MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดกลาง

ที่ตั้ง
วัดกลางตั้งอยู่ริมถนนหมายเลข 340 สายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี เลขที่ 129 หมู่ 6 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ประวัติ
วัดกลาง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2430 เป็นวัดเก่าแก่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เคยร้างและยกเป็นวัดรวมทั้งมีพระสงฆ์เมื่อ พ.ศ. 2430 เดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดโพธีกรทองนพคุณ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดกลาง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2449 ตัววัดหันหน้าไปทิศตะวันออกติดถนนใหญ่ ด้านหลังวัดติดกับแม่น้ำท่าจีน

จากการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังของกรมศิลปากรโดย วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 พบว่าวัดกลางเป็นวัดเก่าแก่แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างตั้งแต่สมัยใด เข้าใจว่าคงเจริญมาแล้วครั้งหนึ่งและรกร้างไปเหลือเพียงโบราณวัตถุ 2 อย่าง คือ เจดีย์และวิหาร ต่อมาพระครูภาวนาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสได้ซ่อมแซมพระอุโบสถโดยเปลี่ยนเครื่องบนใช้กลอนระแนงและเฉลียงหน้าอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องและให้ช่างเขียนภาพตอนหน้าทิศตะวันออกที่ฝาผนัง ส่วนพื้นภายในและภายนอกเทซีเมนต์ ใน พ.ศ. 2456 พระครูภาวนาภิมณฑ์ ได้หารือกับชาวบ้านเห็นว่าศาลาเก่าคับแคบเกินกว่าจำนวนคนที่จะมาทำบุญจึงคิดขยายออกและให้ทำช่อฟ้าใบระกาตามแบบโบราณ บรรดาท่านทั้งหลาย เช่น นายมี นายมาต นายชม นายหลี นายทองศุข นายเหล่งไถ่ พระยาสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองและประชาชนจึงได้สร้างศาลาการเปรียญเมื่อ พ.ศ. 2456 มีขนาดใหญ่ 8 วา 1 ศอก 7 นิ้ว เฉลียงยาว 12 วา 11 นิ้ว สูงจากพื้นดิน 3 ศอก 5 นิ้ว ลงมือก่อสร้าง พ.ศ. 2457 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2459 ใน พ.ศ. 2461 ได้จ้างช่างชื่อนายทัดเขียนรูปพระปฐมสมโพธิกถาที่เสาร่วมใน ทำกระจังหน้าบันและเทปูนศาลาใหญ่ ต่อมาศาลาการเปรียญหลังเดิมถูกรื้อจึงนำคอสองที่มีงานจิตรกรรมมาติดไว้ที่ศาลาการเปรียญหลังใหม่ จากภาพถ่ายเก่าที่ปรากฏในรายงานการสำรวจ พ.ศ. 2529 แสดงว่าศาลาการเปรียญหลังปัจจุบันถูกยกพื้นให้สูงขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เนื่องจากวัดกลางด้านหลังวัดอยู่ติดแม่น้ำท่าจีนจึงทำให้น้ำท่วมบ่อยครั้ง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่คณะผู้วิจัยลงสำรวจพื้นที่พบว่าภายในวัดยังมีร่องรอยน้ำท่วมใหญ่เช่นกัน
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง

จากการสำรวจจิตรกรรมในวัดกลาง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 และมกราคม พ.ศ. 2565 พบว่างานมีงานจิตรกรรมในอาคารอื่น ๆ นอกจากศาลาการเปรียญอีกด้วย ได้แก่ พระอุโบสถเก่า


บริเวณคอสองเหลือภาพจำนวน 2 ภาพ ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนพุทธประวัติตอนปรินิพพาน



ในขณะที่พระวิหารเก่า ผนังโดยรอบแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจำนวน 14 ช่อง แต่ละช่องเขียนภาพเวสสันดรชาดกกัณฑ์ที่ 1-13 มีตัวอักษรบอกชื่อกัณฑ์และจำนวนคาถากำกับ ส่วนอีกหนึ่งช่องที่อยู่ด้านหลังพระประธานเขียนภาพปฐมเหตุพระเวสสันดร จิตรกรรมที่อาคารทั้งสองหลังนี้เป็นฝีมือช่างรุ่นใหม่โดยภาพเขียนในพระอุโบสถเก่าเขียนภาพบุคคลแต่งกายเลียนแบบศิลปะอินเดีย ไม่ใช่ฝีมือคราวเดียวกันกับที่พระครูภาวนาภิมณฑ์ให้ช่างเขียนภาพตอนหน้าทิศตะวันออกที่ฝาผนังดังที่กล่าวไปแล้ว ในขณะที่พระวิหารเก่ามีการวางภาพแยกขาดจากกันเป็นตอน ๆ คล้ายกับภาพพิมพ์ของเหม เวชกร


ศาลาการเปรียญที่ตั้งจิตรกรรมเป็นอาคารทรงไทยสร้างด้วยไม้แบบศาลาโถงยกพื้นใต้ถุนสูงมีขนาด 7 ห้อง ปัจจุบันติดลูกกรงเหล็กรอบด้าน หลังคาศาลาการเปรียญเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องลอน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปิดทองประดับกระจกหน้าบันด้านหน้าและด้านหลังแกะสลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยลายกระหนก

จากการสำรวจอาคารของกรมศิลปากรโดย วรรณิภา ณ สงขลา และคณะเมื่อ พ.ศ. 2529 พบว่าศาลาการเปรียญมีความกว้าง 14.80 เมตร ยาว 28.80 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 บริเวณคอสองของศาลาการเปรียญมีจิตรกรรมบนแผงไม้เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่นำมาจากศาลาการเปรียญหลังเดิม แต่ศาลาการเปรียญหลังใหม่มีขนาดใหญ่กว่าศาลาหลังเดิม 2 ห้อง จึงทำให้แผงไม้คอสองที่จิตรกรรมประดับไว้ไม่ครบทุกช่องเพราะจำนวนห้องศาลาการเปรียญหลังใหม่นี้ยาวกว่าศาลาหลังเดิม

ปัจจุบันเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 จิตรกรรมคอสองเหลือจำนวน 12 แผ่น เป็นงานเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผงไม้ มีการรองพื้นก่อนระบายสี วรรณะสีโดยรวมเป็นวรรณะเย็น ใช้สีจำนวนหลายสี เช่น สีน้ำตาล สีขาว สีคราม สีเขียว ฯลฯ สีน้ำตาลใช้รองพื้นดิน โขดหิน และตัวอาคาร รวมทั้งต้นไม้ใบไม้ ท้องฟ้าเขียนด้วยสีคราม ใช้วิธีระบายสีเรียบเสมอกันทั่วทั้งแผ่น การเขียนภาพบุคคลใช้สีขาวในการเขียน ภาพสถาปัตยกรรมมีขนาดใหญ่ทั้งแบบปราสาทและบ้านเรือนราษฎรโดยใช้สีน้ำตาลอ่อนและตัดเส้นด้วยสีดำ บางภาพเขียนตัวอาคารด้วยสีขาวและตัดเส้นด้วยสีดำ การแต่งกายของบุคคลที่เป็นราษฎรทั่วไปมักนุ่งผ้าโจงกระเบนสีเขียว สีดำ สีน้ำตาล สตรีนิยมห่มสไบเฉียง ส่วนจีวรของพระพุทธเจ้าและพระสาวกเขียนด้วยสีน้ำตาลเข้ม ภาพต้นไม้ใช้เทคนิคการเขียนด้วยวิธีการกระทุ้งสีดำและลงสีทับด้วยสีน้ำตาล ภาพโขดหินเขียนด้วยสีอ่อนและมีการไล่น้ำหนักสี

เรียงลำดับจิตรกรรมโดยเริ่มจากทิศเหนือเวียนทวนเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันตก ตามหมายเลขตามแผนผัง และอธิบายเนื้อหาแต่ละภาพ ดังนี้
จิตรกรรมฝาผนัง
ผนังด้านทิศเหนือ คอสองบริเวณ 2 ช่องแรกที่ติดกับทิศตะวันออกไม่มีภาพเขียนแต่เป็นรายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างศาลา

หมายเลข 1 : ด้านบนขวาพระนางสิริมหามายายืนเหนี่ยวกิ่งไม้เป็นพุทธประวัติตอนประสูติ ด้านบนซ้ายเป็นพระเจ้าสุุทโธทนะทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญพร้อมด้วยเจ้าชายสิทธัตถะแสดงปาฏิหาริย์ใต้ต้นไม้ ตรงกลางภาพเป็นพิธีอภิเษกของเจ้าชายสิทธัตถะและพระนางพิมพา ถัดออกมาที่มุมด้านล่างซ้ายค่อนข้างลบเลือนเป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงพบเทวทูตทั้งสี่


หมายเลข 2 : พุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ด้านขวาเป็นฉากพระมหาปราสาท พระพุทธเจ้ามองเห็นเหล่านางกำนัลหลับนอนระเกะระกะ ทรงร่ำลาพระนางพิมพา ตรงกลางภาพเป็นตอนจากเสด็จออกจากวังโดยมีนายฉันนะและม้ากัณฐกะรอที่ประตูเมือง และด้านซ้ายมือเป็นตอนพระยามารยืนขวางห้ามพระองค์ไม่ให้ออกบวช


หมายเลข 3 : ด้านขวาเป็นพระพุทธเจ้าทรงตัดพระเมาลีริมแม่น้ำอโนมา พระอินทร์นำพระเมาลีไปประดิษฐานที่เจดีย์จุฬามณี ตรงกลางภาพเป็นตอนที่พระองค์ทรงศึกษากับพระอาจารย์อาฬารดาบสและอุทกดาบส ด้านซ้ายเป็นตอนพระพุทธองค์ทรงมีปัญจวัคคีย์มาปรนนิบัติ เหนือขึ้นไปเป็นตอนทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอม


หมายเลข 4 : เป็นเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้ ด้านขวาบนพระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณสามสาย ตรงกลางภาพเป็นตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส  เมื่อเสวยเสร็จแล้วทรงอธิษฐานลอยถาด ด้านซ้ายเป็นตอนที่โสตถิยพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้าคา จากนั้นเป็นภาพพระองค์ทรงนำฟ่อนหญ้าคามาปูลาดเป็นอาสนะที่ใต้ต้นโพธิ์


หมายเลข 5 : เป็นเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ ด้านขวาเป็นภาพธิดาพระยามารทั้ง 3 ร่ายร่ำยั่วยวนพระพุทธองค์ ตรงกลางเป็นเหตุการณ์ตอนมารผจญ ด้านซ้ายเป็นพระพรหมทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม และฉากพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่สาธุชนทั้งหลาย


ผนังด้านทิศตะวันตก
หมายเลข 6 : เป็นแผ่นภาพขนาดยาวเป็นพุทธประวัติต่อเนื่องกัน
ด้านขวา เป็นตอนยศกุลบุตรเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตทางโลกจึงคิดออกบวช
ตรงกลาง เป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงโปรดยศกุลบุตร
ด้านซ้าย พระพุทธองค์ทรงปราบพระยานาคและชฎิล 3 พี่น้อง ต่อจากนั้นเป็นตอนเสด็จโปรดพุทธบิดา ทรงแสดงธรรมแก่พระญาติ และด้านซ้ายสุดของภาพเป็นพระนางพิมพาสยายพระเกศาเช็ดพระบาท






ผนังด้านทิศใต้

หมายเลข 7
: ด้านขวาเป็นพุทธประวัติตอนทรงเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถัดออกไปเป็นตอนเทโวโรหณะ พระพุทธองค์เสด็จกลับจากสวรรค์ดาวดึงส์โดยมีชาวเมืองสังกัสสนครมาต้อนรับ ด้านล่างของภาพแลเห็นสัตว์นรกที่อยู่อย่างทุกข์ทรมาน


ผนังด้านทิศเหนือ

หมายเลข 8
: ผนังค่อนข้างลบเลือน ตัวละครสำคัญ เช่น พระอินทร์ที่รูปกายสีเขียวค่อนข้างหลุดร่อน เนื้อหาโดยรวมเป็นพุทธประวัติตอนทรงทรมานพระยาชมพูบดี ด้านขวาของภาพเป็นพระอินทร์รับพุทธฎีกาจากพระพุทธองค์ไปเชิญพระยาชมพูบดี ถัดไปทางด้านซ้ายเป็นการเดินทางโดยช้างผ่านตลาดน้ำและเมืองอันวิจิตรที่พระพุทธองค์ทรงเนรมิตไว้ ด้านซ้ายสุดเป็นตอนพระพุทธองค์ทรงเนรมิตองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิประทับนั่งในพระมหาปราสาทโดยมีพระยาชมพูบดีนั่งเฝ้าและมีภาพขุมนรกปรากฏอยู่ด้านล่าง


หมายเลข 9 : ผนังค่อนข้างลบเลือน ด้านขวาเป็นพระพุทธองค์ทรงประทับนั่งคล้ายเทศนาให้กับชายผู้หนึ่ง ตรงกลางเป็นหมู่เรือนคหบดี ด้านบนเป็นพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์มีพระอินทร์และพรพรหมมาเข้าเฝ้า ด้านซ้ายเป็นภาพพระพุทธองค์และแถวพระสงฆ์โดยมีพุทธศาสนิกชนกำลังใส่บาตร อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมพระสาวกที่เมืองเวสาลีหรือเล่าพุทธกิจในรอบวันของพระพุทธองค์ ได้แก่ ตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ตอนเย็นทรงแสดงธรรมโปรดมหาชนที่มาเข้าเฝ้า ตอนหัวค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งเก่าและใหม่ ตอนเที่ยงคืนทรงวิสัชชนาปัญหาให้แก่เทวดาชั้นต่าง ๆ และตอนใกล้รุ่งตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถและไม่สามารถบรรลุธรรมได้แล้วเสด็จไปโปรดถึงที่ แม้ว่าหนทางจะลำบาก


หมายเลข 10 : ด้านขวาเป็นพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงประชวร พระอานนท์นำบาตรมาตักน้ำ ตรงกลางเป็นสุภัททะขอเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ถูกห้ามโดยพระอานนท์ ท้ายที่สุดสุภัททะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปสุดท้าย ถัดไปทางซ้ายเป็นพระพุทธองค์ปรินิพพาน


หมายเลข 11 : ผนังค่อนข้างลบเลือน
ด้านขวา เป็นพุทธประวัติตอนพระมหากัสสปะและพระสาวกรูปอื่น ๆ พบอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณทารพเดินมาจึงทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ปรินิพพาน  ตรงกลางเป็นฉากเหตุการณ์ตอนถวายพระเพลิง


ด้านซ้าย เป็นเหตุการณ์ตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ


ผนังด้านทิศตะวันออก

หมายเลข 12 :
ด้านขวา เป็นภาพขบวนเรือสำเภาที่หัวเรือมุ่งเข้าสู่เมืองที่อยู่ทางด้านซ้าย ที่มีกลุ่มอาคาร ต่อด้วยภาพพระพุทธเจ้าขนาบข้างด้วยพระสาวก ถัดออกไปเป็นภาพพระเจดีย์ที่มีพระยามารมาทำลายพิธี อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนพระอุปคุตกันพระยามารมิให้ทำลายพิธีฉลองพระบรมสารีริกธาตุ

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดกลาง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต