่องหมายภิกษุสงฆ์

หมายเลข B18-B20 : เป็นภาพพิมพ์ชุดเวสสันดรชาดกในกรอบกระจกที่เนื้อกระดาษกรอบแตกหลุดออกจากกัน ภาพ B18 เป็นตอนพระเวสสันดรและนางมัทรีอุ้มพระกัณหาและพระชาลีเดินทางเข้าป่า B19 ไม่ปรากฏภาพให้ตีความได้ และ B20 ตอนนางมัทรีปรนนิบัติพระเวสสันดร

หมายเลข B21 : เป็นภาพวาดสีฝุ่นบนแผ่นไม้ ด้านขวาเป็นแนวกำแพงเมือง มีทหารแต่งกายแบบตะวันตกยืนเฝ้า ภายในเป็นภาพกษัตริย์ประทับนั่งสนทนาธรรมกับภิกษุในปราสาทท่ามกลางข้าราชบริพาร ตรงกลางเป็นกษัตริย์และภิกษุนั่งกำกับการฝังพระธาตุเพราะเกรงว่าพระธาตุจะสูญหาย มีตัวอักษรปรากฏ “ฝังพระธาต” กษัตริย์ที่ปรากฏในภาพคือ พระยาธรรมาโศกราชหรือพระเจ้าอโศก ภิกษุในภาพอาจหมายถึงพระอุปคุตที่มาช่วยปราบพระยามารที่จะมาทำลายพิธีตามพุทธประวัติตอนมารพันธปริวรรต

ข้อสังเกต ภาพเขียนชุด B มีฝีมือช่าง 2 สมัย ไม่มีอักษรกำกับปีที่สร้าง เมื่อพิจารณาจากการเขียนพื้นดินสีเข้ม มีเส้นขอบฟ้าปรากฏชัด การไล่น้ำหนักท้องฟ้าจากเข้มไปอ่อน การเขียนกลุ่มเมฆม้วนแบบเหมือนจริง การเขียนต้นไม้แสดงลำต้นสูงชะลูดเรียงกันเป็นแถวแบบมีระยะใกล้-ไกล แต่ยังคงเขียนตัวละครประณีตและมีขนาดเล็ก การเขียนปราสาทราชวังตัดเส้นอย่างวิจิตร ทำให้กำหนดอายุได้ว่าราวปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเป็นต้นมา ในขณะที่ภาพเขียนอีกชุดหนึ่ง B16 B17 และ B21 ใช้โทนสีเย็นน้ำเงินเข้ม ตัวภาพมีขนาดใหญ่ รายละเอียดขาดความวิจิตร แต่ตัวอักษร “ลิเกดอกดินเล่นเรื่องจับนม” ที่ภาพหมายเลข B16 ทำให้พอกำหนดอายุได้ว่าภาพเขียนนี้มีอายุราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากลิเกคณะดอกดินของ ดอกดิน เสือสง่า มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2407-2477 มีชื่อเสียงมากในลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง-เจ้าพระยา

ภาพชุด C


ภาพวาดที่เพดานเล่าเรื่องตำราพรหมชาติ ตำราดวงชะตาสิบสองราศีแบ่งเป็นช่องใหญ่จำนวน 7 ช่อง เริ่มจากทิศตะวันตก (ธรรมมาสน์) ไล่ไปทางทิศตะวันออก ตามหมายเลขในแผนผัง แต่ละช่องใหญ่ตีตารางเป็นช่องย่อย ๆ จำนวน 9 – 12 ช่อง โดยรวมมีพื้นหลังสีขาวสลับลายเมฆสีน้ำเงินแบบจีน ในแต่ละช่องเล็กมีการเขียนตัวภาพพร้อมตัวอักษรกำกับ รายนามผู้บริจาคทรัพย์ และค่าจ้างเขียน ช่องกลางวาดวงกลมภายในมีภาพบุคคล

หมายเลข C1 : แต่ละช่องเขียนรูปวัว ราชสีห์ เสือ ควาย หมู ช้าง ม้า และราหู แต่ละช่องมีตัวอักษรกำกับ “วันจันทร์เป็นวัว บูรพา อีสารวันอังคารราชสีห์ วันพุฒเป็นเสืออยู่อุดร วันพฤหัสเป็นควายอยู่ทักศิณ วันศุกประจิมเป็นหมู วันเสาร์เป็นช้างอาคเน วันอาทิตย์เป็นม้า หรดีเป็นราหู” ตรงกลางในช่องวงกลมเป็นเมขลาล่อแก้ว ภาพดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นคติการถือฤกษ์เดินทาง (ผีหลวงจร) ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ

หมายเลข C2 : แต่ละช่องเขียนรูปครุฑ หมา ราชสีห์ เสือ นาค หนู ช้าง และแพะช่องที่มีตัวอักษรกำกับได้แก่ นาค ความว่า “บาน 2 ที่นั่งวันอาทิด” ตรงกลางในช่องวงกลมเป็นรามสูรขว้างขวาน คติดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นการเขียนภาพสัตว์ตัวนาม (สัตว์ประจำทิศ) ที่มาพร้อมกับมหาทักษา ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ


หมายเลข C3 : แต่ละช่องเขียนรูปเทวดาขี่สัตว์พาหนะ ได้แก่ เทวดาขี่ราชสีห์ เทวดาขี่ม้า เทวดาขี่วัว เทวดาขี่ช้าง เทวดาขี่แพะ เทวดาขี่กวาง เทวดาขี่หนู และราหู แต่ละช่องมีตัวอักษรกำกับ ดังนี้ “พระเสวยอายุ อาทิต 6 ปี จันทร์ 15 ปี อังคาร 8 ปี พุฒ 17 ปี พฤหัสบดี 19 ปี ศุกร์ 21 ปี เสาร์ 10 ทัต 10 ปี ราหู 12 ปี” ตรงกลางในช่องวงกลมเป็นเทวดาขี่พระยานาค มีตัวอักษรกำกับว่า พระเกต 9 ปี ภาพดังกล่าวหมายถึงตำราเทวดาเสวยอายุ ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ

หมายเลข C4 : มีจำนวน 12 ช่อง แต่ละช่องเขียนภาพ ดังนี้ ภาพเทวดา 2 องค์ นั่งพนมมือหันหน้าเข้าหากัน มีตัวอักษร “เทวราชา 2” ภาพยักษ์นั่ง 1 ตน มีตัวอักษร “เอกะยักขา 1” ภาพเทวดา 4 องค์ นั่งพนมมือ มีตัวอักษร “จตุเทวา 4” ภาพสิงห์ 3 ตัว มีตัวอักษร “ตรีนิสิงเห 3” ภาพม้า 5 ตัว มีตัวอักษร “ฉอ อาชา 6” ภาพนาค 7 ตัว เกี่ยวพันกัน มีตัวอักษร “สัตตะนาเค 7”ภาพพระภิกษุนั่งพนมมือ 8 รูป มีตัวอักษร “อัฏฐะอะระหันตา 8” ใต้ภาพมีชื่อผู้บริจาคทรัพย์ในการเขียนภาพ ต่อด้วยภาพเทวดา 9 องค์ มีตัวอักษร “นวะเทวา 9” กลุ่มพระภิกษุ 5 รูป มีตัวอักษร “ปัญจะพุทธา 5” ภาพกลุ่มพระพรหม 5 องค์ มีตัวอักษร “ปัญจะพรหมา 5” ภาพพระอินทร์ 5 องค์นั่งถือพระขรรค์ มีตัวอักษร “ปัญจะอินทรา 5” ภาพเทวดารูปกายเขียวนั่งพนมมือ 5 องค์ มีตัวอักษร “ปัญจะเพ็ชฉลูกัญ 5” ภาพดังกล่าวหมายถึงความเชื่อเรื่องตรีนิสิงเห ตามตำราพรหมชาติ

หมายเลข C5 : แต่ละช่องเขียนภาพบุคคลและต้นไม้ที่มีไห 3 ใบที่โคนต้น รายละเอียดดังนี้ ภาพผู้หญิงถือดอกบัวขี่หมู มีตัวอักษร “12 ปีกุน มนุสส์ผู้หญิง กอบัวหลวง” ภาพเทวดาถือพระขรรค์ขี่หนู มีตัวอักษร “1 ปีชวดเทวะดาผู้ชาย ต้นมะพล้าว” ภาพผู้ชายถือไม้ตะพดขี่วัว มีตัวอักษร “2 ปีฉลู มนุสส์ผู้ชาย ต้นตาล” ภาพยักษินีถือตะบองขี่เสือ มีตัวอักษร “3 ปีขาน ยักษ์ผู้หญิง ต้นขนุน” ภาพยักษ์ถืออาวุธขี่ไก่ มีตัวอักษร “10 ปีรกา ยักษ์ผู้ชาย ต้นยาง” ภาพผู้หญิงถือพัดขี่หมา มีตัวอักษร “11 ปีจอ ผีเสื้อผู้หญิง ต้นสำโรง” ภาพเทวดาผู้ชายถือพระขรรค์ขี่นาค มีตัวอักษร “5 ปีมโรง เทวะดาผู้ชาย กอไผ่” ภาพผู้หญิงขี่กระต่าย มีตัวอักษร “4 ปีเถาะ มนุสส์ผู้หญิง ต้นงิ้ว” ภาพยักษ์ถือตะบองขี่ลิง มีตัวอักษร “9 ปีวอก ผีเสื้อผู้ชาย ต้นขนุน” ภาพเทวดาผู้หญิงถือดอกบัวขี่แพะ มีตัวอักษร “8 ปีมแม เทวะดาผู้หญิง ต้นทอง” ภาพเทวดาผู้หญิงนั่งข้างม้า มีตัวอักษร “7 ปีมะเมีย เทวะดาผู้หญิง ต้นกล้วย” และภาพมนุษย์ผู้ชายถือดอกบัวขี่งู มีตัวอักษร “6 ปีมะเส็ง มนุสส์ผู้ชาย ต้นรัง” ช่องกลางในรูปวงกลมเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมสิงห์ ความหมายโดยรวมของภาพวาดหมายเลข C 5 คือ ปีนักษัตร ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ

หมายเลข C6 : แต่ละช่องเขียนภาพสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ ภาพเด็กไว้ผมแกละ มีตัวอักษร “เดือน 3 แปลงเป็นเด็ก” ภาพเทวดารูปกายสีเขียวถือพระขรรค์ มีตัวอักษร “เดือน 4 แปลงเป็นเทวราช” ภาพยักษ์ถือตะบอง มีตัวอักษร “เดือน 5 แปลงเป็นยักษี” ภาพนาค มีตัวอักษร “เดือน 6 แปลงเป็นนาคี” ภาพลิง มีตัวอักษร “เดือน 1 แปลงเป็นวานร” ภาพชีปะขาว มีตัวอักษร “เดือน 2 แปลงเป็นตาปะขาว” ภาพจระเข้ มีตัวอักษร “เดือน 8 แปลงเป็นกุมภา” ภาพแรด มีตัวอักษร “เดือน 7 แปลงเป็นแรด” ภาพฤษี มีตัวอักษร “เดือน 9 แปลงเป็นสิทธา” ภาพยักษ์ มีตัวอักษร “เดือน 10 แปลงเป็นอสุรยักษ์” ภาพวิชาธร มีตัวอักษร “เดือน 11 แปลงเป็นวิชาธร” และภาพบุคคลชั้นสูง มีตัวอักษร “เดือน 12 แปลงเป็นพระยา” ช่องกลางในรูปวงกลมเป็นรูปพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้า ความหมายโดยรวมของภาพวาดหมายเลข C6 คือ เรื่องกรุงพาลีแปลงกาย พิธีจัดตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ


หมายเลข C7 : แต่ละช่องเขียนภาพสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ ภาพหญิงแก่ มีตัวอักษร “11 แม่มด” ภาพนาค มีตัวอักษร “12 นาคราช” ภาพเจดีย์ มีตัวอักษร “1 เจดีย์” ภาพฉัตร มีตัวอักษร “2 ฉัตเงิน” ภาพคนศีรษะขาด มีตัวอักษร “3 คนศีร์ษะขาด” ภาพศาลา มีตัวอักษร “4 เรือนหลวง” ภาพปราสาท มีตัวอักษร “5 ปราสาททอง” ภาพราหู มีตัวอักษร “6 ราหู” ภาพฉัตร มีตัวอักษร “7 ฉัตทอง” ภาพเทวดา มีตัวอักษร “8 เทวดาจร” ภาพนักโทษถูกจองจำ มีตัวอักษร “9 คนติดขื่อคา” และภาพชายแก่ มีตัวอักษร “10 พ่อหมอ” ช่องกลางในวงกลมเป็นรูปยักษ์ มีตัวอักษร ความว่า “ชายให้นับแต่เจดีย์เวียนไปหาฉัตเงิน หญิงให้นับแต่เจดีย์เวียนไปหานาคราช” ความหมายของช่อง C7 ภาพรวม คือ ภาพตำราดวงชะตาสิบสองราศี ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
เทพ สาริกบุตร, บาง เสมเสริมสุข และอุระคิน วิริยะบูรณะ. (2521). พรหมชาติฉบับราษฎร์ ประจำบ้าน ดูด้วยตนเอง. กรุงเทพฯ: ลูก ส.ธรรมภักดี.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต