วัดลาดหอย
ที่ตั้ง |
---|
วัดลาดหอย ตั้งอยู่ริมถนนหมายเลข 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี เลขที่ 201 หมู่ 5 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย |
ประวัติวัด |
---|
วัดลาดหอย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยมีนายลาดและนางหอยเป็นผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2471 ตัววัดหันหน้าไปทิศตะวันออกมีโรงเรียนวัดลาดหอยคั่นระหว่างถนนใหญ่ ด้านหลังวัดติดกับแม่น้ำท่าจีน จากการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังของกรมศิลปากรโดย วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 พบว่าวัดลาดหอยไม่ปรากฏว่าสร้างตั้งแต่สมัยใด แต่จากการให้สัมภาษณ์ของผู้สูงอายุชื่อนายปริด อุทัยฉาย อายุ 75 ปี (สัมภาษณ์ราว พ.ศ. 2529) ระบุว่าพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งขณะนั้นรื้อไปแล้วสร้างเมื่อ 60 ปีที่แล้ว วัดคงจะตั้งขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันหรือก่อนการสร้างพระอุโบสถเล็กน้อย รวมทั้งวิหารไม้มุงหลังคาหลังเดิมซึ่งขณะนั้นถูกรื้อออกหมดแล้ว ปัจจุบันหลงเหลืองานจิตรกรรมจากการสำรวจ พ.ศ. 2529 จำนวน 2 แห่งคือ ศาลาการเปรียญและหอฉันหรือหอสวดมนต์ |
จิตรกรรมฝาผนัง |
---|
บริเวณคอสองศาลาการเปรียญมีภาพเขียนจำนวน 22 ภาพ เริ่มด้วยภาพหมายเลข A1 ทิศตะวันออกที่ติดกับทิศเหนือเวียนตามเข็มนาฬิกา จนจบห้องภาพหมายเลขที่ 22 หมายเลข A1 : ด้านซ้าย เป็นพุทธประวัติตอนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ด้านขวา เป็นกาฬเทวิลดาบสถวายพยากรณ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงแรกนาขวัญ มีเจ้าชายสิทธัตถะนั่งสมาธิบรรลุฌานใต้ต้นหว้า ด้านบนขวาเจ้าชายสิทธัตถะประพาสอุทยานทอดพระเนตรเทวทูตทั้งสี่ หมายเลข A2 : พุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ด้านซ้าย เจ้าชายสิทธัตถะร่ำลาพระนางพิมพา ทรงเสด็จออกจากพระราชวังโดยมีนายฉันนะ ม้ากัณฐกะ พร้อมด้วยจตุโลกบาททั้งสี่แต่ถูกพระยามารขวางไว้ ด้านขวา เป็นตอนปลงพระเกศาทรงตัดพระเมาลีริมแม่น้ำอโนมา พระอินทร์นำพระเมาลีไปประดิษฐานที่เจดีย์จุฬามณี หมายเลข A3 : ด้านซ้าย ทรงพบพระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์ ด้านขวา เป็นตอนเสด็จเรียนในสำนักอาฬารดาบสและอุทกดาบส หมายเลข A4 : ด้านซ้าย ทรงพบกับปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ถัดออกไปเป็นตอนพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา พระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณสามสายเพื่อชี้ทางสายกลาง ด้านขวา เป็นตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส และทรงอธิษฐานลอยถาด หมายเลข A5 : มุมภาพด้านล่างซ้ายเชื่อมต่อกับภาพหมายเลข A4 เป็นเมืองบาดาลและพระนาคที่รับรู้ถึงคำอธิษฐานของพระองค์ ด้านบนเป็นตอนโสตถิยะพราหมณ์ถวายหญ้าคา ต่อด้วยธิดาพระยามารล่อลวงด้วยการร่ายรำ ด้านขวาเป็นมารวิชัย ตรัสรู้ และเสวยวิมุตติสุขด้วยการประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์และประทับใต้ต้นจิก มีพระยานาคมุจลินทร์ขึ้นมาแผ่พังพานกันลมฝนให้พระพุทธองค์ หมายเลข A6 : ตรงกลาง เป็นพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขใต้ต้นราชายตนะพฤกษ์ มีสองพ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะถวายสัตตูก้อนสัตตูผง สังเกตขบวนเกวียนที่เป็นสัญลักษณ์ของพ่อค้า ด้านขวา เป็นทะเลและเรือสำเภา 3 ลำ ในเรือมีบุษบกประดิษฐานพระโกศทอง เป็นตอนอัญเชิญพระธาตุสังเกตเรือสำเภาประดับธงไตรรงค์ หมายเลข A7 : ด้านซ้าย ท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนาพระพุทธองค์ให้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ถัดออกไปทรงแสดงธรรมโปรดยศกุลบุตร ด้านขวา เป็นตอนแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางหมู่สงฆ์ หมายเลข A8 : ด้านซ้าย พระพุทธองค์ทรงประชวร ซ้ายล่าง เป็นตอนพระอานนท์ไปตักน้ำ ถัดออกมาเป็นสุภัททะขอเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ถูกห้ามโดยพระอานนท์ และพระพุทธองค์ปรินิพพาน หมายเลข A9 : เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ในป่ากำลังเทศนาท่ามกลางเทวดา 5 องค์ หมายเลข A10 : เป็นนาคสองตนกำลังต่อสู้กัน หมายถึงพุทธประวัติตอนพระโมคัลลนะแปลงกายเป็นนาคเพื่อปราบพระยานาคนันโทปะนันทะ หรือฎีกาพาหุง เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามารและหมายเลข A11 : เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปราสาทในป่ากำลังเทศนาท่ามกลางพระสาวกและเทวดา ข้อสังเกต หมายเลข A9-A11 เป็นภาพด้านทิศตะวันตก ไม่ใช่ภาพชุดเดียวกันกับ A1-A8 เนื่องจากวิธีการรองสีพื้นไม้ โครงสีที่ใช้โดยรวม ตัวภาพ และการตัดเส้น ต่างออกไปชัดเจน เป็นภาพที่ถูกวาดขึ้นใหม่อาจวาดด้วยสีน้ำมัน ข้อสังเกต ลักษณะการวาดภาพที่สัมพันธ์กับภาพหมายเลข A18-A22 ซึ่งเป็นชุดฎีกาพาหุงทั้งแปด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าภาพหมายเลข A9 หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนสัจจกะนิครนถ์ที่มาโต้วาทะในป่ามหาวัน หมายเลข A12 : ด้านทิศเหนือ เป็นพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์โปรดชฎิลและพระเจ้าพิมพิสาร ด้านซ้าย พระพุทธองค์ประทับนั่งในโรงเพลิงที่มีพระยานาคพิษร้ายอาศัยอยู่ ถัดมาเป็นชฎิลละทิฐิขอบรรพชา ด้านขวา เป็นพระพุทธองค์เทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนชาวเมือง ข้อสังเกต ภาพวาดตั้งแต่หมายเลข A12 เป็นต้นไปเป็นวาดฝีมือเดียวกันกับ A1-A8 หมายเลข A13 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ด้านซ้ายเป็นพระพุทธองค์และพระสาวกออกบิณฑบาต ถัดมาเป็นเสด็จโปรดพุทธบิดา ต่อด้วยตอนเสด็จโปรดพระนางพิมพาและพระราหุล ในฉากนี้มองเห็นพระนางพิมพาสยายพระเกศาเช็ดพระบาทพระพุทธองค์ ด้านขวาเป็นตอนพระพุทธองค์เสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ท่ามกลางหมู่เทวดาที่มาร่วมฟังพระธรรม หมายเลข A14 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ด้านซ้ายมือเป็นตอนพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ มองเห็นนรกเปิดอยู่ทางด้านล่างซ้าย ตรงกลางเป็นตอนพระยาวัสวดีมารทูลเชิญปรินิพพาน ด้านขวาเป็นตอนพระพุทธองค์และสาวกรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน หมายเลข A15 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ภาพด้านซ้ายเป็นพระมหากัสสปะและพระสาวกอื่น ๆ เดินทางมาเคารพพระบรมศพที่ตั้งอยู่ในมณฑปยอดแหลม ด้านขวาเป็นโทณพราหมณ์ห้ามทัพที่มาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หมายเลข A16 : ด้านซ้ายองค์ประกอบภาพคล้ายกับภาพหมายเลข A12 เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งในศาลามีพระยานาคที่มีพิษร้ายอยู่ด้านข้าง มีชฎิลร้องท้าทายอยู่ด้านข้าง ตรงกลางชฎิลละทิฐิและขอบรรพชา ด้านขวาเป็นพระพุทธเจ้านั่งสมาธิในป่า ด้านข้างมีนายพรานกำลังยิงกวาง คนกำลังห้ามควายไม่ให้ต่อสู้กัน และภาพคนกำลังต่อสู้โดยใช้ต้นตาลและช้างฟาดใส่กัน อาจเป็นปริศนาธรรมที่ยังไม่สามารถตีความหมายของภาพได้ ใต้ภาพตรงกลางปรากฏตัวอักษรด้านล่าง “ท่านพระครูนิ่ม ส้างไว้ในสาสนา พ.ศ. 2462” หมายเลข A17 : ข้อสังเกต ไม่ใช่ภาพชุดเดียวกันกับทั้งสองชุดก่อนหน้า เนื่องจากวิธีการเขียนภาพแสดงทัศนียวิทยา การไล่น้ำหนักแสงเงา โครงสีที่ใช้โดยรวมเป็นฟ้า สีน้ำตาล และสีขาว การเขียนภาพบุคคลเป็นแบบประกอบเล่าเรื่อง ไม่มีลักษณะประดิษฐ์แบบไทยประเพณี มีตัวอักษรใต้ภาพ “พส 2519” อาจหมายถึงปีที่วาดภาพ หมายเลข A18 : เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งในศาลามีพระสาวกล้อมรอบ ตรงกลางเป็นนางจิญจมาณวิกาที่โดนชาวบ้านจับได้ว่านางแกล้งทำเป็นท้องเพื่อใส่ความพระพุทธองค์ หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ข้อสังเกต น่าจะเป็นการวาดด้วยช่างคนเดียวกันกับที่เขียนภาพหมายเลข A9-A11 หมายเลข A19 : ด้านซ้ายเป็นพระพุทธองค์ พระอานนท์ และเหล่าสาวกกำลังออกบิณฑบาต ด้านขวาเป็นพระพุทธเจ้าปราบช้างนาฬาคิรีที่พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยให้มาทำร้ายพระองค์ หมายถึงฎีกาพาหุงตอนทรงชนะช้างนาฬาคิรี หมายเลข A20 : เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำราบองคุลีมาล หมายถึงฎีกาพาหุงตอนพระพุทธองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ชนะโจรชื่อองคุลีมาล หมายเลข A21 : พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะมารที่เข้าจู่โจมพระพุทธองค์ หมายถึงฎีกาพาหุงตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร หมายเลข A22 : เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งเทศนาในศาลาโดยมีอาฬวกะยักษ์นั่งพนมมือฟังพระธรรมอยู่ด้านขวามือของพระพุทธองค์ หมายถึงฎีกาพาหุงตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ข้อสังเกต หมายเลข A20-A 22 ด้านทิศตะวันออก เป็นภาพวาดฝีมือช่างเดียวกันกับภาพหมายเลข A 9-A 11 และ A 18-A 19 คอสองศาลาการเปรียญมีภาพเขียนจำนวน 60 ภาพ เริ่มจากทิศใต้ด้านซ้ายมือเป็นภาพแรกเวียนตามเข็มนาฬิกาไปยังทิศตะวันตก แต่ละภาพมีตัวอักษรบอกหมายเลข ชื่อภาพ ถ้าเป็นเรื่องพระเวสสันดรจะมีจำนวนคาถากำกับไว้ ใต้ภาพมีตัวอักษรระบุชื่อผู้สร้างและการอุทิศผลบุญ ตรกรรมชุดนี้รับอิทธิพลภาพพิมพ์พระยาเทวาภนิมมิตโดยนำมาพิมพ์เป็นภาพพิมพ์สี่สีโดย ส.ธรรมภักดี ลำดับภาพดังนี้ B1 : พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่อหน้าพระญาติศากยวงศ์และพระสงฆ์ หมายถึงต้นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ขณะเดินทางไปโปรดพุทธบิดาที่เมืองกบิลพัสดุ์ มีตัวอักษร “ปฐมเหตุมหาเวสสันดร” ด้านทิศตะวันตก เรื่องทศชาติชาดกและพุทธประวัติ B2 : พระนางผุสดีกำลังขอพรจากพระอินทร์ให้ได้เป็นพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์ มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 1 ทศพร 19 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี B3 : พระเวสสันดรยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์ที่มาทูลขอ มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ 134 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์หิมพานต์ B4 : พระเวสสันดรยกราชรถให้กับพราหมณ์ที่มาทูลขอ มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ 209 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ทานกัณฑ์ B5 : พระเวสสันดรพาพระนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี เดินทางด้วยพระบาทเข้าสู่เขาวงกต มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 4 วันประเวศน์ 57 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์วนประเวศน์ B6 : ชูชกนำนางอมิตดามาเป็นภรรยา มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 5 ชูชก 79 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก B7 : ชูชกหนีพรานเจตบุตรขึ้นไปบนต้นไม้ มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 6 จุลพน 35 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์จุลพน B8 : ชูชกออกอุบายกับอัจจุตฤษีให้บอกทางไปอาศรมของพระเวสสันดร มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 7 มหาพน 80 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพน B9 : พระเวสสันดรเรียกพระกัณหาและพระชาลีให้ขึ้นมาจากสระน้ำ มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 8 กุมาร 101 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร B10 : เสือมาขวางพระนางมัทรีไม่ให้เดินทางกลับถึงอาศรม มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 9 มัทรี 90 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี B11 : พราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 10 สักก บรรพ 43 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์สักกบรรพ B12 : เทพบุตรและเทพธิดาแปลงกายมาดูแลพระกัณหาและพระชาลีในยามค่ำคืนในขณะที่ชูชกผูกเปลนอนบนต้นไม้ มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 11 มหาราช 69 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาราช B13 : กษัตริย์ทั้งหกได้มาพบกันที่อาศรมของพระเวสสันดร มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ 36 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ฉกษัตริย์ B14 : ขบวนช้างและกองทหารนำกษัตริย์ทั้งหกกลับคืนพระนคร มีตัวอักษร “กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ 48 พระคาถา” หมายถึงพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์นครกัณฑ์ B15 : พระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาอัญเชิญให้พระโพธิสัตว์ที่ประทับบนสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาจุติ มีตัวอักษร “1.อัญเชิญจุติ” B16 : พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตถึงช้าง มีตัวอักษร “2.พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตร” B17 : พระนางสิริมหามายาทรงประสูติ พระกุมารทรงก้าวเดินบนดอกบัว มีตัวอักษร “3.ประสูติ” B18 : พระกุมารแสดงปาฏิหาริย์โดยลอยพระองค์ต่อหน้ากาฬเทวิลดาบสที่ได้ทำนายพุทธลักษณะ มีตัวอักษร “4.ทำนายลักษณะ” B19 : พระกุมารประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญและบรรลุปฐมฌานตั้งแต่พระเยาว์ มีตัวอักษร “5.แรกนาขวัญ” B20 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสดงศิลปศาสตร์ด้วยการยกศร “สหัสถามธนู” มีตัวอักษร “6.ยกศร” B21 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา มีตัวอักษร “7.ราชา ภิเษก” ด้านทิศเหนือ B22 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับราชรถทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ โดยมีคนชราที่มองเห็นอยู่ไกล ๆ มีตัวอักษร “8.เทวทูต 4” B23 : เจ้าชายสิทธัตถะประทับยืนที่ประตู ทอดพระเนตรนางกำนัลหลับนอนระเกะระกะ ทรงร่ำลาพระนางพิมพาและพระราหุล มีตัวอักษร “9.หนีบรรพชา” B24 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะข้ามแม่น้ำโดยมีนายฉันนะเกาะหางม้า มีตัวอักษร “10.ทรงม้ากัณฐกะ” B25 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงปลงพระเกศา ตัดพระเมาลีริมแม่น้ำอโนมา นายฉันนะและม้ากัณฐกะแสดงอาการเศร้าโศก มีตัวอักษร “11.ตัดโมฬี” B26 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงเสด็จออกบำเพ็ญเพียรด้วยพระองค์เองจนพระวรกายซูบผอม ด้านหลังเป็นปัญจวัคคีย์กำลังตักน้ำมาปรนนิบัติ ด้านข้างเป็นพระอินทร์ดีดพิณสามสายมีตัวอักษร “12.ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา” B27 : นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส มีตัวอักษร “13.ถวายข้าวมธุปายาส” B28 : พระพุทธองค์ประทับนั่งบนบัลลังก์ ด้านล่างเป็นพระแม่ธรณี ด้านขวาเป็นพระยามารและพลมารโดนน้ำท่วมแสดงอาการยอมแพ้ มีตัวอักษร “14.ชนะมาร” สังเกตในภาพเริ่มปรากฏ ฉรรพรรณรังสีรอบพระเศียร B29 : พระพุทธองค์ประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ มีตัวอักษร “15.ตรัสรู้” B30 : พระพุทธองค์ประทับนั่งยกพระหัตถ์ขวาแสดงปางห้ามญาติ ด้านหน้ามีธิดาพระยามารร่ายรำ ภาพนี้ตัวอักษรปรากฏเฉพาะชื่อผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้โดยไม่มีชื่อตอนมากำกับ B31 : ด้านซ้ายเป็นภาพชาย 2 คนนำอาหารมาถวาย ด้านขวาเป็นท้าวจตุโลกบาลนำบาตรมาถวายจาก 4 ทิศ พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่ประสานเป็นใบเดียวกัน มีตัวอักษร “17.อธิษฐานบาตร” B32 : พระอินทร์ พระพรหมกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนา มีตัวอักษร “18.พรหมอาราธนา” B33 : พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาให้กับปัญจวัคคีย์ มีตัวอักษร “19.โปรดปัญจวัคคีย์” ด้านทิศตะวันออก เรื่องทศชาติชาดกและฎีกาพาหุง B34 : ภาพช่องนี้มีตู้เก็บคัมภีร์บังอยู่บางส่วน ด้านขวาพอเห็นภาพกษัตริย์ยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง หมายถึงพระเตมิยชาดก มีตัวอักษรระบุเวลาที่วาดภาพ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 B35 : ภาพนางมณีเมขลาอุ้มร่างพระมหาชนกขึ้นจากท้องทะเล มีตัวอักษร “ชาติที่ 2 ชะ พระมหาชนก ยิ่งด้วยวิริยะบารมี” B36 : สุวรรณสามโดนศรกปิลยักขราชขณะไปตักน้ำ มีตัวอักษร “ชาติที่ 3 สุ พระสุวรรณสาม ยิ่งด้วยเมตตาบารมี” B37 : พระเนมิราชประทับบนราชรถโดยมีนายสุนันท์สารถีพาไปชมสวรรค์มีตัวอักษร “ชาติที่ 4 เน พระเนมีราช ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี” B38 : พระมโหสถขุดอุโมงค์ลวงให้พระเจ้าจุฬนีพรหมทัตเข้าไปแล้วหยิบดาบขึ้นมาขู่ มีตัวอักษร “ชาติที่ 5 มะ พระมโหสถบัณฑิต ยิ่งด้วยปัญญาบารมี” B39 : พราหมณ์อาลัมพายน์กำลังร่ายมนต์สะกดพระภูริทัตต์ที่ขดอยู่บนจอมปลวก มีตัวอักษร “ชาติที่ 6 ภู พระภูริทัต ยิ่งด้วยสีลบารมี” B40 : พระอินทร์ทรงค้อนในพระหัตถ์ขวา ทรงหักยอดฉัตรเพื่อทำลายพิธีบูชายัญปลดปล่อยพระจันทกุมาร ภาพมีตัวอักษร “ชาติที่ 7 จะ พระจันทกุมาร ยิ่งด้วยขันติบารมี” B41 : พระพรหมนารทหาบคนโทน้ำและบาตรเหาะลอยมาเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอังคติราชและพระนางรุจา มีตัวอักษร “ชาติที่ 8 นา พระพรหมนารถ ยิ่งด้วยอุเบกขาบารมี” B42 : ปุณณกยักษ์จับพระวิธุระฟาดกับภูเขา มีตัวอักษร “ชาติที่ 9 วิ พระวิทูรบัณฑิต ยิ่งด้วยสัจจบารมี” B43 : พระเวสสันดรยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์ที่มาทูลขอ มีตัวอักษร “ชาติที่ 10 เว พระเวสสันดร ยิ่งด้วยทานบารมี” B44 : พระพุทธองค์ทรงเรียกนางธรณีมาเป็นพยานและทรงปราบพระยามาร เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร แสดงการปราบพระยามารที่เข้าผจญพระพุทธองค์เพื่อขวางการตรัสรู้ด้วย “ทานบารมี” มีตัวอักษร “1.พาหุํสหัสสะ” B45 : พระพุทธองค์ทรงปราบอาฬวกะยักษ์ที่กำลังเงื้อกระบองข่มขู่พระพุทธองค์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ แสดงการปราบอาฬาวกะยักษ์ที่ได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณให้จับสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาในเขตของตนกินได้ ทรงใช้ “ขันติธรรม” มีตัวอักษร “2.มาราติเร” B46 : พระพุทธองค์ทรงยื่นพระหัตถ์แตะช้างนาฬาคีรีที่กำลังหมอบ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี แสดงการปราบช้างนาฬาคิรีที่เมาและตกมันหมายจะสังหารพระพุทธองค์ด้วย “เมตตาธรรม” มีตัวอักษร “3.นาฬาคิรี” B47 : องคุลีมาลพนมมือไหว้พระพุทธองค์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะโจรองคุลีมาล แสดงการปราบมหาโจรองคุลีมารถือดาบหมายจะสังหารพระพุทธองค์ด้วย “อิทธิฤทธิ์” มีตัวอักษร “4.อุกขิตตะขัค” B48 : หนูกัดเชือกจนทำให้ท่อนไม้ที่นางจิญจมาณวิกาซ่อนไว้หล่นลงมาต่อหน้าผู้คน ก่อนหน้านั้นนางกล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้ทำให้นางตั้งครรภ์ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา แสดงการปราบนางจิญจมาณวิกาหญิงแพศยาด้วย “สันติธรรม” มีตัวอักษร “5.กัตวานะกัฏฐ์” B49 : สัจจะกนิครณกำลังถกเถียงกับพระพุทธองค์ด้วยวาทะ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์ แสดงการปราบสัจจะกนิครณเจ้าลัทธิด้วย “ปัญญา” มีตัวอักษร “6.สัจจังวิหา” B50 : พระโมคคัลลานะทูลพระพุทธองค์เพื่อปราบพระยานาคนันโทปนันทะ เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ แสดงการปราบนันโทปนันทะด้วย “ฤทธิ์สู้ฤทธิ์” มีตัวอักษร “7.นันโทปะนันทะ” B51 : พระพุทธองค์เทศนาโปรดพกาพรหมที่หลงผิดคิดว่าตนนั้นบรรลุอยู่คงทนเป็นนิรันดร เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม แสดงการปราบพกาพรหมหลงผิดด้วย “ญาณ” มีตัวอักษร “8.ทุคคาหะทิฏฐิ” ด้านทิศใต้ เป็นพุทธประวัติ B52 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดยศกุลบุตร ด้านข้างมีพระบาทพระยศถูกถอดวางอยู่ มีตัวอักษร “โปรดพระยส” B53 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดฤษีที่นั่งอยู่หน้าอาศรม มีตัวอักษร “โปรดชฎิล” B54 : พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ที่มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ มีตัวอักษร “มาฆบูชา” B55 : พระพุทธองค์ทรงเดินนำหน้าพระอานนท์ที่ถือบาตรตามหลัง มีตัวอักษร “โปรดพระนนท์” B56 : พระราหุลและพระนางพิมพามาทูลขอพระราชสมบัติ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงบรรพชาให้กับพระราหุล มีตัวอักษร “78 ราหุลบรรพชา” B57 : พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดสตรี 2 นาง มีตัวอักษร “โปรดมหาปชาบดี” B58 : พระพุทธองค์เสด็จลงบันไดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ภายหลังเทศนาโปรดพุทธมารดา มีตัวอักษร “เสด็จลงจากดาวดึงส์” B59 : องคุลีมาลกำลังถือดาบไล่ฟันพระพุทธองค์ มีตัวอักษร “องคุลีมาลโจร” หอสวดมนต์ วัดลาดหอย หอสวดมนต์หรือหอฉัน แต่เดิมเป็นศาลาเก่าแล้วรื้อมาปรุงตัวไม้ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2520 ส่วนจิตรกรรมบนแผ่นไม้บริเวณคอสองภายในเป็นของเขียนใหม่โดยนาย ศิริ ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวป่าพฤกษ์ ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า เมื่อ พ.ศ. 2522 บ้านป่าพฤกษ์ตั้งอยู่ใกล้กับวัดลาดหอย ช่างศิริ ได้เขียนภาพที่บ้านเสร็จแล้วนำมาติดที่ศาลา จิตรกรรมในหอสวดมนต์หรือหอฉันเขียนบนแผ่นไม้ประดับคอสองอาคาร เป็นเรื่องพุทธประวัติและฎีกาพาหุง สำหรับแผนผังงานจิตรกรรม เริ่มทางด้านทิศตะวันตกที่ติดกับทิศเหนือ ขวามือของพระพุทธรูป เวียนทวนเข็มนาฬิกาจนจบหมายเลข 12 โดยรวมแสดงภาพทิวทัศน์และฉากหลังด้วยเส้นขอบฟ้า ตัวภาพมักเขียนขนาดใหญ่แบบฝีมือช่างพื้นบ้าน เขียนสีจาง โครงสีโดยรวมคือ สีน้ำตาล เขียว และเหลือง ไม่มีการปิดทองคำเปลวที่ตัวภาพ หมายเลข 1 : เป็นกองทัพมารเข้าจู่โจมและโดนน้ำจากมวยพระเกศาของพระแม่ธรณีไหลท่วมจนเหล่ามารพ่ายแพ้ต่อพระพุทธองค์ หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร หมายเลข 2 : ด้านซ้าย เป็นอาฬวกยักษ์กำลังเงื้อดาบ ด้านขวา เป็นพระเจ้าอาฬวีราชนำอาฬวีราชกุมารมามอบให้ยักษ์อาฬวกะกินเป็นอาหาร ตรงกลางเป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งกำลังทรมานอาฬวกยักษ์ หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะอาฬวกยักษ์ น่าสังเกตการแต่งกายของพระเจ้าอาฬวีราช เป็นชุดทหารที่ไม่ใช่การทรงเครื่องกษัตริย์แบบไทยประเพณี หมายเลข 3 : เป็นภาพพระพุทธเจ้าและสาวกออกบิณฑบาตนอกกำแพงเมือง กรุงกบิลพัสดุ์ มีช้างนาฬาคีรีหมอบต่อหน้าพระพุทธองค์ ด้านซ้ายเป็นนายทหารแต่งกายขุนนางร่วมสมัยรัชกาลที่ 5-6 หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี หมายเลข 4 : ด้านซ้าย เป็นภาพองคุลิมาลเงื้อดาบไล่ฟันพระพุทธองค์ ตรงกลาง เป็นมารดาของอุคิลีมาล ด้านขวา พระพุทธองค์ยกพระหัตถ์ขวาห้ามและเทศนาโปรดองคุลิมาลหมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะโจรองคุลีมาล หมายเลข 5 : พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทางบันไดข้างกำแพงเมืองสังกัสนคร โดยมีเหล่าเทวดาถือเครื่องสูง เครื่องดนตรี และดอกไม้ทิพย์มาคอยส่งเสด็จ ที่พื้นดินมีพระสาวก กษัตริย์ และชาวเมืองมาต้อนรับ มีการระบายสีท้องฟ้าเป็นกลุ่มก้อน ไล่น้ำหนักแสงเงาเหมือนจริง การเขียนแนวต้นไม้ที่มีขนาดเล็ก-ใหญ่แสดงความใกล้-ไกล สังเกตฉากบันไดที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ถูกตัดทอนรายละเอียดต่างไปจิตรกรรมไทยประเพณีที่เดิมทำเป็นบันไดทอง นาค และแก้ว ไม่มีพระอินทร์ พระพรหมร่วมส่งเสด็จ รวมทั้งไม่มีฉากนรกเปิด หมายเลข 6 : พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงธรรมโปรดพุทธมารดา 90 วัน พระพุทธองค์ประทับนั่งในศาลาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีพุทธมารดา พระอินทร์ และเหล่าเทวดามาฟังพระธรรมเทศนา ฉากหลังเป็นหมู่วิมานเทวดาแทรกอยู่ในก้อนเมฆที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ หมายเลข 7 : พระพุทธองค์ประทับนั่งปางมารวิชัย ใกล้ที่ประทับมีนางจิญจมาณวิกาเข้ามากล่าวหาว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ที่ทำให้นางตั้งครรภ์ หมายถึงพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา หมายเลข 8 : พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรงกลางล้อมด้วยสัจจนิครนถ์มาโต้วาทะกับพระพุทธองค์ ภายหลังพ่ายแพ้และยอมบวชเป็นสาวก หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์ หมายเลข 9 : ภาพพระพุทธเจ้าทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปปราบพระยานาคนันโทปะนันทะที่กำลังจะเข้ามาทำร้ายพระองค์และสาวก หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ หมายเลข 10 : เป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมโปรดพกาพรหม มีพระอินทร์และเหล่าเทวดามาร่วมฟังพระธรรม หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม หมายเลข 11 : พุทธประวัติตอนโปรดยศกุลบุตร เป็นภาพพระพุทธองค์กำลังเทศนาโปรดยศกุลบุตรที่ถอดรองเท้าทองนั่งพนมมือไหว้พระพุทธองค์ ใต้ภาพมีตัวอักษรระบุการสร้าง พ.ศ. 2522 หมายเลข 12 : พุทธประวัติตอนปฐมเทศนา เป็นภาพพระพุทธองค์เทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า |
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดลาดหอย. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |