MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดมะนาว

ที่ตั้ง
วัดมะนาวอยู่บนถนนหมายเลข 3318 ตำบลทับตีเหล็ก อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา
ประวัติวัด
วัดมะนาว ตามประวัติของกรมศาสนาระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ. 2341 ปรากฏชื่อวัดมะนาวหรือวัดมะนาวหวานใน นิราศสุพรรณ แสดงว่าวัดมะนาวต้องมีมาก่อน พ.ศ. 2374 ซึ่งเป็นปีที่สันนิษฐานว่าสุนทรภู่เดินทางไปเมืองสุพรรณบุรี

ถึงหน้าท่าน้ำวัด          มนาวหวาน
ฦาเลื่องเบื้องบูราน      ร่ำพร้อง
หวานอื่นคลื่นไส้นาน   นักเบื่อ เหลือแม่
หวานแต่น้ำคำน้อง      เสนาะน้ำคำหวาน ฯ
… (สุนทรภู่, 2510)

วัดมะนาวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2508 แผนผังวัดด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกติดแม่น้ำท่าจีน ด้านหลังเป็นถนนหมายเลข 3318 ถนนขุนช้าง
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสร้าง พ.ศ. 2508 ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้สร้าง พ.ศ. 2512 หอสวดมนต์สร้าง พ.ศ. 2500 นอกจากนี้ยังมีวิหาร กุฎิสงฆ์ และศาลาท่าน้ำซึ่งเดิมมีจำนวน 3 หลัง (กรมการศาสนา, 2545, น. 334) ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งเหลือเพียง 2 หลังเรียงติดกัน หลังใหญ่ที่อยู่ถัดจากแม่น้ำเข้ามามีงานจิตรกรรม ศาลาท่าน้ำดังกล่าวเป็นศาลาโถงแบบไทยประเพณี หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
จิตรกรรมฝาผนัง
บริเวณคอสองมีงานจิตรกรรมสีฝุ่นบนพื้นไม้ประกบกันจำนวน 2 แผ่น เล่าเรื่องพระมาลัยใส่กรอบกระจกประดับอยู่จำนวน 6 ภาพ

โครงสีโดยรวมเป็นสีคราม เหลือง ขาว เทา และดำ ฝีมือช่างพื้นบ้าน มีการไล่น้ำหนักสีและวาดฉากทิวทัศน์แสดงเส้นขอบฟ้าทุกภาพ ยกเว้นภาพที่แสดงว่าเป็นท้องฟ้าหรือสวรรค์ แต่ละภาพทำช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าถมพื้นสีขาวเขียนตัวอักษรสีดำบรรยายเนื้อหา เริ่มจากหมายเลข 1 ทิศตะวันตกเวียนตามเข็มนาฬิกา จนจบหมายเลข 6 ดังนี้

หมายเลข 1 : ด้านซ้ายเป็นพระมาลัยเสด็จมานรก ตรงกลางพระมาลัยประทับยืนถือตาลปัตรบนดอกบัวมาโปรดสัตว์นรก มีภาพกระทะทองแดงล้อมรอบด้วยสัตว์นรกที่พนมมือไหว้ ด้านขวาพระมาลัยเหาะกลับมายังโลกนำถ้อยคำของสัตว์นรกมาบอกญาติ มีตัวอักษรปรากฏ 2 แห่ง “พระมาไลย์โปรดนะรกให้เย็นสำราญ” และ “เปรตสั่งให้บอกญาติกาด้วยพลัน”


หมายเลข 2 : ด้านซ้ายเป็นพระมาลัยให้พรคนใส่บาตร ด้านขวาเป็นชายหนุ่มกำลังเก็บดอกบัวจากสระขึ้นมาถวายพระมาลัย มีตัวอักษร “พระมาไลย์บิณฑะบาตรในหนทางเดินจรแล้วรับดอกอุบลแปดดอกงามโสพา”


หมายเลข 3 : ด้านซ้ายพระมาลัยถามพระอินทร์ถึงกลุ่มเทวดาที่เหาะอยู่ด้านขวาว่าเป็นพระศรีอาริย์หรือไม่ มีตัวอักษร “พระมาไลย์ถามอัมรินตรา ว่ามานั้นหลพระสีอาริย์ เทพ องนี้บอรีวารร้อยหนึ่ง”


หมายเลข 4 : พระศรีอาริย์เหาะมาบนดอกบัวสีขาวล้อมรอบด้วยบริวารและเครื่องสูง เช่น ฉัตร ธง จำนวนมาก มีตัวอักษร “เมื่อนั้นพระสีอาริย์บริวารแสนโกฎมาบนจงกนขาว”

หมายเลข 5 : พระมาลัยสนทนาธรรมกับพระศรีอาริย์และเหล่าเทวดา เบื้องหลังเป็นพระเจดีย์จุฬามณี มีตัวอักษร “พระมาไลย์ถามพระสีอาริย์” น่าสังเกตว่าห้องภาพนี้ วิธีการวาดภาพก้อนเมฆและการตัดเส้นตัวบุคคลแสดงถึงช่างที่มีฝีมือต่างกับภาพอื่น ๆ


หมายเลข 6 : พระมาลัยนั่งในศาลาอันวิจิตร เทศนาสั่งสอนให้คนทั่วไปเห็นถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกและความสุขสบายของเทวดาบนสวรรค์ มีตัวอักษร “พระมาไลย์สั่ง….และญาติกา….ทั้งลายต่าง….”


ข้อสังเกต เมื่อพิจารณาจากการเขียนพื้นดินที่แสดงเส้นขอบฟ้า มีการระบายสีกลุ่มเมฆม้วนด้วยน้ำหนักอ่อน-เข้มแบบเหมือนจริง การเขียนต้นไม้แสดงลำต้นสูงชะลูดเรียงกันเป็นแถวแบบมีระยะใกล้-ไกล มีการแต้มสีเข้มในส่วนที่เป็นเงาของกิ่งก้าน แต่ยังคงเขียนตัวละครประณีตและมีขนาดเล็ก การเขียนปราสาทราชวังตัดเส้นอย่างวิจิตร ทำให้กำหนดอายุได้ว่าราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
สุนทรภู่. (2510). โคลงนิราศสุพรรณ. กรุงเทพฯ: ศิวพร.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต