MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดแก้วทับตีเหล็ก

ที่ตั้ง
วัดแก้วทับตีเหล็ก ตั้งอยู่ที่ตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมืองสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ทิศเหนือติดแม่น้ำท่าจีน ทิศใต้จรดถนนสาย 3318 สุพรรณบุรี-เก้าห้อง
ประวัติวัด
วัดแก้วทับตีเหล็ก ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2415 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2495 เสนาสนะประกอบ ด้วยพระอุโบสถ กว้าง 8 เมตร ยาว 22 เมตร สร้าง พ.ศ. 2492 ศาลาการเปรียญกว้าง 18 เมตร ยาว 28 เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กว้าง 16 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2502 เป็นอาคารไม้ นอกจากนี้ยังมีกุฏิสงฆ์
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
หอสวดมนต์เป็นอาคารทรงไทยประเพณี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ล้อมด้วยลายกระหนก ที่ชายคาของหอสวดมนต์มีจิตรกรรมบนแผ่นไม้เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวมีรองพื้นฝีมือช่างพื้นบ้านเรื่องเวสสันดรชาดก จำนวน 12 ภาพ จิตรกรรม 4 ภาพที่อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือวางภาพห่างออกจากกันและเนื้อหาบางแผ่นขาดหายไป แสดงให้เห็นว่าภาพชุดนี้อาจถูกรื้อลงมาจากสถานที่ที่ประดับไว้เดิมและนำมาติดตั้งใหม่ ขนาดความยาวและจำนวนภาพจึงไม่พอดีกัน

จากการสำรวจของวรรณิภา ณ สงขลาและคณะ พ.ศ. 2529 ที่ได้สืบสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนขณะนั้นพบว่า เดิมจิตรกรรมอยู่ในศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 ผู้เขียนคือ นายอู๋ ต่อมา พ.ศ. 2518 อาจารย์หวัน เจ้าอาวาสได้รื้อศาลาการเปรียญสร้างใหม่เป็นอาคารเครื่องก่อ และย้ายห่างจากพระอุโบสถออกมาทางทิศใต้เล็กน้อย เมื่อสร้างเสร็จได้นำไม้กระดานคอสองศาลาหลังเก่าขึ้นไปประดับไว้ที่ศาลาหลังใหม่เพื่อรักษาจิตรกรรมโบราณไม่ให้สูญไป ปัจจุบันศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ และกุฏิพระถูกสร้างเชื่อมต่อกัน สามารถเดินทะลุถึงกันได้โดยรอบ
จิตรกรรมฝาผนัง
โครงสีที่ใช้ในงานจิตรกรรมโดยรวมเป็นสีมืดคล้ำ วรรณะเย็น โดยเฉพาะส่วนที่เป็นฉากทิวทัศน์ เช่น สีน้ำตาล-เทา สีเขียวขี้ม้า หากเป็นฉากอาคารบ้านเรือนจะใช้โทนสีสว่าง เช่น สีขาว สีเหลือง และไม่มีการปิดทองคำเปลวแต่ใช้สีเหลืองแทนสีทอง ตัวภาพบุคคลที่เป็นตัวเอกมีขนาดใหญ่ ตัวพระตัวนางแสดงการเก็บรายละเอียดแบบจิตรกรรมไทยประเพณี การเขียนภาพมีระยะใกล้-ไกล ด้านใต้ภาพมีตัวอักษระบุชื่อกัณฑ์และจำนวนคาถา คณะผู้วิจัยลำดับแผนผังจิตรกรรม ดังนี้




หมายเลข 1 : พระนางผุสดีอัครมเหสีมาขอพรจากพระอินทร์เมื่อถึงคราวจะสิ้นบุญจากสวรรค์ ด้านข้างเป็นเหล่าเทพยดา ฉากหลังเป็นปราสาทลอยอยู่บนสวรรค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “กัณที่ 1 ทศพร 19 พระคาถา”

หมายเลข 2 : ด้านขวาเป็นภาพชูชกเดินอยู่ในป่านำนางอมิตดามาเป็นภรรยา ด้านซ้ายเป็นกลุ่มบ้านเรือน มีเค้าลางของต้นกล้วยปรากฏในภาพ มีตัวอักษรใต้ภาพ “กัณฑ์ที่ 5 ชูชกพานาง 79 พระคาถา”

ข้อสังเกต กัณฑ์ที่ 2 หายไปซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญตอนพระเวสสันดรยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์ที่มาทูลขอ


หมายเลข 3 : เป็นฉากในป่า พระเวสสันดรยกราชรถเทียมม้าให้กับพราหมณ์ที่มาทูลขอ มีตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 3 ทานกรรณฑ์ 209 พระคาถา”


หมายเลข 4 : เป็นฉากในป่า พระเวสสันดรพาพระนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี เดินทางด้วยพระบาทเข้าสู่เขาวงกต ตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 4 วันนะประเวสน์ 57 พระคาถา”

หมายเลข 5 : จิตรกรรมส่วนใหญ่ถูกบัง เหลือเพียงภาพด้านขวาพอมองเห็นภาพชูชกถามทางจากชายคนหนึ่งที่ถือหน้าไม้น่าจะหมายถึงการถามทางไปอาศรมพระเวสสันดรจากพรานเจตบุตร มีตัวอักษรใต้ภาพ “กัณฑ์ที่ 6 จุลพน 35 พระคาถา”
หมายเลข 6 :
ด้านซ้าย ภาพชูชกนั่งคุยกับอัจจุตฤษีที่บรรณาศาลา
ด้านขวา ฤษีชี้บอกทางไปอาศรมของพระเวสสันดร มีตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 7 มะหาพน 80 พระคาถา”


หมายเลข 7 : จิตรกรรมเล่า 3 ฉาก ด้านซ้ายพระเวสสันดรเรียกพระกัณชาและพระชาลีให้มาจากสระน้ำ ตรงกลางพระเวสสันดรหลังน้ำประสานสองกุมารให้ชูชก ด้านขวาชูชกผูกสองกุมาร โบยตีด้วยไม้และนำตัวไปจากอาศรม มีตัวอักษรใต้ภาพ “กัณฑ์ที่ 8 กุมาร 101 พระคาถา”

หมายเลข 8 : พระนางมัทรีประทับนั่งพนมมืออ้อนวอนนเหล่าเสือเหลืองราชสีห์ที่มาขวางไม่ให้พระนางเดินทางกลับถึงอาศรมมีตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 9 มัดทรี 90 พระคาถา”


หมายเลข 9 : พราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร มีตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 10 สักกะบรรพ 43 พระคาถา” สังเกตว่าพราหมณ์ในฉากนี้ไม่ได้รูปกายสีเขียวทั้งที่เป็นพระอินทร์ที่แปลงกายลงมา

หมายเลข 10 : เป็นฉากในป่า เล่า 2 ฉาก ด้านซ้ายเป็นตอนที่ชูชูกฉุดลากสองกุมาร ด้านขวาเทพบุตรและเทพธิดาแปลงกายมาดูแลพระกัณหาและพระชาลีในยามค่ำคืนในขณะที่ชูชกผูกเปลนอนบนต้นไม้ ตัวอักษรใต้ภาพ “กัณฑ์ที่ 11 มะหาราช 29 พระคาถา”


หมายเลข 11 : ตรงกลางภาพเป็นกษัตริย์ทั้งหกต่างร่ำไห้เมื่อได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง ด้านซ้ายมีกองทหารนั่งล้อมรอบ ด้านขวาเป็นเหล่านางสนมและกองทหารบ้างแสดงอการโศกศร้า มีตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 12 ฉอกระษัตริย์ 36 พระคาถา”

หมายเลข 12 : เป็นแถวขบวนเสด็จของกษัตริย์ทั้งหกบนหลังช้างกลับคืนพระนคร  บางส่วนของภาพถูกบดบังด้วยเครื่องเสียง มีตัวอักษรใต้ภาพ “กรรณฑ์ที่ 13 นะครกรรณฑ์ 48 พระคาถา”

เมื่อพิจารณาเทคนิคการเขียนฉากหลังที่แสดงเส้นขอบฟ้าชัดเจน มีการวาดต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อให้พอเหมาะกับสัดส่วนบุคคล รวมทั้งวาดภาพต้นไม้และบุคคลมีขนาดใหญ่-เล็กเพื่อแสดงระยะใกล้-ไกล การเขียนภาพสถาปัตยกรรมด้วยมุมแบบมีจุดรวมเส้นตายตา (Vanishing Point) แต่ยังคงพยายามเขียนตัวละครหลักให้เป็นแบบนาฏลักษณ์และไทยประเพณี ประกอบกับประวัติการสร้างศาลาใน พ.ศ. 2469 ทำให้กำหนดอายุจิตรกรรมที่หอสวดมนต์ในเวลาเดียวกันคือ พ.ศ. 2469

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต