MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดมณีวรรณ

ที่ตั้ง
วัดมณีวรรณเดิมชื่อวัดหัวเกาะ เลขที่ 36 หมู่ที่ 4 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ประวัติวัด
วัดมณีวรรณ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2338 โดยคุณตาสรีวงศ์ (หรือ ศรีสุริยวงศ์) พาราษฎรมาตั้งอยู่บ้านเกาะและได้สร้างวัดขึ้นมา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดมณีวรรณตามชื่อผู้ให้ความอุปถัมภ์ เมื่อจัดสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2340 ปัจจุบันแผนผังวัดหันหน้าไปทางทิศเหนือรับกับถนนโสมนัส ทิศใต้ติดแม่น้ำสุพรรณบุรี อาคารที่ปรากฏงานจิตรกรรมตามการสำรวจของวรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 คือ หอสวดมนต์ เป็นฝีมือของพระอาจารย์สน (ศิษย์วัดจางวางดิศ) ปัจจุบันหอสวดมสนต์ดังกล่าวเป็นศาลาโถง 3 หลังเรียงกันและใช้เป็นหอฉันร่วมด้วย จิตรกรรมเป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนแผ่นไม้ประดับคอสองและชายคาของอาคารหลังกลาง

ในวัดมีสิ่งปลูกสร้างหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ หอฉัน ศาลาการเปรียญ กุฏิไม้ ฯลฯ พระอุโบสถหลังเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2340 ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของวรรณวิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 ระบุว่าพระอุโบสถของวัดมณีวรรณมีการปฏิสังขรณ์ใหม่โดยอาจารย์สนเป็นผู้ออกแบบและควบคุมก่อสร้างเองโดยตลอด หมู่กุฏิและหอสวดมนต์เดิมสร้างแบบมีห้องสวดมนต์ตรงกลางหันหน้าเข้าหาโบสถ์ทางทิศตะวันตก มีกุฏิล้อม 5 หลัง ขนาบด้านข้างด้านละ 2 หลัง สกัดท้าย 1 หลัง ต่อมา พ.ศ. 2506 ปรับปรุงหมู่กุฏิใหม่ด้วยการรื้อของเดิมออกแล้วตั้งใหม่หันหน้าลงแม่น้ำแล้วหมุนกุฏิใหม่ล้อมรอบหอสวดมนต์


จิตรกรรมที่หอสวดมนต์เขียนโดยพระอาจารย์สน ครั้งแรกตั้งใจจะติดที่ศาลาการเปรียญแต่ไม้ไม่ได้ขนาดจึงนำมาติดที่หอสวดมนต์แทน ท่านเขียนไม่เสร็จเพราะอาพาธจึงส่งไม้กระดานจะให้ลูกศิษย์ที่กรุงเทพฯ ช่วยเขียนมาให้ 2-3 แผ่น และมีฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มาเขียนภาพอีก 1 แผ่น เป็นภาพเรือกำปั่นไฟ

สมัยที่อาจารย์สนเป็นเจ้าอาวาสกำลังเขียนภาพบนไม้กระดานคอสอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เสด็จโดยเรือติดธงครุฑทองไปวัดปากคลองมะขามเฒ่า (เมืองชัยนาท) เมื่อเสด็จกลับมาถึงหน้าวัดมณีวรรณเวลาเย็นจึงจอดพักแรม 1 คืน รุ่งเช้าบ่าวได้กราบทูลว่าขึ้นไปชมวัดมณีวรรณมีพระกำลังเขียนภาพบนไม้กระดานคอสอง ท่านจึงเสด็จขึ้นเยี่ยมชมวัดและได้พบกับพระอาจารย์สนจึงได้ถามว่าท่านได้เรียนวิชาช่างมาจากที่ใด ท่านตอบว่าเรียนจากในวังและได้ร่วมเขียนภาพที่ระเบียงคดรอบวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่ผนังพระระเบียงด้านทิศตะวันออก มีชื่อสามเณรสนเป็นศิษย์สมภารห้อยวัดจางวางดิศซึ่งอยู่ทางตะวันออกของวัดสระเกศ เป็นวัดราษฎร์อยู่ติดกับวัดจางวางพ่วง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงยินดีมากด้วยได้มีโอกาสพบช่างซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน ถึงกับมีรับสั่งว่าหากรู้ตั้งแต่วันวานคงได้พูดคุยกันจนไม่ได้นอน แล้วจึงได้ช่วยเขียนภาพที่ไม้คอสองด้วย 1 ภาพ เป็นภาพเรือกำปั่นไฟ ใช้เวลาเขียน 1 วัน
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
หอสวดมนต์อยู่ตรงกลางหมู่กุฏิ เป็นอาคารเครื่องไม้โถงยกใต้ถุนสูง หันหน้าไปทางแม่น้ำคือ ทางทิศใต้ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปูนปั้นหน้าบันเป็นรูปเสมาธรรมจักรมีลายกระหนกก้านขดเป็นพื้นหลัง มีตัวอักษรระบุ พ.ศ. ที่สร้างว่า พ.ศ. 2497 ขนาดหอสวดมนต์เป็นศาลา 3 ห้อง มีชานโดยรอบ


ลักษณะงานจิตรกรรมเป็นจิตรกรรมแบบไทยประเพณีฝีมือช่างพื้นบ้านเขียนด้วยสีฝุ่นรองพื้นบาง จิตรกรรมส่วนใหญ่เขียนลงบนแผ่นไม้ มีเพียง 3 แผ่น ที่เขียนลงบนผืนผ้าใบและติดลงบนไม้ สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีคราม สีน้ำตาล สีแดง สีดำ และขาว มีการปิดทองเฉพาะภาพกษัตริย์หรือเทวดาหรือปราสาทราชวัง ราชรถเล็กน้อย การเขียนภาพบุคคลมีขนาดเล็กกว่าสถาปัตยกรรม การเขียนภาพใบหน้ามีทั้งหันด้านหน้า ด้านข้าง ด้านตรง มีการร่างภาพก่อนแล้วลงสีและตัดเส้นรายละเอียดของเครื่องทรง เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ภาพบุคคลมักระบายสีขาวนวล การเขียนภาพสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นปราสาทราชวัง พลับพลา ศาลาแลดูมีระยะใกล้-ไกล ตัวอาคารเขียนด้วยสีน้ำตาลและแดง ตัดเส้นด้วยลวดลายประดับตกแต่งอาคารด้วยสีที่เข้มกว่า การเขียนภาพทิวทัศน์แสดงระยะใกล้-ไกล การเขียนต้นไม้มีการเขียนลำต้นกิ่งก้านก่อนแล้วใช้พู่กันจุ่มสีน้ำตาลหรือสีดำกระทุ้งเป็นพุ่มใบ พื้นดินระบายสีขาวหรือสีเทา ท้องฟ้าระบายสีครามอ่อนแล้วลงสีขาวทับ
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมมีทั้งหมด 39 แผ่น เป็นเรื่องพุทธประวัติวาดบนแผ่นไม้ 36 แผ่น และวาดบนผ้าใบติดบนแผ่นไม้จำนวน 3 แผ่น ตำแหน่งการติดตั้งประดับคอสองภายในจำนวน 15 แผ่น ภายนอกคอสอง 18 แผ่น และติดประดับชายคาด้านใน 3 แผ่น ด้านนอก 3 แผ่น จากการสัมภาษณ์พระครูวิทิตปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดมณีวรรณ (พระครูวิทิตปริยัติคุณ, สัมภาษณ์ 1 เมษายน พ.ศ. 2565) ให้ข้อมูลว่าจิตรกรรมชุดนี้ถูกถอดลงมาและบันทึกภาพไว้ราว พ.ศ. 2543 ทั้งนี้เนื่องจากงานจิตรกรรมเป็นแผ่นไม้ประดับคอสองสามารถถอดลงมาเพื่อนำไปประดับที่ใหม่ได้ในกรณีที่มีการขยายอาคารหรือซ่อมแซมกรณีที่เกิดความชำรุดเสียหาย ดังตำแหน่งภาพหมายเลข 24 มีส่วนที่ขาดหายไป หรือเขียนขึ้นใหม่ เช่นภาพหมาย 4-6 ที่เขียนบนผ้าแล้วนำไปขึงบนไม้กระดาน การเคลื่อนย้ายไปมาอาจทำให้ลำดับการวางตำแหน่งภาพค่อนข้างสับสน

คณะผู้วิจัยสันนิษฐานว่างานจิตรกรรมในภาพรวมเขียนระหว่าง พ.ศ. 2459-2464 ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงออกจากราชการระยะแรกและออกเดินทางมาเรียนวิชากับหลวงพ่อศุขที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า การลำดับแผนผังงานจิตรกรรมที่หอสวดมนต์วัดมณีวรรณนี้จะใช้วิธีลำดับหมายเลขตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เริ่มจากชายคาด้านนอกฝั่งซ้ายมือของพระประธานด้านทิศตะวันออกหมายเลข 1 เวียนตามเข็มนาฬิกาจนจบหมายเลข 3


หมายเลข 1 : (ภาพลบเลือน) แต่พอมองเห็นภาพพระนางสิริมหามายาประทับราชรถเพื่อเสด็จประสูติกาลาชายสิทธัตถะยังกรุงเทวทหะ ฉากหลังเป็นภาพป่าเขา สังเกตราชรถที่ตัดเส้นลายกระหนกอย่างวิจิตรและมีการปิดทองที่ตัวภาพบุคคล


หมายเลข 2 : (ภาพลบเลือน) จากภาพถ่ายเก่าพอมองเห็นภาพพระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ด้านขวาเป็นเหล่าเทวดานั่งชมบารมีพระสิทธัตถะกุมาร


หมายเลข 3 : (ลบเลือนเกือบทั้งหมด) แลเห็นด้านขวาเป็นพระกุมารซึ่งอาจยืนบนชฎาของกาฬเทวิลดาบส ถ้าเป็นเช่นนั้นจะหมายถึงพุทธประวัติตอนทำนายพุทธลักษณะ

จากนั้นเป็นคอสองด้านนอกฝั่งขวาพระประธาน (ด้านทิศตะวันตก) หมายเลข 4-9

หมายเลข 4-6 เป็นจิตรกรรมที่วาดบนผืนผ้าแล้วติดลงบนแผ่นไม้ ปัจจุบันผ้าเริ่มขาดหลุดออกจากกัน เทคนิคการเขียนภาพมีลักษณะต่างออกไปจากภาพอื่น ๆ เช่น การเขียนฉากหลังมีการเน้นเส้นขอบฟ้าหรือแบ่งชัดระหว่างผืนดินและท้องฟ้า โครงสีโดยรวมเป็นสีน้ำเงิน

หมายเลข 4 : บรรดากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเข้าเฝ้าชื่นชมพระบารมีของสิทธัตถะกุมารที่ประทับตรงกลางพระมหาปราสาท
หมายเลข 5 : เป็นภาพพระเจ้าสุทโธทนะทรงแรกนาขวัญ
หมายเลข 6 : เป็นภาพสิทธัตถะกุมารทรงแสดงปาฏิหาริย์ใต้เงาไม้ที่มิได้คล้อยตามพระอาทิตย์

หมายเลข 7 : เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพาในพระมหาปราสาทแวดล้อมด้วยเหล่าขุนนาง

หมายเลข 8 : ภาพท้องน้ำและเรือ 3 ลำ มีร่องรอยการปิดทองที่ท้ายเรือ มีการสร้างระยะหน้า-หลังในภาพด้วยการใช้เส้นขอบฟ้าและระบายสีผืนน้ำแบบไล่น้ำหนัก เนื้อหาของภาพไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เชื่อกันว่าเป็นภาพฝีพระหัตถ์กรมหลวงชุมพรฯ


หมายเลข 9 : ด้านขวาเป็นภาพปราสาทแบบไทยประเพณีอาคารส่วนหนึ่งปิดทองคำเปลว ด้านซ้ายเป็นฉากกำแพงพระราชวัง ไม่ปรากฏภาพบุคคล


ถัดมาเป็นภาพบริเวณคอสองด้านนอกฝั่งตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศใต้ เวียนทวนเข็มนาฬิกา หมายเลข 10-12

หมายเลข 10 : เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสด้วยราชรถ ทอดพระเนตรคนตาย คนแก่ ทารก และสมณะ

หมายเลข 11 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงร่ำลานางพิมพาและราหุล มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะรอรับ


หมายเลข 12 : เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จบนม้ากัณฐกะมีจตุโลกบาลทั้งสี่รองรับเท้าม้า มีพระอินทร์เหาะนำทางและพระพรหมนำอัฐบริขารมาถวาย พุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์

ต่อด้วยคอสองด้านนอกฝั่งซ้ายมือพระประธาน ด้านทิศตะวันออก หมายเลข 13-21

หมายเลข 13 : นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ภาพพระพุทธองค์ทรงรับอาหาร


หมายเลข 14 : ด้านขวาเป็นพระพุทธองค์ทรงลอยถาด ซ้ายมือเป็นวิมานของพระยากาฬนาคราช พุทธประวัติตอนพระสมณโคดมทรงอธิษฐานลอยถาด


หมายเลข 15 : ภาพพระพุทธองค์ทรงรับหญ้าคาจากชายผู้หนึ่ง พุทธประวัติตอนโสตถิยะพราหมณ์ถวายหญ้าคาก่อนการตรัสรู้

หมายเลข 16-18 เป็นภาพต่อเนื่องกัน 3 ภาพ พุทธประวัติตอนมารวิชัย

หมายเลข 16 : (ด้านขวา) เป็นกองทัพมารที่เข้าทำร้ายพระพุทธองค์
หมายเลข 17 : (ตรงกลาง) พระพุทธองค์ประทับบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ มีนางธรณีประทับยืนบิดน้ำจากมวยพระเกศา
หมายลเข 18 : (ด้านซ้าย) เป็นตอนพระยามารและกองทัพพนมมือยอมแพ้ต่อพระพุทธองค์

หมายเลข 19 : พระพุทธองค์ประทับยืนทอดพระเนตรไปที่ต้นโพธิ์ที่ทรงตรัสรู้ หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขจงกรมในสัปดาห์ที่ 3


หมายเลข 20 : ด้านซ้ายเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งมีพระยานาคมาแผ่พังพาน ด้านขวาเป็นพระพุทธองค์ทรงประทับนั่งใต้รัตนบัลลังก์ พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 6 ใต้ต้นจิก มีพญานาคมุจลินทร์แผ่พังพานและสัปดาห์ที่ 7 ประทับใต้ต้นราชตยนะ

หมายเลข 21 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง มีชายสองคนถวายอาหาร พุทธประวัติตอนสองพ่อค้าวานิชชื่อตะปุสสะและภัลลิกะถวายสัตตูก้อนสัตตูผง

จากนั้นเป็นจิตรกรรมที่ชายคาด้านใน ขวามือของพระประธาน หมายเลข 22-24

หมายเลข 22 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง มีพระพรหมมาเข้าเฝ้า อาจหมายถึงพุทธประวัติหลังการตรัสรู้ ทรงท้อพระทัยในการโปรดสัตว์จนท้าวสหัสบดีพรหมต้องทูลวิงวอนให้แสดงพระธรรม


หมายเลข 23 : พระพุทธองค์ประทับยืนตรงกลางภาพเพียงพระองค์เดียว ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงพุทธประวัติตอนใด

หมายเลข 24 : พระพุทธองค์ทรงประทับยืนเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์


คอสองด้านในฝั่งขวามือของพระประธาน ด้านทิศตะวันตก หมายเลข 25-30

หมายเลข 25 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่าทรงแสดงธรรมให้ผู้ชายแต่งกายแบบขุนนางหรือคหบดีจำนวน 5 คน อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนโปรดยศกุลบุตร

หมายเลข 26 : พระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตโดยมีพระสาวกถือบาตรเดินตาม มีชาวบ้านนั่งอยู่หน้าบ้านเรือนคอยใส่บาตร ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด

หมายเลข 27 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรม ด้านขวาเป็นพระยานาคขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าหมายถึงพุทธประวัติตอนปราบพระยานาคเพื่อกำราบชฎิล

หมายเลข 28 : ด้านซ้ายพระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมในป่า ด้านขวาเป็นผู้ชายในชุดข้าราชการจำนวน 5 คน กำลังพนมมือไหว้ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด

หมายเลข 29 : ด้านขวาพระพุทธองค์ประทับนั่งพร้อมพระสาวก ด้านหน้ามีพระสงฆ์รูปหนึ่งพร้อมบาตร ด้านซ้ายเป็นขบวนเกวียน หมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จกรุงกุสินารา ระหว่างทางทรงกระหายน้ำจึงโปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย


หมายเลข 30 : (ภาพลบเลือน) กลางภาพเป็นฉากทิวทัศน์เส้นขอบฟ้า ด้านซ้ายแลเห็นลายเส้นร่างด้วยดินสอเป็นรูปโกศขนาดใหญ่ ด้านขวาเป็นลายเส้นร่างรูปบุคคล อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระศพ


ถัดมาเป็นคอสองด้านในฝั่งตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศใต้ หมายเลข 31-33

หมายเลข 31 : พระพุทธองค์ประทับนั่งสมาธิกลางป่า มีพระปัญจศิขรนั่งพนมมือด้านขวา หมายถึงพุทธประวัติตอนโปรดปัญจศิขร


หมายเลข 32 : พระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพระอินทร์ในป่า หมายถึงพุทธประวัติตอนโปรดพระอินทร์


หมายเลข 33 : พระพุทธองค์แสดงธรรมแก่พระสาวก 4 รูป ในป่าตาล อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนพระอุรุเวลกัสสปะประกาศตนเป็นพุทธสาวกต่อหน้าพระเจ้าพิมพิสาร ณ สวนตาลหนุ่ม


จากนั้นเป็นคอสองด้านในฝั่งซ้ายของพระประธาน ด้านทิศตะวันออก หมายเลข 34-39

หมายเลข 34 : จิตรกรรมลบเลือน แลเห็นพระพุทธองค์ประทับนั่งตรงกลาง ด้านขวาเป็นกษัตริย์และข้าราชบริพารนั่งพนมมือ

หมายเลข 35 : ด้านซ้ายพระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมในสวนป่า ด้านข้างมีพระสาวก 2 รูป พนมมือ ด้านขวาเป็นบุคคลแต่งกายทรงเครื่องคล้ายกษัตริย์นั่งพนมมือฟังพระธรรม ตรงกลางมีพระสงฆ์เหาะอยู่ในกรอบพื้นสีฟ้า สันนิษฐานว่าหมายถึงพุทธประวัติตอนพระปิณโฑลภารทวาชเถระแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเหาะไปนำบาตรไม้แก่นจันทร์จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์บัญญัติห้ามไม่ให้พระสงฆ์แสดงปาฏิหาริย์


หมายเลข 36 : ด้านขวาเป็นภาพพระพุทธองค์ทรงพระดำเนินมีพระสาวกถือบาตรเดินตรงมายังเมืองที่มีผู้คนนั่งรอใส่บาตร อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์

หมายเลข 37 : เป็นภาพพระพุทธองค์ทรงพระดำเนินมีพระสาวกถือบาตรเดินตรงไปยังอาคารที่แลดูคล้ายวัด มีฉากเป็นป่า หมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จไปพระอารามเชตะวัน

หมายเลข 38 : แสดงภาพกุฏิว่างเปล่าจำนวน 3 หลัง ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงพุทธประวัติตอนใด

หมายเลข 39 : ด้านขวาของภาพเป็นพระพุทธองค์และพระสาวกเดินถือบาตรเดินตรงมายังเมืองใหญ่ที่มียอดพระมหาปราสาท อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนเสด็จกลับจากทรงบาตรที่เมืองไพศาลี ซึ่งเป็นการเสด็จที่เมืองนี้ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะทรงอาพาธและปรินิพพาน

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดมณีวรรณ. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต