วัดหน่อพุทธางกูร
ที่ตั้ง |
---|
วัดหน่อพุทธางกูร ตั้งอยู่ในเขตตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน มีถนนสมภารคงตัดผ่านหน้าวัด วัดหน่อพุทธางกูรสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย |
ประวัติวัด |
---|
วัดหน่อพุทธางกูร เป็นวัดที่ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาแน่ชัด ข้อมูลกรมศาสนาระบุว่าวัดตั้ง พ.ศ. 2381 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2503 มีเรื่องเล่ากันว่าชาวลาวจากเวียงจันทน์ซึ่งถูกกวาดต้อนมาในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ได้ช่วยกันสร้างขึ้น เดิมชื่อวัดมะขามหน่อ ภายหลังเมื่อครั้งพระอาจารย์คำเป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดหน่อพุทธางกูร จากการที่สถาปัตยกรรมของพระอุโบสถเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือมีฐานคานแอ่นโค้งเป็นรูปท้องสำเภาจัดเป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงมีนักวิชาการสันนิษฐานว่าวัดมะขามหน่อนี้อาจเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย |
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง |
---|
ภายในวัดมีพระอุโบสถเก่าอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด ข้อมูลจากกรมศาสนาเรียกอาคารหลังนี้ว่าพระวิหาร สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2387 กว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ฐานด้านข้างอ่อนโค้ง อาคารด้านหน้าทำเป็นห้องยื่นออกมา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ผนังด้านหน้าเจาะช่องประตู 1 ช่อง ขนาบด้วยบานหน้าต่างทั้งซ้ายและขวา ภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านนอกอาคารด้านประตูทางเข้ามีจิตรกรรมฝาผนังประดับอยู่ มีการวาดกรอบสามเหลี่ยมคล้ายเส้นสินเทาล้อมลายปูนปั้นกรอบซุ้มเหนือบานประตูแทนสัญลักษณ์เจดีย์จุฬามณี ด้านขวาขอบผนังบนสุดเป็นภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร และคนธรรพ์ ด้านล่างเป็นต้นมักกะลีผล ด้านซ้ายของผนังข้างบานหน้าต่างยังคงมีลายเส้นสีดำร่างภาพเป็นรูปพระเจดีย์และกลุ่มบุคคล ทั้งนี้ความนิยมในการเขียนภาพบริเวณผนังด้านนอกอาคารเป็นความนิยมของคนกลุ่มคนเชื้อสายลาว ภายในอาคารด้านท้ายมีพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานสิงห์ยกสูง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ตามพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย ส่วนพระพุทธรูปองค์เก่าถูกนำไปเก็บไว้ในกุฏิเจ้าอาวาส ตัวอาคารมีงานจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เขียนเรื่องพระเจดีย์จุฬามณี เทพชุมนุม พุทธประวัติ และทศชาติชาดก มีการสอดแทรกภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การเขียนภาพมีการแบ่งด้วยลายหน้ากระดานประจำยามก้ามปูบริเวณด้านบนและด้านล่างของผนัง เชื่อกันว่านายคำ ชาวเวียงจันทน์เป็นผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนัง เล่ากันว่านายคำเป็นชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 นายคำมีพี่น้อง 3 คน แต่พลัดพรากจากกันเมื่อตอนเดินทางเข้ามาในสยาม ตัวนายคำไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยความที่เคยเป็นช่างเขียนมาก่อนจึงถูกเกณฑ์ให้ไปเขียนภาพอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ภายหลังเขียนภาพที่วัดสุทัศน์ฯ แล้วเสร็จ นายคำจึงออกตามหาพี่น้องของตนและสืบทราบว่าพี่น้องของตนมาอยู่ที่ตำบลพิหารแดง ขณะนั้นชาวบ้านที่วัดมะขามหน่อมีความคิดจะเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ นายคำจึงรับอาสาเขียนให้โดยชักชวนนายเทศซึ่งเป็นลูกเขยที่กรุงเทพฯ มาช่วยกันเขียนภาพด้วย เมื่อเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรแล้วเสร็จ ว่ากันว่านายคำได้เขียนภาพที่พระอุโบสถวัดประตูสารอีกด้วย ข้อมูลจากการสำรวจของวรรณิภา ณ สงขลาและคณะ พ.ศ. 2529 ได้ให้ข้อมูลคล้าย ๆ กัน เป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์นางสาวละมุด กุลเกตุ (ทายาทชั้นเหลนของนายทองคำผู้เขียนภาพ) ให้ข้อมูลว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน่อพุทธางกูร ได้แก่ นายทองคำ นายเกตุ และกำนันเทศ (ลูกเขยนายทองคำ) นายทองคำเป็นช่างฝีมือซึ่งเป็นเชลยชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และอาศัยบวชเป็นเณรที่วัดสุทัศน์ฯ ระหว่างบวชได้ศึกษาวิชาช่างจะมีความรู้ความสามารถ ต่อมาลาอาจารย์ติดตามหาน้องสาวและพบว่าน้องสาวมาอยู่ที่วัดพระลอยจึงลาสิกขาบทแล้วแต่งงานกับนางมา มีบุตรสาวชื่อนางเข็มและนางเขียว ต่อมานางเข็มได้แต่งงานกับกำนันเทศ บุตรชายของนายเกตุ นายทองคำเป็นช่างฝีมือสูงได้ถ่ายทอดวิชาช่างให้นายเกตุ กำนันเทศ และลูกมือคนอื่น ๆ แบ่งกันเขียนงาน ดังนี้ นายเกตุเขียนภาพเทพชุมนุมและต้นนารีผลที่ผนังตอนหน้าด้านนอก นายทองคำและกำนันเทศเขียนตอนล่าง ช่างจากกรุงเทพฯ ราว 10 คนเขียนด้านทิศตะวันออก นายใจเขียนภาพยักษ์ ลิงตอนล่างสุด |
จิตรกรรมฝาผนัง |
---|
โครงสีส่วนใหญ่ใช้สีแดง แดงน้ำตาล น้ำเงิน รองลงมาคือ สีเขียว เทา ขาว และเหลือง สีแดงใช้เป็นพื้นหลังของภาพบุคคลหรือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเพื่อเน้นให้โดดเด่นชัดเจน บางครั้งใช้ผสมรวมกับน้ำตาลกลายเป็นสีน้ำตาลแดง มักใช้เขียนเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หรือสีน้ำเงินส่วนใหญ่ใช้ระบายพื้นเพื่อใช้เป็นฉากหลังโดยใช้เขียนภาพทิวทัศน์ เช่น โขดหิน ท้องฟ้า พื้นน้ำ การเขียนภาพตัวละครสำคัญมีความวิจิตรแบบไทยประเพณี มีการปิดทองที่ตัวภาพและตัดเส้นงดงาม คณะผู้วิจัยลำดับเนื้อหาของภาพโดยเริ่มจากฝั่งซ้ายมือพระประธาน ผนังด้านทิศเหนือที่เหนือบานหน้าต่างเป็นลำดับที่ 1 ต่อด้วยผนังระหว่างบานหน้าต่างโดยใช้ลำดับหมายเลขเหตุการณ์สำคัญเวียนตามเข็มนาฬิกา แผนผังงานจิตกรรรม ดังนี้ หมายเลข 1-10 ผนังฝั่งซ้ายมือพระประธาน ด้านทิศเหนือ เรื่องเทพชุมนุมและทศชาติชาดก หมายเลข 1 : ผนังเหนือบานหน้าต่างเป็นแถวเทพกำลังพนมมือเหาะเรียงกันจำนวน 3 แถว ทุกภาพหันหน้าไปหาพระประธาน ระหว่างเทพแต่ละองค์มีช่อดอกไม้ ด้านบนสุดเป็นนักสิทธิ์ วิทยาธร ด้านล่างผนังเหนือบานหน้าต่างเป็นลายหน้ากระดาน หมายเลข 2 : เขียนภาพทิวทัศน์ป่าเขาต้นไม้ มีถ้ำที่อาศัยของสัตว์หิมพานต์ เช่น นรสิงห์ หมายเลข 3-5 : อยู่บนผนังช่องเดียวกัน หมายเลข 3 : เล่าเรื่องพระเตมีย์กุมาร 3 ตอน ตอนแรกด้านซ้ายมือเป็นพระเตมีย์โอรสของพระเจ้ากาสิกราชทรงนั่งฟังการตัดสินลงโทษคนผิดของพระบิดาและตระหนักว่าการเป็นกษัตริย์ต้องทำบาปจึงอธิษฐานทำตนเป็นใบ้และง่อยเปลี้ยเสียขา มีตัวอักษรกำกับภาพ “อันนิพระเตมิเคามาเฝาพระบิดาเหนเขาเอานักโทษเขามาทำเปนใบเสียไมพูด” ตอนที่สอง พระบิดาสั่งให้คนขู่พระเตมีย์ให้ตกใจด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เอาช้างมาขู่ แต่พระเตมีย์ไม่หวั่นไหว ตอนที่สาม พระบิดาโปรดให้นำพระเตมีย์ไปฝังทั้งเป็น พระเตมีย์จึงทดลองกำลังด้วยการกวัดแกว่งราชรถเพื่อแสดงพระองค์ว่าไม่ได้เป็นคนพิการ มีตัวอักษรกำกับภาพ “เตมีใบแกว่งรถลองกำลัง” หมายเลข 4 : เล่าเรื่องพระมหาชนก 3 ตอน ตอนแรกด้านบนเป็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรท่ามกลางเรือแตก มีตัวอักษรความว่า “อันนีพระมะหาฉะนักโปกาเสียเรือลงว่ายนำนางเมะหลามาอูมไป” ตอนที่สองเป็นนางมณีเขมลาอุ้มพระมหาชนกขึ้นมาจากน้ำ ตอนที่สามนางมณีเมขลานำพระมหาชนกมาไว้ที่อุทยานของพระเจ้าโปลชนก มีตัวอักษรความว่า “นางเมกจะหลาอูมมาวางไวที่อันนีศรีพะฉะนัก” หมายเลข 5 : เล่าเรื่องพระสุวรรณสาม 3 ตอน ตอนแรกสุวรรณสามไปตักน้ำท่ามกลางเนื้อทรายและถูกศรพิษของพระเจ้ากบิลยักษ์ด้วยความเข้าใจผิดและทูลฝากให้พระเจ้ากบิลยักษ์ดูแลบิดามารดาแทนตน มีตัวอักษรความว่า “อันนีพระสุวัณระสามตองสอนกะบิละยักตายกะบิละยักก็เข้าไปบอกบิดามารดาออกมาที่สับรองไหยูที่สับแลง” ตอนที่สอง พระเจ้ากบิลยักษ์ไปแจ้งข่าวต่อบิดามารดา ตอนที่สาม มีตัวอักษรความว่า “อาสัมอันนีบิดามารดาแห่งพระสุวัณณะสามตาบอดยู่ด้วยกันทั้ง 2 คน กะบิลละยักพาไป” ตอนที่สาม พระเจ้ากบิลยักษ์นำบิดามารดามาพบกับสุวรรณสาม มีเทพธิดาปรากฏตัวอยู่บนต้นมาทำให้สุววรรณสามฟื้นจากความตาย มีตัวอักษรความว่า “อันนีนางเทพะดายูต้นไมลงมาโปรฎจากความตาย” หมายเลข 6-9 อยู่บนผนังช่องเดียวกัน หมายเลข 6 : เล่าเรื่องพระเจ้าเนมิราช 3 ตอน ตอนแรกด้านขวา เป็นพระเนมีราชทรงให้ทานถือศีลอุโบสถและปฏิบัติธรรมเรื่อยมา เมื่อขึ้นครองราชย์ ก็สั่งสอนให้ประชาชนรักษาศีล ทำบุญทำทานผลแห่งการทำความดีทำให้เป็นที่สรรเสริญทั่วทั้งสวรรค์ นรก และมนุษย์โลก ด้านล่างเป็นภาพบ้านเรือนแบบจีน คนจีน คนสูบฝิ่น ตอนที่สอง พระเนมีบรรทมรำลึกถึงทานที่ให้ไป พระอินทร์ลงมาสนทนาธรรม มีตัวอักษรความว่า “เมืองนีพระเนมิราชเมื่อแจกทารสำเรบแล้วพระองค์เคาที่บันทมรำพึงซึ่งผลทางผลทารจึงรอนเถิงทาวมักคะวานลงมาสันทะนาที่ในปราสาดแล้วขึนไปเอารดมารับ” ตอนที่สาม ด้านบน พระอินทร์ทรงส่งพระมาตุลีเทพบุตรนำราชรถมารับพระเจ้าเนมิราช หมายเลข 7 : ด้านล่างพระมโหสถออกอุบายทำแก้วมณีตก เกวัฏพราหมณ์ก้มลงเก็บและถูกพระมโหสถกดไหล่ ตัวอักษรค่อนข้างลบเลือน ด้านบนเป็นการนำแถวทหารขี่ม้าของพระมโหสถ หมายเลข 8 : เล่าเรื่อง 2 ตอน ตอนแรกพระภูริทัตต์ขดกายจำศีลบนจอมปลวก พราหมณ์อาลัมพายน์กำลังร่ายมนต์สะกด มีกลุ่มสตรีถือเครื่องดนตรี เช่น แคน กำลังแตกกระจายออกจากจอมปลวก ตอนที่สอง พระภูริทัตต์ถูกจับใส่กรง มีตัวอักษรความว่า “อันนีพระภูริทัตเมื่อลัมพายมาจากพระองค์ไปเลนพวกนางนากมาขับรัมถะหวายเลนเหนวิงหนี” หมายเลข 9 : พระอินทร์เหาะลงมานำค้อนไฟมาหักฉัตรทำลายพิธีบูชายัญเพื่อช่วยพระจันกุมาร พระราชบุตร พระราชธิดาและช้าง ม้า วัว ควาย ด้านซ้ายมีชาวเมืองรุมจับตัวกัณฑหาลพราหมณ์ที่ตัดสินความด้วยความอยุติธรรม มีตัวอักษรความว่า “อันนีเรื่องจันทะกุมารเมื่อมะพรามกับพระบิดดาจะเอามาค่าบูชายันทั้งพระทะกูมารสูนิยะกูมารแลเมียพระจันทะกูมารพระอินลงมาลางพิธี” หมายเลข 10 : เรื่องพรหมนารทชาดก เหตุการณ์ตอนพระเจ้าอังคติราชแลพระนางรุจาพระราชธิดาประทับอยู่ภายในพระมหาปราสาท พระพรหมนารทหาบสาแหรกบรรจุฝักสีทองเหาะลงมาจากเทวโลกเพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าอังคติราชไม่ให้หลงผิด หมายเลข 11-13 ผนังตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออก เรื่องวิมานพระอินทร์ เทพชุมนุม วิธูรบัณฑิต และเวสสันดรชาดก หมายเลข 11 : เป็นภาพเทพชุมนุมเรียงกัน 3 แถว ทำท่าเหาะโดยหันหน้าออกจากตรงกลาง แถวบนสุดเป็นนักสิทธิ์ วิทยาธร มีลายเมฆไหลอย่างจีน ผนังตรงกลางเหนือบานประตูเขียนเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงภาพปราสาทไพชยนต์ซึ่งเป็นวิมานของพระอินทร์ ด้านล่างเป็นภาพนกเฟิงหวง (นกฟีนิกซ์) แบบจีนหันเข้าหาช่อดอกไม้ที่อยู่ตรงกลาง หมายเลข 12 : เล่าเรื่องวิธูรบัณฑิต 3 ตอน ภาพด้านล่างสุดพระเจ้าธนญชัยโกรพ์ พระยานาค พระยาครุฑ และพระอินทร์เจริญสมาธิบำเพ็ญธรรม พระราชาทั้งสี่ต่างอยากรู้ว่าศีลของผู้ใดประเสริฐกว่ากัน พระวิธูรบัณฑิตจึงแสดงธรรมกราบทูลว่าศีลของทั้งสี่พระองค์ต่างเลิศล้ำเสมอกัน เมื่อพระยานาคกลับถึงเมืองจึงเล่าให้มเหสีฟัง มเหสีอยากฟังธรรมจึงออกอุบายแสร้งประชวรแล้วให้พระสวามีนำหัวใจของวิธูรบัณฑิตมาให้ ปุณณกยักษ์อาสาท้าพนันกับพระเจ้าธนญชัยโกรพ์ พระเจ้าธนญชัยโกรพ์ทรงแพ้ต้องยกพระวิธูรบัณฑิตให้ไป ด้านบนเป็นภาพปุณณกยักษ์จับพระวิธูรบัณฑิตทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น จับฟาดภูเขา ผลักตกเหว ท้ายที่สุดภาพตรงกลางด้านขวาวิธูรบัณฑิตแสดงธรรมให้ปุณณกยักษ์ฟัง หมายเลข 13 : เล่าเรื่องพระเวสสันดรตอนต้นเรื่อง 2 ตอน คือ ตอนบนนางผุสดี หนึ่งในมเหสีของพระอินทร์เมื่อถึงคราวจุติจากสวรรค์ พระอินทร์จึงประทานพรให้ 10 ประการ หนึ่งในนั้นคือ การมีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป ตอนที่สองด้านล่างของภาพ นางผุสดีเกิดเป็นธิดากษัตริย์ มัทราชและอภิเษกกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งแคว้นสีพีก่อนที่จะให้กำเนิดพระเวสสันดร หมายเลข 14-18 ผนังด้านขวามือของพระพุทธรูป หมายเลข 14 : ผนังเหนือบานหน้าต่างเป็นภาพเทพชุมนุม รูปแบบคล้ายกับจิตรกรรมหมายเลข 1 คือ เป็นเทพชุมนุม 3 แถว ด้านบนสุดเป็นแถวของนักสิทธิ์ วิทยาธร หมายเลข 15 : ผนังตอนล่างลบเลือน เป็นภาพกษัตริย์และราชบุตรนั่งในปราสาทอาจหมายถึงพระเจ้ากรุงสญชัยและเวสสันดร กลางภาพเป็นภาพพระเวสสันดรทรงมอบช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์ที่มาจากเมืองกลิงคราษฎร์ที่กำลังแห้งแล้ง ด้านบนเป็นพราหมณ์กำลังขี่ช้างปัจจัยนาเคนทร์ออกไปจากเมือง หมายเลข 16 : เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ตรงกลางด้านซ้ายมมือเป็นตอนที่ทรงถูกขับไล่ออกจากเมือง มีข้าราชบริพารเศร้าโศกเสียใจ ตอนบนด้านซ้ายทรงพระราชทานราชรถให้กับผู้ที่มาขอ ทรงอุ้มลูกทั้งสองเดินป่าด้วยพระบาทเพื่อไปยังเขาวงกต ด้านขวาตอนบนทรงพักอาศัยในป่าบำเพ็ญเพียร ตรงกลางและด้านขวาล่างเล่าเรื่องนางอมิตดาและชูชูกที่ตามมาขอพระกัณหาและพระชาลี ชูชกถามทางกับพรานเจตบุตรและอัจจุตฤๅษี หมายเลข 17 : เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผนังตรงกลางมีรอยน้ำฝนรั่ว ด้านซ้ายบนเป็นตอนนางมัทรีเก็บของป่า มีเสือเหลืองราชสีห์มาขวางทางไม่ให้นางมัทรีกลับอาศรมได้ทันก่อนที่พระเวสสันดรจะยกสองกุมารให้ชูชก ที่ติดกันด้านขวาเป็นพระอินทร์แปลงกายทูลขอนางมัทรีและประทานคืนให้ กลางภาพที่มีรอยน้ำเป็นทางพอมองเห็นฉากที่ชูชกค้างแรมกลางป่าโดยที่ตนเองผูกเปลนอนบนต้นไม้ ทิ้งสองกุมารไว้เบื้องล่าง เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงกายลงมาปกป้องสองกุมาร ด้านขวาเป็นภาพระเจ้ากรุงสีพีทรงไถ่ตัวสองกุมารและไปรับพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับคืนพระนคร ภาพขวาล่างเป็นการเดินทางกลับเข้าเมืองของกษัตริย์ทั้งหก หมายเลข 18 : เป็นภาพบ้านเรือนราษฎรมีแนวกำแพงเมืองอยู่เบื้องหลัง ในภาพจะเห็นการเลี้ยงสัตว์ เช่น ห่าน แพะ ไว้ใต้ถุนบ้าน หมายเลข 19-23 ผนังด้านหลังพระประธาน หมายเลข 19 : ตรงกลางเป็นภาพพระเจดีย์จุฬามณีที่อยู่ในกรอบเส้นสินเทารูปสามเหลี่ยมถมพื้นสีแดงสด มีการประดับเครื่องสูง เช่น ธง ฉัตร มีกลุ่มเทวดาเหาะมานมัสการโดยรอบ ฉากหลังเป็นเทพชุมนุมจำนวน 4 แถว ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของพระประธาน ทุกองค์ต่างหันหน้าเข้าหาพระเจดีย์จุฬามณีที่อยู่ตรงกลาง หมายเลข 20 : พุทธประวัติตอนเสด็จร่ำลานางพิมพาและราหุลเพื่อออกบรรพชา หมายเลข 21 : พุทธประวัติตอนเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะโดยมีจตุโลกบาลทั้งสี่รองรับเท้าม้า มีพระอินทร์ พระพรหมถือเครื่องสูงนำ หมายเลข 22 : พุทธประวัติตอนนางสุชาดายกถาดถวายข้าวมธุปายาสขึ้นเหนือหัวต่อหน้าพระพุทธองค์ หมายเลข 23 : พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงอธิษฐานลอยถาด มีวิมานของพระยานาคอยู่เบื้องหน้า นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่บานหน้าต่างเขียนภาพทวารบาลอย่างไทยประทับยืนพนมมือบนฐานสิงห์รองรับด้วยมารแบก ภาพรวมของงานจิตรกรรมพระอุโบสถเก่าวัดหน่อพุทธางกูรแสดงให้เห็นว่าช่างผู้เขียนลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่องกันไปตลอด เริ่มตั้งแต่ทศชาติชาดกคือ พระอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบุญบารมีก่อนที่จะทรงจุติมาเป็นพระพุทธองค์ ต่อด้วยพุทธประวัติซึ่งเป็นเรื่องของพระพุทธองค์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปได้ว่าช่างคงสร้างความต่อเนื่องกับพระประธานภายในพระอุโบสถเก่าว่าแทนพระพุทธองค์ตอนที่ตรัสรู้พระโพธิญาณแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่เป็นภาพกาก เช่น ภาพบ้านเรือน ผู้คน เครื่องดนตรี ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้นเอาไว้ด้วย เช่น ประเพณีการแต่งกายของขุนนางและไพร่ การสูบยาของผู้ชาย การเลี้ยงดูบุตรของผู้หญิง การออกล่าสัตว์ป่า ฯลฯ หากสังเกตภาพอาคารบ้านเรือนและผู้คนเริ่มมีความเป็นจีนเข้ามาปะปนอยู่ เนื่องจากในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาอิทธิพลศิลปะจีนเริ่มปรากฏชัดยิ่งขึ้นซึ่งจะอภิปรายต่อไป จากเทคนิคการเขียนภาพต้นไม้ที่ยังมีการระบายพื้นสีเข้ม กระทุ้งพุ่มใบด้วยสีอ่อนและเริ่มปรากฏแสงเงาในพุ่มแต่ยังไม่ปรากฏการวาดต้นไม้เรียงขนาดเล็ก-ใหญ่เพื่อแสดงระยะใกล้-ไกล ความสูงของพื้นดินแทบจรดขอบบนของภาพและไม่แสดงเส้นขอบฟ้าอย่างเด่นชัด ไม่แสดงภาพเมฆม้วนไปมาเป็นกลุ่ม ๆ ขนาดภาพตัวบุคคลมีขนาดเล็กและเขียนแบบนาฏลักษณ์มีการตัดเส้นอย่างวิจิตรบรรจง มีการปิดทองคำเปลวที่ตัวภาพ ลักษณะดังกล่าวใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมวัดประตูสาร แต่จากการมีใช้ตัวอักษรกำกับภาพ สัดส่วนตัวภาพที่มีระเบียบแบบแผนนาฏลักษณ์น้อยกว่า ทำให้กำหนดอายุจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูรได้ในสมัยปลายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (หลัง พ.ศ. 2378) ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |