MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดน้อย

ที่ตั้ง
วัดน้อยตั้งอยู่ที่ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ทิศตะวันตกติดแม่น้ำท่าจีน ทิศตะวันออกยังพอเห็นแนวคลองวัดน้อย ปัจจุบันมีถนนสายหลักตัดผ่านวัดทางทิศตะวันออกแยกออกมาจากถนนหมายเลข 340 สุพรรณบุรี-บางบัวทอง
ประวัติวัด
วัดน้อย เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ช้านาน ตามประวัติวัดของกรมศาสนาบันทึกข้อมูลจากคำบอกเล่าระบุว่ามีแม่ทัพนาย กองมีนามว่าพระยาน้อยได้ยกทัพมาพักแรมที่บริเวณนี้ สมัยนั้นมีวิหาร 1 หลัง พระยาน้อยจึงสร้างกุฏิและนิมนต์หลวงพ่อเนียม วัดรอเจริญมาเป็นเจ้าอาวาสแล้วตั้งชื่อว่าวัดน้อย หลวงพ่อเนียมสร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ใน พ.ศ.2451 ท่านมรณภาพ หลวงพ่อจอน เจ้าอาวาสลำดับต่อมาได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุด วัดน้อยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2417

จากการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะเมื่อ พ.ศ. 2529 ได้สอบถามพระอธิการหวั่น พุทฺธคาระโว อายุ 64 พรรษา เจ้าอาวาสวัดน้อยกับพระพวน ปิยธฺมโม อายุ 77 พรรษา (อายุในขณะนั้น) ให้ข้อมูลว่าวัดน้อยเป็นวัดเก่าแก่โบราณไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือผู้สร้าง พอสืบประวัติได้ว่าหลวงพ่อเนียม เป็นพระมาจากบ้านป่าพฤกษ์หรือโพธิ์พระยาได้มาถึงวัดน้อยและเห็นว่ามีวัดร้างอยู่ในบริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าไผ่ มีไก่แจ้อาศัยอยู่มาก สิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่ คือ วิหารและเจดีย์หลังวิหาร ตัววิหารหันหน้าออกทิศตะวันออกหันหลังให้แม่น้ำ ในวิหารมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่ โบราณวัตถุที่เป็นของเก่าแก่ ได้แก่ วิหาร พระพุทธรูปพระประธาน เจดีย์ ซึ่งเป็นของเก่าแก่มีมาแต่เดิม เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของสุพรรณบุรี เมื่อหลวงพ่อเนียมได้สร้างวัดน้อยให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สมัยหลวงพ่อเนียม ได้แก่ มณฑปพระพุทธบาท ศาลาการเปรียญเก่า หอไตร ศาลาท่าน้ำ แท่นนั่งวิปัสสนากรรมฐาน หอสวดมนต์ และหมู่กุฏิสงฆ์ พระอุโบสถสร้างใหม่ในที่เดิมเมื่อ พ.ศ. 2502 ศาลาการเปรียญเก่ารื้อลงสร้างใหม่ที่เดิมเมื่อ พ.ศ. 2473 ส่วนมณฑปพระพุทธบาทยังอยู่ในสภาพเดิม
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
อาคารที่ตั้งงานจิตรกรรมฝาผนัง คือ มณฑปที่อยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นอาคารจตุรมุขแบบไทยประเพณีก่ออิฐถือปูน เดิมประดิษฐานพระพุทธบาท (ปัจจุบันนำพระพุทธบาทไปไว้ในวิหารหลังใหม่) หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องซ้อน 2 ชั้น เดิมมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์แกะสลักไม้ ปัจจุบันหักชำรุด หน้าบันเป็นปูนปั้นติดกระเบื้องถ้วย ตัวอาคารยกฐานสูงทำเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายมีหน้ากระดานตรงกลาง ตัวอาคารทำประตูทางเข้า 3 ด้าน ด้านละ 1 ช่อง เป็นประตูบานไม้ ด้านหลังทิศตะวันตกเป็นผนังทึบ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในมณฑปเป็นโถงโล่งมีเสาปูนรูปสี่เหลี่ยมค้ำตัวไม้เครื่องบนตรงกลางรวม 4 ต้น กึ่งกลางระหว่างเสา 4 ต้น มีฐานก่ออิฐถือปูนเคยเป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธบาท ปัจจุบันวัดได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้


จากการสัมภาษณ์นายสมศักดิ์ ปัญญาผล อายุ 85 ปี คนในชุมชนวัดน้อย เล่าให้ฟังว่ามณฑปหลังนี้เดิมประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่หลวงปู่เนียมสร้างจำลองขึ้นมา สมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก แต่ละปีจะมีงานฉลองพระพุทธบาทอย่างครึกครื้น ราว พ.ศ. 2546-2547 ที่แห่งนี้ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร จนถึงสมัยหลวงพ่อหวันเป็นเจ้าอาวาส ราว พ.ศ. 2555 ก็ไม่ได้ใช้งานมณฑปหลังนี้อีกต่อไป (สัมภาษณ์ สมศักดิ์ ปัญญาผล, 1 เมษายน 2565)

รายงานการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะอธิบายว่าภายในมณฑปมีงานจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบทั้งสี่ด้านเล่าเรื่องเทพชุมนุม พระมาลัย และพุทธประวัติ จากการสอบถามพระคำ มณีอินทร์ อายุ 87 พรรษา (เมื่อ พ.ศ. 2521) ท่านเล่าว่าอาจารย์ สน ศุยานิมิตร เป็นผู้เขียนภาพภายในมณฑปเพียงคนเดียว ขณะนั้น (พระคำขณะที่มีอายุ 5-6 ปี) มณฑปสร้างแล้วเสร็จและมีการสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบ เมื่อสร้างแล้วเสร็จอาจารย์สนได้เขียนภาพ ดังนั้นจิตรกรรมน่าจะเขียนราว พ.ศ. 2441-2442

จิตรกรรมมีทั้งที่อยู่ระดับเดียวกับบานประตูและเหนือคานจรดอกไก่ เป็นจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนฝาผนังแบบไทยประเพณี ฝีมือช่างพื้นบ้าน สีที่ใช้มี 4 สีคือ สีแดงน้ำตาล สีน้ำเงิน สีดำ และสีขาว มีการใช้สีบางมาก สีพื้นหลังที่เป็นพื้นดินและโขดหินส่วนใหญ่เป็นสีแดงน้ำตาล ท้องฟ้าและแม่น้ำเป็นสีน้ำเงิน มีสีขาวแทรกเป็นระยะ ส่วนสีดำใช้ในการตัดเส้นเท่านั้น การเขียนภาพต้นไม้ใช้วิธีร่างลำต้น กิ่ง และเส้นรอบพุ่มใบแล้วจึงเขียนสีเป็นใบ ลำต้นกิ่งก้านใช้สีน้ำเงิน พุ่มใบสีน้ำเงินและสีแดงการเขียนภาพตัวอาคารมีขนาดสูงใหญ่กว่าตัวบุคคล มองดูมีระยะใกล้-ไกล ภาพบุคคลมีขนาดเล็ก มักหันด้านข้าง รายละเอียดใบหน้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายเขียนอย่างคร่าว ๆ ภาพส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาพร่างด้วยสีดำและสีแดง แสดงให้เห็นว่าช่างเขียนยังคงเขียนค้างอยู่

ปัจจุบันมณฑปถูกปิดไว้ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน จากการสำรวจเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2565 จิตรกรรมในตำแหน่งเดียวกันกับบานประตูลบเลือนไม่สามารถศึกษาตีความเนื้อหาได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องใด คงเหลือบริเวณเหนือคานจรดอกไก่ที่ยังพอศึกษาเนื้อหาได้ค่อนข้างแน่ชัดองค์ประกอบภาพโดยรวมบริเวณสามเหลี่ยมเหนือคานจรดอกไก่ทั้งสี่ด้านเป็นพุทธประวัติ 3 ภาพ และเขาพระสุเมรุ 1 ภาพ เหนือขอบประตูทั้งสี่ด้านเป็นเทพชุมนุมที่มีทั้งเทวดาและครุฑคั่นผนังด้านล่างด้วยลายหน้ากระดานพื้นสีน้ำเงิน ผนังระหว่างบานประตูเป็นภาพเล่าเรื่องค่อนข้างลบเลือน
จิตรกรรฝาผนัง
คณะผู้วิจัยแบ่งงานจิตรกรรมเป็น 16 ห้องภาพ เรียงลำดับหมายเลขโดยเริ่มจากผนังมุมด้านหลังพระประธานระหว่างทิศตะวันตกวนไปทางทิศเหนือตามเข็มนาฬิกา

หมายเลข 1-4 ทิศตะวันตก หลังชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป

หมายเลข 1 : จิตรกรรมลบเลือน ยังพอเห็นกษัตริย์ประทับยืนในพระหัตถ์ทรงคันศร ด้านขวามีต้นกล้วยและบริวารนั่งพนมมือ มีทหารแต่งกายแบบตะวันตกยืนเรียงเป็นแถว


หมายเลข 2 : ผนังหลังฐานพระพุทธรูป ด้านบนเป็นแถวพระอดีตพุทธเจ้าคั่นด้วยลายหน้ากระดานพื้นสีน้ำเงิน ด้านล่างเรียงจากด้านซ้ายไปขวาเป็นรูปปราสาท ตรงกลางเป็นรูปบุคคคลนั่งสมาธิ ล้อมรอบด้วยกลุ่มคนที่ยิงธนูเข้าใส่ ด้านขวาเป็นปราสาทที่มีคน 2 คน นั่งสนทนากันอยู่ภายใน มีคนถือคันศรเดินตรงเข้ามา


หมายเลข 3 : กลางผนังมีพระพุทธองค์อาพาธบรรทมตะแคงขวาล้อมด้วยพระสาวกที่มาคอยปรนนิบัติ บ้างกำลังเดินทางถือกลดเป็นแถวยาว เหนือขึ้นไปเป็นอาคารทรงปราสาทซ้อนชั้น ตรงกลางมีโลงพระศพที่มีพระบาทยื่นออกมา มีพระสาวกนั่งร้องไห้ที่ปลายพระบาท หมายถึง พุทธประวัติตอนปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระบรมศพ


หมายเลข 4 : จิตรกรรมลบเลือน มีภาพเมือง กำแพงเมือง ด้านขวามีภาพกษัตริย์ยืนและมีบริวารถือฉัตรเดินตาม มีศาลาและกลุ่มคนอยู่กลางภาพ

หมายเลข 5-8 ผนังด้านทิศเหนือ

หมายเลข 5 : ด้านบนมีแถวทหารยืนเรียงกัน 8 คน มีแนวกำแพงเมืองและประตูเมืองอยู่ด้านขวา มีภาพกษัตริย์และบริวารถือฉัตรเดินเข้าประตูเมือง ตรงกลางปรากฏภาพกษัตริย์และบริวารถือฉัตร มีบริวารนั่งพนมมือโดยรอบ ด้านซ้ายมีสระน้ำและเรือพาย 2 ลำ เหนือสระน้ำมีภาพกษัตริย์และคนถือฉัตรเช่นกัน


หมายเลข 6 : แถบบนเป็นแถวพระอดีตพุทธเจ้าคั่นด้วยลายหน้ากระดานพื้นสีน้ำเงิน ด้านซ้ายของบานประตูเป็นแนวกำแพงเมืองและภาพบุคคล ด้านขวาของบานประตูส่วนใหญ่ลบเลือน ยังพอมองเห็นภาพที่ติดกับผนัง หมายเลข 7 ด้านบนภาพคนเดินจูงควาย ตรงกลางแถวทหารแต่งกายแบบตะวันตก และด้านล่างกษัตริย์มีบริวารถือฉัตร

หมายเลข 7 : เป็นภาพพระเจดีย์สีขาว มีเหล่าเทวดาและกำแพงแก้วล้อม พระมาลัยเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ พื้นหลังโดยรวมเป็นสีแดง มีกลุ่มเมฆสีขาวตัดเส้นด้วยสีน้ำเงินและเทวดาพนมมือบนก้อนเมฆโดยรอบ หมายถึง ภาพเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


หมายเลข 8 : เป็นภาพแนวกำแพงเมืองขนานทั้งด้านบนและด้านล่าง มีภาพปราสาทและศาลาหลายหลัง ตรงกลางมีปราสาทและภาพกษัตริย์ที่มีฉรรพรรณรังสีนั่งอยู่ด้านในกำลังพระราชทานสิ่งของให้กลุ่มพราหมณ์ที่นั่งอยู่หน้าปราสาท ด้านขวามีกลุ่มคนที่มาเข้าเฝ้ามีฉากกั้นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ด้านขวาบนของปราสาท มีกลุ่มคนเดินเรียงเป็นแถวแบกหามสิ่งของที่น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยเพราะมีคนถือริ้วธงตามเป็นขบวน


หมายเลข 9-12 ทิศตะวันออก ตรงข้ามฐานพระพุทธรูป

หมายเลข 9 : (ผนังลบเลือน) ด้านซ้ายบนของผนังพอมองเห็นกลุ่มคนขี่ช้างในป่า ถัดลงเป็นแถวกษัตริย์ 4 องค์ นั่งหันหน้าไปทางขวา ทรงเตรียมถวายสิ่งของได้แก่ พระบาท พระขรรค์ มงกุฎ และฉัตร ให้กับบุคคลที่ยืนนิ่งอยู่ ด้านล่างกลุ่มคนนั่งพนมมือล้อมคนที่นั่งสมาธิ


หมายเลข 10 : ด้านบนเป็นแถวพระอดีตพุทธเจ้าคั่นด้วยหน้ากระดานสีน้ำเงิน ถัดลงมาด้านซ้ายของประตูเป็นฉากป่า มีแถวขุนนางนุ่งผ้าลายดอกจำนวน 8 คน ยืนพนมมือหันหน้าไปทางซ้าย ต่อด้วยคนขี่ม้าถือธง ด้านขวาของภาพมีภาพปราสาท 3 ช่องที่มีคนยืนอยู่ตรงกลาง

ด้านขวาของบานประตูตรงกลางเป็นปราสาทซ้อนชั้นขนาดใหญ่ 2 องค์ รูปแบบการวาดปราสาทคล้ายจิตรกรรมอีสาน มีแถวคนนั่งพนมมือ ภาพบ้านเรือนและชาวบ้านกำลังตำครกกระเดื่อง


หมายเลข 11 : ตรงกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยมีนางธรณีบิดน้ำออกจากมวยพระเกศาท่วมเหล่าพระยามารและพลพรรคพ่ายแพ้ไป หมายถึง พุทธประวัติตอนมารผจญ


หมายเลข 12 : กลางภาพมีกษัตริย์ทรงช้างมีขบวนทหารติดตามเป็นแถว มีกลุ่มคนกำลังร่ายรำและเป่าแคนนำหน้า ด้านบนขวาเป็นปราสาทที่มีกษัตริย์ 2 องค์นั่งสนทนาพร้อมข้าราชบริพารนั่งหันหลังให้คนดูอยู่รายรอบ


หมายเลข 13-16 ทิศใต้

หมายเลข 13
: ภาพลบเลือน ผนังด้านนี้มีตู้หนังสือบังด้านขวา ที่พอมองเห็นด้านซ้ายคือกลุ่มสตรีนุ่งซิ่นยาวแบบลาว


หมายเลข 14 : ด้านซ้ายของประตู มีสระน้ำสี่เหลี่ยมที่เทวดากำลังเก็บดอกบัว ใกล้กันมีภาพนางรำ 2 คน พร้อมกลุ่มนักดนตรี แลเห็นคนตีฉิ่ง เป่าขลุ่ย ตีกลอง มีกลุ่มคนกำลังชี้ชวนกันดูนางรำ ด้านขวาเป็นปราสาท แถวทหารยืน 7 คนและกลุ่มคนก้มกราบ


หมายเลข 15 : เป็นภาพปราสาท 3 หลัง เรียงกันบนโขดเขา แต่ละหลังมีรูปบุคคลนั่งอยู่ภายใน หมายถึงเขาพระสุเมรุ ปราสาทหลังบนสุดที่มีรูปบุคคลรูปกายสีเข้มน่าจะหมายถึงปราสาทไพชยนต์ที่เป็นวิมานของพระอินทร์ ปราสาทหลังกลางและหลังล่างสุดมีรูปบุคคลนั่งทางด้านซ้ายและขวา อาจหมายถึงพระมาลัยกำลังสนทนาธรรมกับพระศรีอาริย์


หมายเลข 16 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ด้านซ้ายล่างเป็นแนวกำแพงเมือง เหนือขึ้นไปเป็นแถวทหารและกลุ่มชาวบ้าน

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดน้อย. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต