MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดจรรย์

ที่ตั้ง
วัดจรรย์ ตั้งอบู่บนหมายเลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท หมู่ที่ 2 ตำบลศรีประจันต์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกติดถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำท่าจีน
ประวัติวัด
กรมศาสนากล่าวถึงประวัติวัดจรรย์ไว้ว่าวัดนี้เคยเป็นวัดร้างมาก่อนและได้ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2455 สมัยก่อนพื้นที่ตั้งวัดเป็นป่า มีต้นจันทน์ขึ้นอยู่จำนวนมาก ราษฎรได้ก่อสร้างเสนาสนะเพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลและตั้งชื่อว่าสำนักสงฆ์จันทน์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดจรรย์ ได้รับการอุปถัมภ์จากราษฎรบ้านจรรย์มาโดยตลอดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเดือนเมษายน พ.ศ. 2455 เสนาสนะภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถกว้าง 7 เมตรยาว 13 เมตรสร้างเมื่อ พ.ศ. 2460 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญกว้าง 15 เมตร ยาว 24 เมตร สร้าง พ.ศ. 2473 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นอาคารไม้นอกจากนี้ยังมีกุฏิสงฆ์ วิหาร

จากรายงานการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 ซึ่งได้สอบถามจากพระครูสุวรรณ ประสาทคุณ เจ้าอาวาสวัดจรรย์ในขณะนั้น และนายกวาง เอี่ยมคล้าย เกิดปีมะเมีย พ.ศ. 2437 ขณะนั้นอายุ 93 ปี เป็นชาวบ้านหัวขนอนมาแต่เดิมได้เล่าประวัติให้ฟังว่าเดิมวัดหันหน้าลงแม่น้ำเพราะยังไม่มีการคมนาคมทางถนน ใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่พระอุโบสถและพระวิหารหันหน้าทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเมื่อมีถนนผ่านหน้าวัดจึงปรับปรุงให้หน้าวัดหันไปทางถนน โบราณวัตถุที่มีตั้งแต่เดิม เช่น พระประธานในพระวิหาร เป็นหินทรายแดงแต่ถูกโจรตัดเศียรไปเหลือที่เป็นเศียรเดิมเพียง 2 องค์ ใน พ.ศ. 2453 หลวงพ่อกาพย์ ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนพระอุโบสถเก่าที่สร้างอยู่กลางน้ำและทรุดโทรมมาก จากหนังสือมหกรรมศิลปะสุพรรณบุรี ครั้งที่ 1 โดยชมรมศิลปสุพรรณบุรี ตีพิมพ์เดือนเมษายน พ.ศ. 2520 เล่าประวัติหลวงพ่อกาพย์ วัดจรรย์ ว่าท่านเคยไปอยู่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ตอนปัจฉิมวัยอายุ 80 ปี เศษท่านกลับมาอยู่บ้านเกิด ว่ากันว่าเป็นพระสายวิปัสสนาธุระและมีอานุภาพในทางปลุกเสก
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
อาคารที่ตั้งงานจิตรกรรมคือ พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด 4 ห้อง เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6.50 เมตร ยาว 12.50 เมตร ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย ด้านหน้ามีพาไล หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องไม่มีช่อฟ้าใบระกา หลังคาซ้อนหลดหลั่นกัน 2 ชั้น ผนังหุ้มกลองด้านหน้าและหลังก่ออิฐเป็นแนวตั้งขึ้นไปจดอกไก่ หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเรียบไม่มีลาย มีประตูทางเข้าด้านหน้า 1 ประตู ด้านข้างมีหน้าต่างผนังละ 3 ช่อง ฐานอาคารด้านล่างแอ่นโค้งแบบท้องสำเภา ภายในอาคารเป็นโถงโล่งไม่ตีฝ้าเพดานมองเห็นโครงสร้างหลังคา ฝาผนังมีจิตรกรรมประดับไว้ทั้ง 4 ด้าน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าจิตรกรรมส่วนใหญ่ที่ติดกับพื้นล่างถูกความชื้นทำลายเสียหาย

ลักษณะจิตรกรรมเป็นแบบไทยประเพณี ฝีมือช่างพื้นบ้านที่รับอิทธิพลมาจากสกุลช่างหลวง สันนิษฐานว่ามีอายุสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนด้วยสีฝุ่นบนฝาผนังรองพื้นค่อนข้างหนา สีที่นิยมใช้ คือ สีแดง สีคราม สีเขียว สีน้ำตาล สีดำ สีขาว และปิดทองคำเปลว วรรณะสีรวมเป็นวรรณะร้อน ใช้สีแดงค่อนข้างเด่น เช่น ใช้เขียนพื้นหลัง จีวรพระ หลังคาสถาปัตยกรรม สีครามใช้เขียนต้นไม้ ท้องฟ้า ภูเขา น้ำ สีดำใช้ตัดเส้น สีน้ำตาลใช้เขียนพื้นดิน สีขาวใช้เขียนน้ำและตัวสถาปัตยกรรม มีการติดทองคำเปลวบนตัวพระและบุคคลสำคัญ รวมทั้งเครื่องประดับต่าง ๆ

การวางองค์ประกอบภาพแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ภาพช่วงบนเหนือขอบประตูหน้าต่างขึ้นไปจนจรดเพดานและผนังระหว่างประตู-หน้าต่าง การแบ่งกลุ่มภาพใช้ลายหน้ากระดานแบ่งระหว่างช่วงบนและช่วงล่าง ผนังช่วงล่างระหว่างบานประตู-หน้าต่างใช้แนวสถาปัตยกรรมและต้นไม้ในการแบ่งกลุ่มภาพ การเขียนภาพบุคคลมักมีใบหน้าเป็นรูปไข่ เครื่องประดับและรายละเอียดอื่น ๆ มีการตัดเส้นประณีตงดงาม การเขียนภาพท้องฟ้าช่วงบนสุดจะมีสีครามเข้มไล่ลงมาใช้สีอ่อนจางจนถึงสีขาว อีกแบบหนึ่ง คือ เขียนท้องฟ้าสีครามอ่อนทั้งหมด และเขียนก้อนเมฆเป็นก้อน ๆ ด้วยสีขาว การเขียนภาพน้ำมีการลงพื้นสีครามอ่อนแล้วตัดเส้นคลื่นด้วยสีขาว หากเป็นน้ำในสระบัวจะลงสีครามก่อนแล้วเขียนเส้นน้ำสีครามแก่ การเขียนภาพฉากหลังมีระยะใกล้-ไกลแบบทัศนียวิทยาส่วนภาพอาคารสถาปัตยกรรมเขียนด้วย “มุมตานกมอง”
จิตรกรรมฝาผนัง
เนื้อหาของจิตกรรรมเล่าเรื่องพระอดีตพุทธเจ้าและพุทธประวัติ เริ่มจากผนังสกัดตรงข้ามพระประธานทิศตะวันออก เวียนทวนเข็มนาฬิกาไปทางทิศเหนือ แผนผังจิตรกรรมมีรายละเอียด


ผนังสกัดตรงข้ามพระประธาน


หมายเลข 1 : ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ มีภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย ด้านล่างมีพระแม่ธรณีประทับยืนบีบมวยผม มีพญาวัสวดีมารและพลเสนามารอยู่ด้านข้าง องค์ประกอบภาพแบ่งเป็นสองข้างคือ ซีกซ้ายเป็นกองทัพมารทำท่าข่มขู่ ซีกขวาเป็นกองทัพมารที่พ่ายแพ้แสดงอาการเคารพต่อพระพุทธองค์

หมายเลข 2 : เขียนภาพพุทธประวัติตอนประสูติแสดงภาพพระนางสิริมหามายาทรงประทับยืน มีบริวาร 2 คนประคองด้านข้าง เหนือขึ้นไปเป็นภาพพระพรหมถือพานที่มีสิทธัตถะกุมารประทับยืน ด้านบนปรากฏภาพพระอินทร์ถือฉัตรตาม
หมายเลข 3 : ผนังด้านซ้ายของประตูแบ่งเป็น 2 เหตุการณ์ คือ ส่วนที่ติดกับขอบประตู ผนังถัดออกไปเป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์โดยมีจตุโลกบาลประคองเท้าม้า มีนายฉันนะเกาะหางม้า เบื้องหน้ามีพระยาวัสวดีมารห้ามเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้ออกบวช
หมายเลข 4 : ค่อนข้างลบเลือนแต่พอมองเห็นว่าภาพบุคคลยืนในปราสาทกำลังมองสตรีที่นอนอยู่ หมายถึงเหตุการณ์พุทธประวัติครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงร่ำลาพระนางพิมพาและราหุลก่อนเสด็จออกบวช

ผนังด้านซ้ายมือพระประธาน

หมายเลข 5
: ภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งซ้อนกันจำนวน 2 แถว แถวบน 16 องค์ แถวล่าง 5 องค์ รวม 31 องค์ ระหว่างแถวมีลายหน้ากระดานคั่น พระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ประทับนั่งสมาธิบนบัลลังก์ภายในซุ้มเรือนแก้ว ระหว่างพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีลายดอกไม้ร่วงประดับ เหนือแถวพระพุทธเจ้าแถวบนมีลวดลายผ้าม่านห้อยคล้ายแถบริบบิ้น


หมายเลข 6 : พระพุทธเจ้าทรงตัดพระเมาลีริมแม่น้ำอโนมา พระอินทร์เตรียมนำพระเมาลีไปประดิษฐานที่เจดีย์จุฬามณี
หมายเลข 7 : พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานลอยถาดหลังจากฉันข้าวมธุปายาส มองเห็นวิมานพระยานาคอยู่ด้านขวา เยื้องขึ้นไปมีภาพเรือสำเภา การเขียนน้ำยังทำเป็นลายโค้งคลื่นทับซ้อนแบบเกล็ดปลา


หมายเลข 8 : พุทธประวัติตอนนางสุชาดาพร้อมบริวารกำลังถวายข้าวมธุปายาส สังเกตการเขียนภาพบ้านเรือนของนางสุชาดาที่เป็นคหบดี
หมายเลข 9 : เป็นพุทธประวัติตอนพ่อค้าสองพี่น้อง คือ ตปุสสะและภัลลิกะถวายก้อนสัตตูก้อนสัตตูผง สังเกตองค์ประกอบภาพแสดงความเป็นพ่อค้าด้วยขบวนเกวียนบรรทุกสินค้า


หมายเลข 10 : พระสหัมสดีพรหมทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม
หมายเลข 11 : พระพุทธองค์ทรงประทับยืนสนทนากับชายผู้หนึ่ง หมายถึงพุทธประวัติตอนแสดงธรรมโปรดอาชีวก
หมายเลข 12 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ในภาพปัญจวัคคีย์แต่งกายเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว
หมายเลข 13 : มีภาพกษัตริย์ประทับนั่งในปราสาท อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ หลังการตรัสรู้และเสด็จเผยแพร่ประกาศพระศาสนา ทรงเสด็จไปยังลัฏฐิวัน ชานเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสารและโปรดแสดงธรรม หลังจบพระธรรมเทศนาพระเจ้าพิมพิสารได้สำเร็จมรรคผลชั้นโสดาบันทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก


หมายเลข 14 :
ด้านซ้าย พระพุทธองค์เสด็จดำเนินมุ่งหน้าไปทางศาลา
ด้านขวา ทรงประทับนั่งในป่า มีช้างถวายคนโทน้ำ ลิงถวายรวงผึ้ง
ด้านบน ปรากฏตัวอรหันต์ขนาดเล็ก 2 ตัว อยู่ระหว่างโขดเขา เนื้อหาภาพหมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จจำพรรษา ณ ป่าปาเลไลยก์ มีช้างกับลิงมาเป็นผู้อุปัฏฐาก


หมายเลข 15 :
ด้านซ้าย ลบเลือนแต่ยังพอมองเห็นต้นมะม่วงแผ่กิ่งก้านออกเป็นคู่ ๆ มีพระพุทธองค์ประทับอยู่บนต้นมะม่วง หมายถึงพุทธประวัติตอนทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์
ด้านขวา เป็นปราสาทราชวังขนาดใหญ่ มีกษัตริย์และมเหสีนั่งอยู่ภายใน คงหมายถึงพระเจ้าอชาตศัตรูในตอนที่ทูลถามพระพุทธองค์ถึงการแสดงปาฏิหาริย์

ผนังสกัดด้านหลังพระประธาน ทิศตะวันตก มีเส้นคั่นระหว่างผนังแบ่งภาพเป็น 2 ตอน ตรงกลางของแนวเส้นคั่นมีตัวอักษร ความว่า “เทศะนาปะวักปาติหารพระเจ้าเปิดโลกย์ห้องนี้ ท่ารตาจัน ยายสำลีกับท่ารยายไข่หม้าย พ่วงโสท สร้างไว้ในพุทธสาศะนา ไห้สำเรจ์แก่พระนีพภาณ่ปัจโยโหตุ อายุวัณโน สุขังพะลังฯ”   

หมายเลข 16 : ตอนบนของภาพแสดงภาพพระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีภาพพระจันทร์ทรงม้าโคจรอยู่ที่มุมด้านซ้าย
หมายเลข 17 : ภาพพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์โดยมีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาส่งเสด็จ บันไดทางด้านขวาทำเป็นเส้นสลับฟันปลาและลายเมฆล้อมคั่นฉากนรกภูมิ แลเห็นภาพสัตว์นรกที่ทำบาปถูกลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นการแสดงถึงปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ที่บันดาลให้ภพภูมิทั้งสามสามารถมองเห็นกันได้ชั่วขณะหนึ่ง ช่างใช้ฉากแนวต้นไม้และทะเลที่มีคลื่นน้ำเกล็ดปลา สัตว์น้ำ และเรือสำเภาในการแบ่งฉากระหว่างสวรรค์กับพื้นดินและนรกออกจากกัน ในฉากสระน้ำแฝงภาพตลกขบขันของเหล่านางกำนัลที่ลงเก็บดอกบัวในสระ ที่มุมขวามีแผ่นดินที่มีชาวต่างชาติแต่งกายแบบตะวันตกอาศัยอยู่ บ้างกำลังแล่นเรือสำเภา
หมายเลข 18 : เป็นแนวกำแพงเมือง พระพุทธองค์ประทับอยู่ในปราสาททรงแสดงธรรมแก่กษัตริย์และข้าราชบริพาร มีนักดนตรีกำลังเล่นดนตรีถวาย เมื่ออยู่ในฉากพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมืองดังกล่าวจึงหมายถึงเมืองสังกัสสนคร
หมายเลข 19 : เป็นภาพตอนล่างเขียนเป็นรูปพื้นดินและต้นไม้ที่มีกิ่งก้านยักเยื้อง บริเวณมุมติดผนังด้านขวาเขียนเป็นภาพกินรีเหนี่ยวกิ่งไม้ ส่วนมุมติดผนังด้านซ้ายลบเลือน

ผนังด้านซ้ายมือของพระประธาน ด้านทิศเหนือ


หมายเลข 20
: ภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งซ้อนกันจำนวน 2 แถว รวม 31 องค์
หมายเลข 21 : พระพุทธองค์และสาวกกำลังเสด็จเข้าไปในเมืองโดยมีนายพรานที่ได้รับคำสั่งจากพระเทวทัตใช้ธนูไล่ยิงพระพุทธองค์


หมายเลข 22 : ในเขตกำแพงเมือง พระพุทธองค์ทรงปราบช้างนาฬาคีรี


หมายเลข 23 : พระพุทธองค์และสาวกประทับนั่งเสวยกระยาหารในปราสาท เนื่อง จากเป็นผนังที่มีเนื้อเรื่องเดียวกับพระพุทธองค์ทรงอาพาธ ภาพนี้จึงอาจหมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จเข้าเมืองสาวัตถีเป็นครั้งสุดท้าย

หมายเลข 24 : พระพุทธองค์ทรงอาพาธบรรทมอยู่บนแท่นระหว่างต้นรัง พระอานนท์กำลังตักน้ำ มีพระอินทร์พระพรหมตลอดจนหลังพระสาวกแสดงความเคารพ


หมายเลข 25 : พระพุทธองค์ปรินิพพาน มีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าสาวกล้อมรอบ
หมายเลข 26 : พระอานนท์มาแจ้งข่าวการปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์ จากนั้นจึงเป็นภาพมัลลกษัตริย์เสด็จออกจากเมืองโดยมีข้าราชบริพารติดตาม
หมายเลข 27 : ภาพการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธองค์ ท้ายหีบพระศพมีพระมหากัสสปะนั่งพนมมือ ด้านล่างเป็นการละเล่นมหรสพต่าง ๆ เช่น ยวนหก กลองยาว งิ้ว ฯลฯ มีภาพกษัตริย์ประทับในปราสาททอดพระเนตรดูพิธีถวายพระเพลิง น่าสังเกตมีว่าชาวกะเหรี่ยงใส่หน้ากากสีแดงกำลังร่ายรำกับผู้หญิงชาวลาว นักดนตรีเป่าแคนและคนตีกลองยาว

หมายเลข 28 : ภาพกษัตริย์ต่างเมืองยกทัพมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีโทณพราหมณ์ยืนบนกำแพงแสดงท่าห้ามไม่ให้รบกัน
หมายเลข 29 : เป็นเหตุการณ์ตอนโทณพราหมณ์กำลังแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ด้านบนมีภาพพระอินทร์กำลังเหาะหยิบพระทันตธาตุที่โทณพราหมณ์ซ่อนเอาไว้ในมวยผม ด้านล่างเป็นภาพวงดนตรีและการละเล่นต่าง ๆ


หมายเลข 30 : ภาพอาคารที่มีโกศตั้งอยู่ภายใน ด้านข้างอาคารประดับด้วยฉัตรหลายชั้น แต่ละชั้นมีคนนั่งพนมมือถือช่อดอกไม้ไหว้โกศที่อยู่ด้านบน มีภาพหญิงสาวไว้ผมมวยผมนุ่งซิ่นยาว 2 คน ปรากฏอยู่ ด้านข้างมีพระภิกษุ ล้อมรอบด้วยกลุ่มคนที่มาไหว้พระธาตุ องค์ประกอบภาพคล้ายกับที่วัดประตูสาร หมายถึงพุทธประวัติตอนพระเจ้าอโศกมหาราชฉลองพระธาตุ

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดจรรย์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต