MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดแก้วตะเคียนทอง

ที่ตั้ง
วัดแก้วตะเคียนทองหรือวัดตะค่าตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังเป็นแม่น้ำท่าจีน
ประวัติวัด
วัดแก้วตะเคียนทอง ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2472 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จากข้อมูลการสำรวจของวรรณนิภา ณ สงขลา และคณะเมื่อ พ.ศ. 2529 ระบุว่าได้รับพระราช ทานวิสุงคามสีมา 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 เดิมวัดแก้วตะเคียนทองมีชื่อว่าวัดตะค่าโดยตั้งชื่อตามตำบลต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าสาเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อวัดมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสจังหวัดสุพรรณบุรี ครั้งเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าระหว่างวันที่ 15-28 ตุลาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) โดยทรงเสด็จมายังวัดบางยี่หนและแวะเสวยพระกระยาหารที่วัดตะค่า ทรงพบกับสมภารแสง พุทธสร เจ้าอาวาสวัดซึ่งเป็นทั้งหมอและเป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทรงถูกพระทัยในวัตรปฏิบัติของสมภารแสง เมื่อเห็นว่าทางวัดเพิ่งปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแล้วเสร็จและกำลังจะลงมือสร้างพระวิหารจึงทรงพระราชทานเงินช่วยปฏิสังขรณ์ 80 บาท

พระอุโบสถ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2468 เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ 5 ห้อง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ปิดทองประดับกระจก หน้าบันเป็นไม้แกะสลักพุทธประวัติประดับกระจกสี ด้านหน้าและหลังอุโบสถมีเสากลมจำนวน 4 ต้น หัวเสาประดับกลีบบัวปูนปั้น มีประตูด้านละ 2 ช่อง ตกแต่งกรอบซุ้มประตูด้วยปูนปั้นเช่นเดียวกับบานหน้าต่าง พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยหลวงพ่อปลื้มตรงที่เดิมซึ่งเคยเป็นพระอุโบสถหลังเก่าแต่ขยายให้ใหญ่ขึ้น พระประธานในพระอุโบสถสร้างขึ้นใหม่คราวเดียวกันบูรณะ พ.ศ. 2537 ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. 2557
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
อาคารที่ตั้งงานจิตรกรรมตามข้อมูลการสำรวจของกรมศิลปากรที่ตีพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2533 ระบุว่ามีงานจิตรกรรมในอาคาร 3 หลัง ได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และหอสวดมนต์

ภายในพระอุโบสถมีงานจิตรกรรมที่ฝาผนังและเพดาน มีตัวอักษรที่เพดานระบุปีที่สร้าง พ.ศ. 2480 โดยพระอธิการปลื้ม จากการสัมภาษณ์พระปลัดไพรัตน์ ทนฺตจิตฺโต ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแก้วตะเคียนทองตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ให้ข้อมูลว่าภาพเขียนในพระอุโบสถอาจถูกเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยพระอธิการปั่น เขมะเตโม เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความรู้ด้านอักขระปลุกเสกเลขยันต์ ภาพเขียนที่เพดานซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจึงอาจถูกเขียนขึ้นในสมัยพระอธิการปั่นเป็นเจ้าอาวาส (สัมภาษณ์พระปลัดไพรัตน์ ทนฺตจิตฺโต 21 เมษายน 2565) จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ไฟไหม้พระอุโบสถทำให้โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปและเตียงไม้ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ตั้งอยู่หน้าพระประธาน รวมทั้งภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังและภาพวาดบนดานถูกไฟไหม้

ที่มาของภาพ : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์, 2565

ต่อมาเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้ว่าจ้างช่างจากยโสธรมาซ่อมแซมเขียนภาพทับของเดิม (สัมภาษณ์พระปลัดไพรัตน์ ทนฺตจิตฺโต 21 เมษายน 2565) ปัจจุบันผนังเหนือบานหน้าต่างและบานประตูเป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ผนังระหว่างบานหน้าต่างเขียนฎีกาพาหุง เพดานวาดตำราพรหมชาติ เช่น ตรีนิสิงเห นักษัตร ฯลฯ

ศาลาการเปรียญกว้าง 20 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 เป็นอาคารไม้ทรงไทยแบบศาลาโถงขนาด 7 ห้อง ยกพื้นใต้ถุนสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายกระหนกก้านขด ตรงกลางหน้าบันมีอักษรไม้แกะสลักบอกผู้ที่ร่วมปิดทองและระบุเวลาที่ทำการปิดทอง พ.ศ. 2514 ปัจจุบันศาลาการเปรียญติดลูกกรงเหล็กและบานประตูเลื่อน

ภายในศาลาการเปรียญมีเสาไม้รองรับเครื่องบนหลังคาในประธานและชายคาโดยรอบ เพดานเป็นไม้ทาสีมีลายดาวเพดานเป็นดาวจงกลตรงมุมเป็นลายเทพพนม บริเวณคอสองมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้ติดอยู่ บางภาพระบุปี พ.ศ. 2514 เขียนด้วยสีฝุ่นเป็นฝีมือช่างพื้นบ้านเรื่องพระมาลัย มีอักษรอธิบายภาพและชื่อช่างเขียน คือ ส.การวิชา ชื่อผู้บริจาคเงินและจำนวนเงินเขียนกำกับไว้ โครงสีโดยรวม คือ สีน้ำเงิน เหลือง และขาว การเขียนภาพบุคคลรวมทั้งเครื่องแต่งกายเป็นแบบสมัยใหม่ มีบรรยากาศและลักษณะภาพคล้ายงานภาพพิมพ์ พระเทวาภินิมมิต

จากการสัมภาษณ์ นายระทม สุภาบุตรี อายุ 76 ปี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับช่างเขียนที่มีชื่อจริงว่า นายสำรวย การวิชา เล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่ตนเป็นเด็กวัด อายุราว 8 ขวบ เป็นช่วงที่ ส.การวิชา บวชเป็นพระที่วัดนี้ราว 2-3 พรรษา ในสมัยที่หลวงพ่อปลื้มเป็นเจ้าอาวาส ส. การวิชา เขียนภาพชุดนี้ด้วยตัวคนเดียว ใช้เวลาเขียนภาพละ 3 คืน จนแล้วเสร็จและไม่มีผลงานที่วัดแห่งอื่น ๆ

หอสวดมนต์สร้าง พ.ศ. 2475 จากการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 หอสวดมนต์กว้าง 15 เมตร ยาว 20 เมตร มีภาพวาดระบายสีบนแผ่นไม้ฝีมือช่างพื้นบ้าน ชื่อนายสำรวย ไม่ทราบนามสกุล เรื่องพุทธประวัติ การเขียนภาพตัวบุคคล อาคารสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ เขียนได้สวยงาม รวมทั้งการจัดองค์ประกอบภาพเหมาะสมกับพื้นที่ ใต้ภาพแต่ละภาพมีตัวอักษรอธิบายภาพ นอกจากเรื่องราวในพุทธประวัติแล้วยังมีการเขียนภาพการละเล่นต่าง ๆ เช่น ชกมวย ฟันดาบ กระโดดลอดห่วงไฟ ญวนหก ฯลฯ สีที่นิยมใช้มา ได้แก่ สีคราม สีแดง สีเขียว และสีเหลือง ปัจจุบันไม่ปรากฏภาพวาดชุดดังกล่าว เหลือเพียงภาพตัวละครรามเกียรติ์ที่วาดขึ้นใหม่บนแผ่นไม้อัดที่ปัจจุบันผุพัง จากการสัมภาษณ์ นายอิน สารสุวรรณ อายุ 75 ปี คนในชุมชนวัดแก้วตะเคียนทองเล่าให้ฟังว่า ตนเป็นผู้รับซ่อมแซมหอสวดมนต์ พ.ศ. 2532 เนื่องจากปลวกกิน ศาลาผุพัง น้ำฝนรั่ว ภาพเขียนเก่าที่เขียนบนแผ่นไม้อัดจึงสูญหายไปพร้อมกัน (สัมภาษณ์นายอิน สารสุวรรณ, 23 เมษายน พ.ศ. 2565) คณะผู้วิจัยเชื่อว่านายสำรวยช่างเขียนที่ถูกกล่าวถึงในรายงานการสำรวจฯ คือคนเดียวกันกับที่เขียนจิตรกรรมบนคอสองศาลาการเปรียญ คือ นายสำรวย การวิชา
จิตรกรรมฝาผนัง
งานจิตรกรรมในพระอุโบสถแม้ว่าจะวาดขึ้นใหม่แต่เป็นการวาดทับของเดิม คณะผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาโดยเห็นความสำคัญของเนื้อหาที่สามารถเทียบเคียงได้กับศาลาการเปรียญวัดชีปะขาว ภาพวาดที่พระอุโบสถวัดแก้วตะเคียนทอง 1 ช่อง วาดเล่าเรื่อง 1 ฉาก ใต้ภาพมีชื่อเรื่องและรายนามผู้บริจาคทรัพย์ น่าสังเกตว่าการวางองค์ประกอบของภาพเลียนแบบภาพพิมพ์เหม เวชกรคณะผู้วิจัยนำเสนอแผนผังจิตรกรรมโดยแบ่งตามเนื้อหาเป็น 4 ส่วน

ส่วน A


บริเวณผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านขวาของพระประธานทำเป็นสี่เหลี่ยมแนวตั้งจำนวน 20 ช่อง เริ่มจากมุมบนที่ติดกับทิศตะวันออกสลับลงด้านล่างต่อเนื่องกันจำนวน 5 แถว รวม 10 ช่อง เป็นเรื่องทศชาติชาดก


หมายเลข A1 : ภาพพระเตมีย์ทดลองกำลังด้วยกำลังยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง มีตัวอักษร “เต-พระเตมีย์”

หมายเลข A2 : ภาพนางมณีเมขลาอุ้มร่างพระมหาชนกขึ้นจากท้องทะเล มีตัวอักษร “ชะ-พระมหาชนก”

หมายเลข A3 : สุวรรณสามโดนศรกปิลยักขราชขณะไปตักน้ำมาปรนนิบัติบิดามารดาที่ตาบอด มีตัวอักษร “สุ พระสุวรรณสาม”

หมายเลข A4 : พระเนมีราชประทับบนราชรถโดยมีนายสารถีพาไปชมสวรรค์ มีตัวอักษร “เนมิราช”

หมายเลข A5 : พระมโหสถขุดอุโมงค์ลวงให้พระเจ้าจุฬนีพรหมทัตเข้าไปแล้วหยิบดาบขึ้นมาขู่ มีตัวอักษร “มะ-พระมโหสถบัณฑิต”

หมายเลข A6 : พราหมณ์อาลัมพายน์กำลังร่ายมนต์สะกดพระภูริทัตต์ที่ขดอยู่บนจอมปลวก มีตัวอักษร “ภู-พระภูริทัต”

หมายเลข A7 : พระอินทร์ทรงเหาะมาทำลายพิธีบูชายัญปลดปล่อยพระจันทกุมาร ภาพนี้ไม่ปรากฏตัวอักษร

หมายเลข A8 : พระพรหมนารทหาบทองเท่าลูกฟักเหาะลอยมาเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอังคติราชและพระนางรุจา มีตัวอักษร “นา-พระพรหมนารถ”

หมายเลข A9 : ชาดกเรื่องนี้แสดง 2 ฉาก คือ ปุณณกยักษ์จับพระวิธุระฟาดกับภูเขาและฉากด้านหลังเป็นปุณณกยักษ์นั่งพนมมือฟังพระธรรมจากพระวิธุระ มีตัวอักษร “วิ-พระวิทูรบัณฑิต”

หมายเลข A10 : พระเวสสันดรยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์ที่มาทูลขอ มีตัวอักษร “เว-พระเวสสันดร”

ส่วน B


เป็นเรื่องพุทธประวัติ บริเวณผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านขวาและซ้ายมือของพระประธาน เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธานต่อเนื่องจากทศชาติชาดก จำนวน 5 แถว รวม 10 ช่อง หมายเลข 1-10


หมายเลข B1 : พระอินทร์และเหล่าเทวดาอัญเชิญให้พระโพธิสัตว์ที่ประทับบนสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาจุติ มีตัวอักษร “อัญเชิญจุติ”

หมายเลข B2 : พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตถึงช้าง มีตัวอักษร “สุบินนิมิต”

หมายเลข B3 : พระนางสิริมหามายาทรงประสูติ พระกุมารทรงก้าวเดินบนดอกบัว มีตัวอักษร “ประสูติ”

หมายเลข B4 : พระกุมารแสดงปาฏิหาริย์โดยประทับยืนเหนือเศียรกาฬเทวิลดาบสที่ได้ทำนายพุทธลักษณะ มีตัวอักษร “ทำนายลักษณะ”

หมายเลข B5 : พระกุมารประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญและบรรลุปฐมฌานตั้งแต่พระเยาว์ มีตัวอักษร “แรกนาขวัญ”

หมายเลข B6 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสดงศิลปศาสตร์ด้วยการยกศรที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ มีตัวอักษร “ยกศร”

หมายเลข B7 : พระราชบิดาทรงอภิเษกสมรสเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางพิมพา มีตัวอักษร “ราชาภิเษก”

หมายเลข B8 : เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสสวน ทรงเห็นเทวทูต ได้แก่ คนป่วย โครงกระดูก และบรรพชิต มีตัวอักษร “เทวทูตสี่”

หมายเลข B9 : เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรนางกำนัลหลับนอนระเกะระกะ ทรงร่ำลาพระนางพิมพาและราหุล มีตัวอักษร “หนีบรรพชา”

หมายเลข B10 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะข้ามแม่น้ำโดยมีนายฉันนะเกาะหางม้า มีตัวอักษร “ทรงม้ากัณฒธะกะ”

ข้อสังเกต ส่วน B ผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านซ้ายมือของพระประธานเป็นเรื่องพุทธประวัติต่อเนื่องจากด้านขวามือ เริ่มจากมุมบนซ้ายพระที่ติดกับทิศเหนือสลับลงล่างต่อเนื่องกันจำนวน 5 แถว รวม 10 ภาพ หมายเลขภาพ B11-B30


หมายเลข B11 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลีริมแม่น้ำอโนมา มีตัวอักษร “ตัดโมลี”

หมายเลข B12 : ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอม พระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณสามสาย มีตัวอักษร “บำเพ็ญทุกข์กิริยา”

หมายเลข B13 : นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส มีตัวอักษร “ถวายข้าวมธุปายาส”

หมายเลข B14 : พระยามารและพลมารโดนน้ำจากพระโมลีของพระแม่ธรณีท่วม มีตัวอักษร “ชนะมาร”

หมายเลข B15 : พระพุทธองค์ประทับนั่งตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ มีตัวอักษร “ตรัสรู้”

หมายเลข B16 : ภาพธิดาพระยามารทั้ง 3 ร่ายร่ำยั่วยวนพระพุทธองค์ มีตัวอักษร “สามพระยามาร”

หมายเลข B17 : ท้าวจตุโลกบาลนำบาตรมาถวายจาก 4 ทิศ พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะใช้บาตรเพียงใบเดียว ทรงอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่ประสานเป็นใบเดียวกัน มีตัวอักษร “อธิษฐานบาตร”

หมายเลข B18 : ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนา มีตัวอักษร “พรหมอารธนา”

หมายเลข B19 : พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาให้กับปัญจวัคคีย์ มีตัวอักษร “โปรดปัญจวัคคีย์”

หมายเลข B20 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดยศกุลบุตร มีตัวอักษร “โปรดพระยส”
หมายเลข B21 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดฤษี มีตัวอักษร “โปรดชฏิล”


หมายเลข B22 : พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ที่มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ มีตัวอักษร “มาฆะบูชา”

หมายเลข B23 : พระพุทธองค์ทรงเดินนำหน้าพระอานนท์ มีตัวอักษร “โปรดพระอานนท์”

หมายเลข B24 : พระพุทธองค์ทรงบรรพชาให้กับพระราหุล มีตัวอักษร “ราหูลบรรพชา”

หมายเลข B25 : พระเทวทัต ถูกธรณีสูบ ไม่ปรากฏตัวอักษร

หมายเลข B26 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดนางมหาประชาบดีโคตมี มีตัวอักษร “โปรดมหาปชาบดี”

หมายเลข B27 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง พระอินทร์มาเข้าเฝ้า ไม่ปรากฏตัวอักษร

หมายเลข B28 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีตัวอักษร “พุทธมารดา”

หมายเลข B29 : องคุลีมาลกำลังถือดาบไล่ฟันพระพุทธองค์ มีตัวอักษร “โปรดองคุลีมาร”
หมายเลข B 30 : พระพุทธองค์ปรินิพพานท่ามกลางพระสาวก ไม่ปรากฏตัวอักษร

ส่วน C

เป็นภาพวาดระหว่างช่องหน้าต่างมีจำนวน 8 ช่อง เขียนเรื่องฎีกาพาหุง เริ่มจากผนังด้านขวามือพระประธานที่ติดกับทิศตะวันออกเวียนตามเข็มนาฬิกาจบจบผนังสุดท้ายด้านซ้ายมือพระประธานที่ติดกับทิศเหนือ หมายเลขภาพ C1-C8

หมายเลข C1 : พระพุทธองค์ทรงเรียกนางธรณีมาเป็นพยานและทรงปราบพระยามาร เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร แสดงการปราบพระยาามารที่เข้าผจญพระพุทธองค์เพื่อขวางการตรัสรู้ด้วย “ทานบารมี”

หมายเลข C2 : พระพุทธองค์ทรงปราบอาฬวกะยักษ์ที่กำลังเงื้อกระบองข่มขู่พระพุทธองค์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ แสดงการปราบอาฬาวกะยักษ์ที่ได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณให้จับสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาในเขตของตนกินได้ด้วย “ขันติธรรม”


หมายเลข C3 : พระพุทธองค์ทรงยื่นพระหัตถ์แตะช้างนาฬาคีรีที่กำลังหมอบ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี แสดงการปราบช้างนาฬาคิรีที่เมาและตกมันหมายจะสังหารพระพุทธองค์ด้วย “เมตตาธรรม”

หมายเลข C4 : องคุลีมาลพนมมือไหว้พระพุทธองค์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะโจรองคุลีมาล แสดงการปราบมหาโจรองคุลีมารถือดาบหมายจะสังหารพระพุทธองค์ด้วย “อิทธิฤทธิ์”


หมายเลข C5 : หนูกัดเชือกจนทำให้ท่อนไม้ที่นางจิญจมาณวิกาซ่อนไว้หล่นลงมาต่อหน้าผู้คน ก่อนหน้าที่นางกล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้ทำให้นางตั้งครรภ์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา แสดงการปราบนางจิญจมาณวิกาหญิงแพศยาด้วย “สันติธรรม”

หมายเลข C6 : สัจจะกนิครณถ์กำลังถกเถียงกับพระพุทธองค์ด้วยวาทะ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์ แสดงการปราบสัจจะกนิครณถ์เจ้าลัทธิด้วย “ปัญญา”


หมายเลข C7 : พระโมคคัลลานะทูลพระพุทธองค์เพื่อปราบพระยานาคนันโทปนันทะ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ แสดงการปราบนันโทปนันทะด้วย “ฤทธิ์สู้ฤทธิ์”


หมายเลข C8 : พระพุทธองค์เทศนาโปรดพกาพรหมที่หลงผิดคิดว่าตนนั้นบรรลุอยู่คงทนเป็นนิรันดร์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม แสดงการปราบพกาพรหมหลงผิดด้วย “ญาณ”

ผนังสกัดตรงข้ามพระประธานเหนือบานประตู

หมายเลข D1 : เป็นตอนเทโวโรหณะ ผนังระหว่างประตู

หมายเลข D2 : เป็นภาพภิกษุแบบเหมือนจริงจำนวน 3 รูป ได้แก่ หลวงพ่อปลื้ม หลวงพ่อแสง และหลวงตาปั่นซึ่งเป็นภิกษุรูปสำคัญของวัด พระอธิการปั่น เขมะเตโม เก่งเรื่องอักขระปลุกเสกเลขยันต์หลวงปู่ปลื้มเก่งด้านการรักษาคนด้วยยา หลวงปู่แสงมีความเชี่ยวชาญด้านการอาบน้ำมนต์ (สัมภาษณ์พระปลัดไพรัตน์ ทันฺตจจิตฺโต 21 เมษายน 2565)

มายเลข D3 : ผนังสกัดหลังพระประธาน เหนือบานประตู เป็นภาพต้นโพธิ์

เพดาน


มีภาพที่วาดทับของเดิมแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 5 ช่อง เล่าเรื่องตำราพรหมชาติคล้ายวัดชีปะขาว เริ่มจากทิศตะวันออก E1 ไล่ไปทางทิศตะวันตก (พระประธาน) E5 เชื่อว่าเดิมทุกช่องใหญ่ตีตารางเป็นช่องย่อย ๆ  9-15 ช่อง ยกเว้นช่องภาพ E4 ที่เขียนตัวภาพโดยไม่ได้ตีช่องตาราง ภาพเขียนโดยรวมมีพื้นหลังสีขาวนวล แต่ละช่องเล็กมีการเขียนตัวภาพขนาดใหญ่พร้อมตัวอักษรกำกับเรื่อง ช่องที่ E3 ระบุว่าพระอธิการปลื้ม เป็นผู้จัดการ (ให้วาด-คณะผู้วิจัย) และระบุปีที่สร้าง คือ ปีฉลู พ.ศ. 2480 แม้ว่าจะเป็นการเขียนขึ้นใหม่ทับของเก่าหลังไฟไหม้ พ.ศ. 2554

หมายเลข E1 : แต่ละช่อง แถวแรกเขียนภาพกษัตริย์ มีตัวอักษร “เดือน 12 แปลงเปน พระยา” ภาพวิทยาธร มีตัวอักษร “เดือน 11 แปลงเปนวิชาธร” ภาพยักษ์รูปกายสีเขียว มีตัวอักษร “เดือน 10 แปลงเปนยัก” และภาพฤษี มีตัวอักษร “เดือน 9 แปลงเปนฦาษี” แถวถัดลงมาเป็นภาพชีปะขาว มีตัวอักษร เดือน 2 แปลงเปนตาผ้าขาว” ภาพวานร มีตัวอักษร “เดือน 1 แปลงเปนวานร” ภาพแรด มีตัวอักษร “เดือน 7 แปลงเปนแรต” ภาพจระเข้ มีตัวอักษร “เดือน 8 แปลงเปนตะเฆ่” แถวถัดลงมาเป็นภาพเด็ก มีตัวอักษร “เดือน 3 แปลงเปนเด็ก” ภาพพระอินทร์ มีตัวอักษร “เดือน 4 แปลงเปนพระอินทร์” ภาพยักษ์รูปกายสีแดง มีตัวอักษร “เดือน 5 แปลงเปนยัก” และภาพพระยานาค มีตัวอักษร “เดือน 6 แปลงเปนนาค” ตรงกลางเขียนรูปเทวดาขนาดใหญ่ มีตัวอักษร “รูปห้องนี้เรียกว่ากรุงภาลีแปลงกาย”“ภาพองค์ยืนกลางนี้ คือองค์เจ้ากรุงภาลี” “ข้าพเจ้าแปรงตัวใด้ 12 อย่างตั้งแต่เดือน 5 ไป” ภาพดังกล่าวเป็นคติความเชื่อเรื่องกรุงพาลีแปลงกาย พิธีจัดตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ ตามที่ปรากฏในตำราพรหมชาติ

หมายเลข E2 : แบ่งเป็น 15 ช่อง แต่ละช่องเขียนภาพบุคคลคู่กับสัตว์และต้นไม้ที่มีไห 3 ใบวางอยู่โคนต้น รายละเอียดดังนี้ แถวบนสุดภาพผู้หญิงยืนจับหัวสุนัข มีตัวอักษร “ปีจอ ขี่สุนัข ธาตุดิน ต้นสำโรง” ภาพยักษ์สีเขียวขี่ไก่ มีตัวอักษร “ปีระกาขี่ไก่ ธาตุเหล็ก ฝันอยู่ต้นยาง” ภาพยักษ์สีแดงขี่ลิง มีตัวอักษร “ปีวอกขี่ลิง ธาตุเหล็ก มิ่งฝันอยู่ต้นขนุน” ภาพเทวสตรีขี่แพะ มีตัวอักษร “แพะ มแมธาตุ ฝันอยู่ต้นทอง”ภาพเทวสตรีรูปกายสีเขียวขี่ม้า มีตัวอักษร “มะเมีย ธาตุไฟ ขี่ม้า ฝันอยู่ต้นกล้วย” ถัดลงมาแถวล่างภาพมนุษย์ผู้หญิงขี่หมู มีตัวอักษร “ปีกุนขี่หมู ธาตุน้ำ ต้นบัวหลวง”​ ภาพผู้ชายขี่งู มีตัวอักษร “มะเส็ง ธาตุไฟ งูเล็ก ฝันต้นรัง” แถวล่างสุดภาพเทวดาขี่หนู มีตัวอักษร “ปีชวด หนูเทวดา ผู้ชายธาตุน้ำ ต้นมะพล้าว” ภาพมนุษย์ผู้ชายขี่วัวปีฉลู มีตัวอักษร “มนุดผู้ชายขี่วัว มิ่งฝันอยู่ต้นตาน ธาตุดิน” ภาพยักษินีขี่เสือ มีตัวอักษร “ปีขานขี่เสือ ธาตุใม้ ฝันอยู่ต้นขนุน” ภาพมนุษย์ผู้หญิงขี่กระต่าย มีตัวอักษร “ปีเถาะ ธาตุใม้ขี่กะต่าย ฝันอยู่ต้นงิ้ว” และภาพเทวดาขี่พระยานาค มีตัวอักษร “มะโรง ธาตุทอง งูไหญ่ ฝันอยู่กอไผ่” ภาพดังกล่าวหมายถึงความเชื่อเรื่องปีนักษัตร


หมายเลข E3 : มีจำนวน 12 ช่อง แต่ละช่องเขียนภาพ ดังนี้ แถวบนสุดเป็นกลุ่มพระภิกษุ 5 รูป มีตัวอักษร “ปัญจะพุทธา 5” ภาพกลุ่มพระพรหม 5 องค์ มีตัวอักษร “ปัญจะพรหมาสหบดี 5” ภาพพระอินทร์ 5 องค์นั่งถือพระขรรค์ มีตัวอักษร “ปัญจะอินทรา 5” ภาพเทวดารูปกายเขียวนั่งพนมมือ 5 องค์ มีตัวอักษร “ปัญจะเพ็ชฉลูกัญ 5” แถวถัดลงมาเป็นภาพกลุ่มกษัตริย์ 6 องค์ มีตัวอักษร “ฉวัชชราชา 6” และ “พระอธิการปลื้มเปนผู้จัดการ” ภาพนาค 7 ตัว เกี่ยวพันกัน มีตัวอักษร “สัตตะนาเค 7” ภาพพระภิกษุนั่งพนมมือ 8 รูป มีตัวอักษร “อัตถอรหันตา 8” ภาพเทวดา 9 องค์ มีตัวอักษร “นวะเทวา 9” แถวล่างสุดเป็นภาพกษัตริย์ 2 องค์ มีตัวอักษร “ท์เวราชา 2” ภาพยักษ์สีชมพูนอน 1 ตน มีตัวอักษร “เอกะยักขา 1” และ “สร้างตั้งแต่เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2480” ภาพเทวดา 4 องค์ นั่งพนมมือ มีตัวอักษร “จตุเทวา 4” และภาพสิงห์ 3 ตัว มีตัวอักษร “กรีนิเห 3” ภาพดังกล่าวหมายถึงความเชื่อเรื่องเสริมชะตา ตรีนิสิงเห ตามตำราพรหมชาติ


หมายเลข E4 : ไม่มีการแบ่งเส้นตาราง แถวบนสุดเป็นภาพเทวดารูปกายสีฟ้ากำลังขี่พระยานาค มีตัวอักษร “พระเกต 9 ปี” ภาพเทวดารูปกายสีแดงขี่สิงห์ มีตัวอักษร “พระอาทิตย์ 6 ปี” ภาพเทวดาขี่ม้าสีแดง มีตัวอักษร “จันทร์ 15 ปี” ภาพฤษีนั่ง มีตัวอักษร “ฤาษีหมอดู” ภาพเทวดารูปกายสีเขียวขี่หนู มีตัวอักษร “พระเสาร์ 10 ปี” ภาพเทวดารูปกายสีเขียวขี่กวาง มีตัวอักษร “พระศุกร์ 21 ปี” ภาพเทวดารูปขี่กระบือ มีตัวอักษร “พระอังคาร 8 ปี” ภาพราหู มีตัวอักษร “พระราหู 12 ปี” ภาพเทวดาขี่วัว มีตัวอักษร “พระหัศบดี 19 ปี” และภาพเทวดาขี่ช้าง มีตัวอักษร “พระพุฒ 17 ปี” ภาพดังกล่าวหมายถึงตำราเทวดาเสวยอายุ


หมายเลข E5 : เป็นตาราง 9 ช่อง เขียนภาพภิกษุกำลังนั่งพนมมือช่องละ 1 รูป จำนวน 8 ช่อง ทุกรูปหันหน้าเข้าหาภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งในวงกลมที่อยู่ตรงกลาง แต่ละช่องย่อยมีตัวอักษรกำกับ ได้แก่ “พระมหากัสสปอยู่ทิศอาคเน พระอุบาลีอยู่ทิศหรดี พระอัญญาโกญทัญญะอยู่ทิศบูรพา พระสารีบุตรอยู่ทิศทักสิน พระโมคคัลลาอยู่ทิศอุดร พระอานนท์อยู่ทิศปัจจิมพระภควัมปติอยู่ทิศพายัพ พระราหุลอยู่ทิศอิสาน” ความหมายของภาพคือ พระอรหันต์ประจำทิศทั้งแปดของพระพุทธองค์และเป็นส่วนหนึ่งของยันต์ตรีนิสิงเหอีกด้วย

ศาลาการเปรียญ

มีขนาด 7 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่คอสอง มีภาพวาดด้วยสีฝุ่นบนแผงไม้ประดับโดยรอบแต่ละภาพมีความยาวไม่เท่ากัน รวมทั้งหมด 32 ภาพ เริ่มจากทิศเหนือด้านที่ติดกับทิศตะวันตกเป็นหมายเลข 1 เวียนตามเข็มนาฬิกา ภาพแต่ละภาพประกอบด้วยไม้กระดานขนาดเล็กวางเรียงกันแนวนอนจำนวน 5 แผ่น โครงสีที่ใช้โดยรวม คือ สีแดง เหลือง ฟ้า เทา ดำ และขาว ฉากที่ต้องการเน้นมีการเขียนลวดลายกระหนกแบบไทยประเพณี การเขียนภาพบุคคลโดยรวมเป็นแบบร่วมสมัย บางภาพมีการใช้เส้นขอบฟ้าหรือทัศนียวิทยาเป็นฉากหลังเพื่อแสดงระยะใกล้-ไกล องค์ประกอบภาพโดยรวมคล้ายภาพเขียนชุดพระมาลัยของ พระเทวาภินิมมิต แต่ละภาพมีตัวอักษรหมายเลข เนื้อหาภาพ ชื่อช่างเขียน ส. การวิชา รายนามผู้บริจาคทรัพย์ และจำนวนเงิน ลำดับหมายเลขภาพตามแผนผัง


หมายเลข 1 : ภาพพระมาลัยกำลังนั่งสมาธิเข้าฌานต่อหน้าพระพุทธเจ้าโดยมีเหล่าเทวดาแวดล้อม มีตัวอักษร “พระมาลัยเทพเถรเจ้าชาวลังกากำลังเข้าฌาน”


หมายเลข 2 : ภาพพระมาลัยถือตาลปัตรแหวกปฐพีด้านล่างมีสัตว์นรกจำนวนมากพนมมือไหว้มีตัวอักษร “สำแดงปาฏิหาริย์แหวกพื้นปถพีไปโปรดสัตว์นรก”

หมายเลข 3 : ภาพพระมาลัยยืนถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระยายมราช มีตัวอักษร “พญายมราชยกหัตถ์นมัสการ…”

หมายเลข 4 : พระมาลัยนั่งบนโขดหินเทศนาโปรดสัตว์นรก ไม่ปรากฏตัวอักษรกำกับเรื่อง

หมายเลข 5 : พระมาลัยนั่งถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระยายามราช ด้านบนเป็นภาพการลักขโมยควาย ด้านล่างเป็นภาพนักโทษถูกมัดเสียบบนไม้และอีกามาจิก มีตัวอักษร “บุพพกรรมของสัตว์นรกที่เคยทำอทินนาทาน (ลักทรัพย์)”


หมายเลข 6 : ภาพพระมาลัยนั่งถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระยายามราชอยู่ด้านขวาของภาพ ด้านบนเป็นภาพผู้หญิงเรียกผู้ชายโพกผ้าแบบแขกให้เข้ามาในบ้าน ขณะที่สามีพาฝูงควายไปทำนา ด้านล่างเป็นภาพการลงโทษผู้ที่ทำผิดด้วยการล่วงประเวณีด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ปีนต้นงิ้ว มีตัวอักษร “บุพพกรรมของสัตว์นรกที่เคยทำกามาสุมิจฉา (ล่วงประเวณี)”

หมายเลข 7 : ภาพพระมาลัยถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระยายามราช ด้านบนเป็นภาพผู้ชายแต่งกายแบบแขกให้ผู้ชายอีกคนหนึ่งแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ มีตัวอักษร “บุพพกรรมของสัตว์นรกที่เคยประพฤติมุสาวาท (ลวงโลก)”

หมายเลข 8 : ภาพพระมาลัยถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระยายามราชท่ามกลางสัตว์นรก ด้านบนเป็นภาพผู้ชายแต่งกายแบบแขกดื่มสุราและวิวาทกัน ด้านล่างเป็นรูปผู้ชายถูกจับกรอกน้ำร้อนจากกระทะทองแดง มีตัวอักษร “บุพพกรรมของสัตว์นรกที่เคยเสพสุรา (เมรัย)”

หมายเลข 9 : ภาพพระมาลัยถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระยายามราชทางด้านซ้าย ด้านบนเป็นภาพสตรีกำลังให้นมบุตร ตรงกลางเป็นภาพคนถูกลงโทษโดยโยนลงในกองไฟ มีตัวอักษร “บุพพกรรมของสัตว์นรกที่ไม่มีกตัญญูรู้คุณบิดามารดา”

หมายเลข 10 : ภาพสัตว์นรกทั้งชายและหญิงนั่งไหว้ขอให้พระมาลัยนำข้อความไปบอกญาติ ๆ มีตัวอักษร “สัตว์นรกมาเฝ้าพระมาลัยสั่งความไปถึงวงศาคณาญาติ”

หมายเลข 11 : ภาพพระมาลัยถือตาลปัตรเล่าความให้บรรดาญาติของสัตว์นรกฟัง มีตัวอักษร “พระมาลัยกลับจากนรกแล้วเล่าความไห้หมู่ญาติสัตว์นรกฟัง”

หมายเลข 12 : ภาพกลุ่มคนกำลังทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์และพระมาลัยเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สัตว์นรก มีตัวอักษร “…กลางบ้านอุทิศส่วนกุศลไปให้…”

ทิศตะวันออก

หมายเลข 13
: ภาพชายคนหนึ่งถวายดอกบัว 8 ดอกให้พระมาลัย ไม่ปรากฏตัวอักษร

หมายเลข 14 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ตรงกลางภาพพอมองเห็นพระมาลัยเหาะท่ามกลางท้องฟ้า ด้านบนเป็นปราสาท มีตัวอักษร “…มาลัย…(เพื่อบูชาพระเกตุเจดีย์)”

หมายเลข 15 : พระมาลัยนั่งถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระอินทร์ ด้านหลังเป็นเจดีย์จุฬามณี มีตัวอักษร “…กับพระมาลัย”

หมายเลข 16 : ด้านซ้ายเป็นพระมาลัยนั่งถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระอินทร์และกลุ่มเทวดา 7 องค์ ถือดอกบัว ด้านล่างเป็นคนให้อาหารกา มีตัวอักษร “พระอินทร์บอกบุพพากรรมของเทวดาที่เคยให้ทาน (อาหารกา)”

ทิศใต้

หมายเลข 17 : ด้านซ้ายล่างเป็นพระมาลัยสนทนาธรรมกับพระอินทร์ ด้านบนเป็นกลุ่มเทวดาถือดอกบัว ด้านขวาเป็นภาพคนให้อาหารเด็กเลี้ยงโค มีตัวอักษร “บุพพกรรมของเทวดาที่เคยให้ทานอาหารเด็กเลี้ยงโค”

หมายเลข 18 : ด้านขวาเป็นพระมาลัยนั่งถือตาลปัตรสนทนาธรรมกับพระอินทร์ที่ชี้ชวนให้ดูชายหนุ่มกำลังใส่บาตรอยู่หน้าบ้าน มีเทวดาเหาะบนก้อนเมฆ มีตัวอักษร “บุพพกรรมของเทวดาที่เคยใส่บาตรสามเณร”

หมายเลข 19 : ด้านล่างตรงกลางเป็นภาพคนกำลังเลี้ยงอาหารพระ มีเทวดาเหาะบนก้อนเมฆ มีตัวอักษร “บุพพกรรมของเทวดาที่เคยถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์”


หมายเลข 20 : ด้านบนพระมาลัยและพระอินทร์มองดูเหล่าเทวดาเหาะมานมัสการพระเจดีย์ มีดอกไม้โปรยปราย ด้านล่างเป็นภาพคนให้ทาน ตัวอักษรบรรยายภาพลบเลือน

หมายเลข 21 : ด้านบนเป็นเหล่าเทวดากำลังเหาะบนสวรรค์ มีพระมาลัยและพระอินทร์มองดู ด้านล่างเป็นภาพกลุ่มคนกำลังทำงาน ตัวอักษรบรรยายภาพลบเลือน

หมายเลข 22 : พระศรีอาริย์ประทับนั่งบนดอกบัว ห้อมล้อมด้วยเทวดา พื้นหลังมีรัศมีวงกลมแผ่ออกจากพระศรีอาริย์ มีตัวอักษร “ศรีอารย์โพธิสัตว์ เหาะมา…..”

หมายเลข 23 : ด้านบนเป็นภาพพระศรีอาริย์สนทนาธรรมกับพระมาลัย ด้านล่างเป็นกลุ่มคนกำลังฆ่าฟันกัน มีตัวอักษร “…แจ้งแก่พระมาลัยว่าภายน่าศีลธรรมจะเสื่อม…”

หมายเลข 24 : ด้านบนเป็นภาพคนจำศีลในถ้ำ ด้านล่างเป็นฝนกำลังตกชะล้างซากศพ มีตัวอักษร “มนุษย์เดนตายไปจำศีลภาวนาในถ้ำ ฝนจะตกลงมาล้างซากอศุภ”
หมายเลข 25 : ภาพกลุ่มคนเงยหน้าแสดงอาการดีใจที่มีแก้วแหวนเงินทองร่วงลงมาจากฟ้า มีตัวอักษร “ต่อมนุษย์เจริญศีลธรรมยิ่งขึ้น ฝนเงินฝนทองจะโปรยลงมาจากสวรรค์”
หมายเลข 26 : ภาพพระศรีอาริย์ประทับนั่งบนดอกบัวเหาะเหนือเมือง มีตัวอักษร “เมื่อนั้นพระศรีอารย์จะจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”
หมายเลข 27 : ภาพกลุ่มคนกำลังเก็บถุงสมบัติที่ห้อยลงมาจากต้นกัลปพฤกษ์ ตัวอักษรลบเลือน
หมายเลข 28 : ภาพสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน มีตัวอักษร “สิงสาฬาสัตว์และมนุษย์จะมีเมตตาสามัคคีสนิทสนมกัน”


หมายเลข 29 : ภาพพระศรีอาริย์ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ มีตัวอักษร “ครั้นแล้วพระศรีอารย์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า (ที่ควงไม้กากะทิง)

หมายเลข 30 และ 31 : มีม่านบัง ไม่สามารถถ่ายภาพได้

หมายเลข 32 : พระสงฆ์นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ในศาลาการเปรียญ มีกลุ่มบุคคลนั่งฟังพระธรรม มีตัวอักษร “มหาชนชาวไทยชวนกันทำบุญให้ทานฟังธรรมปรารถนาพบพระศรี(อารย์)”

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
เทพ สาริกบุตร, บาง เสมเสริมสุข และอุระคิน วิริยะบูรณะ. (2521). พรหมชาติฉบับราษฎร์ ประจำบ้าน ดูด้วยตนเอง. กรุงเทพฯ: ลูก ส.ธรรมภักดี.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดแก้วตะเคียนทอง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต