วัดป่าพระเจ้า
ที่ตั้ง |
---|
วัดป่าพระเจ้า ตั้งอยู่เลขที่ 121 บ้านป่าพระเจ้า หมู่ที่ 5 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 3373 สายสามโก้-ศรีประจันต์ |
ประวัติวัด |
---|
วัดป่าพระเจ้ามีพื้นที่ตั้งติดกับอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เสนาสนะประกอบด้วยพระอุโบสถกว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร ศาลาการเปรียญกว้าง 20 เมตร ยาว 12 เมตร สร้าง พ.ศ. 2516 หอสวดมนต์กว้าง 3 เมตร ยาว 12 เมตร สร้าง พ.ศ. 2538 กุฏิสงฆ์จำนวน 9 หลัง เป็นอาคารไม้ โบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระประธานประจำพระอุโบสถ วัดป่าพระเจ้าตั้งเมื่อ พ.ศ. 2469 สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ได้สร้างมาแล้วราว 100 ปี หลักฐานที่พบ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปช้างที่อยู่ในพระอุโบสถ (น่าจะหมายถึงธงประดับรูปช้าง-คณะผู้วิจัย) ต่อมา พ.ศ. 2469 เริ่มมีประชาชนมาตั้งบ้านเรือนและพบพระอุโบสถหลังดังกล่าว นายแจ๊ดและนางมา ชูวงษ์จึงบริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด วัดป่าพระเจ้าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 จากการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 ได้ข้อมูลจากการสอบถามพระครูนิพัทธ์ วุฒิกร อายุ 65 พรรษา เจ้าอาวาสในขณะนั้น สรุปได้ว่าหลวงพ่อเถื่อนเป็นผู้สร้างวัด ให้ชื่อว่าวัดป่าพระเจ้า หลวงพ่อเถื่อนเลี้ยงช้างไว้เชือกหนึ่ง ใช้ช้างบรรทุกวัสดุต่าง ๆ เอามาก่อสร้าง แต่ก่อนเคยมีเสาตะลุงช้างในวัดแต่ได้รื้อไปแล้ว การก่อสร้างในระยะแรกหลวงพ่อเถื่อนได้สร้างพระอุโบสถ หลวงพ่อเถื่อนให้กำนันไซไปขอพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่กำนันไซเอาเงินไปเล่นพนันหมดไม่ได้ใบพระราชทานวิสุงคามสีมามาแต่มาบอกว่าได้แล้ว แต่เมื่อจะขอดูใบวิสุงคามสีมากำนันไซรู้ตัวจึงเผาเรือนที่อยู่ทำเป็นว่าใบพระราชทานวิสุงคามสีมาถูกไฟไหม้ การสร้างพระอุโบสถจึงค้างไว้ไม่ได้ผูกพัทธสีมาและกลายเป็นวิหาร คนรุ่นหลังมาเห็นเพียงวิหารร้าง ไม่มีพระเณรอยู่ สมัยหลวงพ่อเถื่อนพื้นที่แห่งนี้กันดารข้าวยากหมากแพง ผู้คนอพยพไปอยู่อำเภอวิเศษชัยชาญ หลวงพ่อเถื่อนตามชาวบ้านไปและสร้างวัดหลวงที่วิเศษชัยชาญ จากเวลาที่หลวงพ่อเถื่อนได้สร้างวิหารจนถึงปัจจุบัน 150 ปี ต่อมามีประชาชนเพิ่มมากขึ้น การทำบุญลำบากถึงคราวตรุษสงกรานต์เทศกาลต้องนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญใส่บาตรในบริเวณนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นวัดอยู่แล้ว ต่อมามีพระสงฆ์มาจำพรรษาและประชาชนมีจำนวนมากขึ้นจึงร่วมกันสร้างกุฏิเล็ก ๆ เสาไม้มุงแฝกพอให้พระอยู่ได้จำนวน 2-3 หลังและนิมนต์พระอาจารย์สวนมาอยู่ปกครองวัด มีพระลูกวัดจำพรรษาพอสมควรครบจำนวนในการทำสังฆกรรมพอให้ทำบุญได้ เมื่ออาจารย์สวนสิ้นบุญ ประชาชนได้นิมนต์พระอธิการฟุ้ง ชุติโม (ฟุ้ง ชูวงษ์) มาจากอำเภอวิเศษชัยชาญ ท่านจึงเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2479 นอกจาก นี้ยังสร้างศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิ และมีการย้ายถึง 3 ครั้ง จนมาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน พ.ศ. 2480 |
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง |
---|
พระวิหารที่ตั้งงานจิตรกรรมฝาผนังเดิมประดิษฐานรอยพระพุทธบาทโลหะ ปัจจุบันถูกเคลื่อนย้ายไปไว้แห่งอื่น เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 5 ห้อง ฐานแอ่นโค้งทรงสำเภา ผนังด้านหลังก่อทึบ ผนังด้านข้างนอกอาคารมีเสาติดผนังด้านละ 4 ต้น หัวเสาเป็นปูนปั้นรูปบัวแวง มีหน้าต่างข้างละ 2 บาน มีประตูทางเข้าด้านหน้า 1 บาน หน้าบันประดับด้วยเครื่องถ้วย ภายในไม่มีฝ้าเพดานเป็นโครงสร้างม้าตั่งไหม พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานสูงมีงานปูนปั้นที่มีลวดลายต่าง ๆ ประดับอยู่ ลักษณะงานจิตรกรรมเป็นจิตรกรรมไทยประเพณีสกุลช่างพื้นบ้านที่รับอิทธิพลของช่างหลวงและอิทธิพลตะวันตก เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวบนชั้นรองพื้นค่อนข้างบาง จากการสอบถามพระครูนิพัทธ์ วุฒิกร เจ้าอาวาสทราบว่าช่างเขียนชื่อ พรม รับจ้างเขียนได้ค่าจ้างราว 200 บาท โครงสีที่ใช้โดยรวมเป็นวรรณะเย็น เช่นสีน้ำตาล สีเขียว สีดำ สีคราม และสีแดง สีแดงใช้เขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้าบนผนังช่วงบน มีทั้งหมด 30 องค์ ทำให้จิตรกรรมช่วงบนมีสีสว่าง จิตรกรรมช่วงล่างเป็นภาพเขียน Perspective ทัศนียวิทยา ตัวภาพที่อยู่ระยะไกล ๆ จะมีขนาดเล็กกว่าตัวภาพที่อยู่ใกล้สายตา มีการแบ่งกลุ่มภาพโดยใช้แนวกำแพงเมืองหรือแนวต้นไม้ ช่วงบนของผนังราว 1 ส่วน 4 ของห้องภาพเขียนเป็นท้องฟ้าต่อเนื่องกันไปทุกห้อง ท้องฟ้าเขียนด้วยสีครามและลงสีขาวทับเป็นก้อนเมฆเป็นกลุ่ม ๆ การเขียนต้นไม้จะกระทุ้งด้วยสีดำก่อนแล้วจึงกระทุ้งด้วยสีเขียวทับ บางต้นมีการตัดเส้นเป็นใบ ๆ ลำต้น กิ่งก้านเขียนด้วยสีดำ ต้นไม้ที่อยู่ในระยะไกลสายตาใช้การกระทุ้งสีครามและทับด้วยสีขาว การเขียนภาพสถาปัตยกรรมเขียนโดยแสดงแบบ “มุมตานกมอง” ตัวปราสาทซุ้มประตูเขียนอย่างงดงามมีการตัดเส้นลวดลายประดับประดาละเอียด การเขียนตัวสถาปัตยกรรมมีลักษณะสูง ยอดเรียวแหลมเมื่อเทียบกับภาพบุคคลจนดูเป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมวัดป่าพระเจ้า |
จิตรกรรมฝาผนัง |
---|
จิตรกรรมพระวิหารวัดป่าพระเจ้า ผนังด้านซ้ายและขวาของพระประธานด้านบนสุดเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้าคั่นด้านด้วยลายหน้ากระดานถัดลงมาเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ลำดับหมายเลขตามเนื้อหาพุทธประวัติ ตามแผนผัง ดังนี้ เริ่มจากผนังด้านซ้ายมือของพระประธานเวียนทวนเข็มนาฬิกาไปยังผนังด้านทิศตะวันตกหลังพระประธาน หมายเลข 1 : พระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งจำนวน 15 พระองค์ คั่นสลับด้วยกระถางบัว หมายเลข 2 : พระเจ้าสุทโธทนะทรงอภิเษกกับพระนางสิริมหามายา พุทธประวัติตอนวิวาหมงคล หมายเลข 3 : พระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร พุทธประวัติตอนประสูติ หมายเลข 4 : เจ้าชายสิทธัตถะกำลังร่ำลาพระนางพิมพาและพระราหุลเพื่อออกผนวช สังเกตการประดับธงพื้นสีแดงมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง หมายเลข 5 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัญฐกะมีพระยามารมาห้ามไว้ หมายเลข 6 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี หมายเลข 7 : พระพุทธองค์ทรงบรรทมมีพระอินทร์เสด็จลงมาทำนิมิตด้วยพิณ (ที่แลดูคล้ายซอ) สามสาย หมายเลข 8 : นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส หมายเลข 9 : พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานลอยถาด มีวิมานพระยานาคอยู่เบื้องหน้า หมายเลข 10 : ตอนพระยานาคมุจลินทร์ขดกายแผ่พังพานกั้นฝนและลมพายุมิให้ถูกพระพุทธองค์ หมายเลข 11 : พระพุทธองค์ประทับนั่งสมาธิบนบัลลังก์ใต้ต้นไม้ หมายถึงพุทธประวัติตอนเสวยวิมุตติสุข ณ สัตตมหาสถาน หมายเลข 12 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในอาคารทรงเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ สังเกตการเขียนอาคารที่แสดงมุมมองที่ลึกลดหลั่นเข้าไปแบบทัศนียวิทยาตะวันตก หมายเลข 13 : ภาพด้านซ้ายสุดของผนัง พระพุทธองค์ประทับนั่งพร้อมพระสาวกในอาคาร มีกลุ่มคนถวายภัตตาหาร มีชนชั้นสูง 1 คน นั่งพนมมือ หมายถึงพุทธประวัติตอนเทศนาโปรดพระยสกุลบุตร หมายเลข 14 : ตรงกลางผนังเป็นกลุ่มปราสาทพระราชวังขนาดใหญ่ พระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่ด้านใน มีกษัตริย์และข้าราชการบริพารนั่งพนมมือฟังธรรม หมายถึงพุทธประวัติตอนเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์ ผนังด้านหลังพระประธาน หมายเลข 15 : ตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ หมายเลข 16 : พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ดาวดึงส์ หมายเลข 17 : พระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ดาวดึงส์ ที่เชิงบันไดมีภาพนรกขุมต่าง ๆ และสัตว์นรกที่ถูกลงโทษ สังเกตการเขียนกลุ่มเมฆม้วนคดโค้งไปมาคล้ายลายเมฆไหลอย่างจีน หมายเลข 18 : มีภาพปราสาทขนาดใหญ่ กษัตริย์และมเหสีกำลังสั่งการเตรียมต้อนรับการกลับมาของพระพุทธองค์ หมายถึงเมืองสังกัสสนคร ผนังด้านขวามือของพระประธาน หมายเลข 19 : ผนังด้านนี้มีองค์ประกอบเป็นกลุ่มปราสาท 3 กลุ่ม ด้านขวา มีภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งในปราสาท ทรงเทศนาโปรดกษัตริย์และมเหสี มีหมู่ข้าราชบริพารนั่งเฝ้า ด้านนอกกำแพงเมืองเป็นป่า มีพรานกำลังแบกกวางที่ล่าได้ มีภาพสัตว์ป่า เช่น ชะนี ช้าง ฯลฯ มีภาพชาวบ้านกำลังตำข้าว ตรงกลาง กลุ่มปราสาท (ภาพลบเลือน) ไม่เห็นภาพบุคคล ภาพบริเวณนี้เมื่อครั้งสำรวจ พ.ศ. 2529 ระบุว่าเป็นพระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตในเมือง มีกษัตริย์และมเหสีพร้อมบริวารออกมาใส่บาตร พระพุทธองค์และพระสาวกเดินเรียงเป็นแถว ด้านซ้าย กลุ่มปราสาทที่อยู่ติดหน้าต่างเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งในปราสาท เหนือขึ้นไปเป็นผืนน้ำระบายสีไล่น้ำหนักแสงเงา มีเรือสำเภาและเรือกลไฟแล่นอยู่ ภาพนี้อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าองค์เมืองสังกัสนคร สังเกตการเขียนภาพปราสาทเป็นแบบไทยประเพณีแต่ซุ้มประตู ป้อมประตูเป็นจั่วสามเหลี่ยมแบบตะวันตก หมายเลข 20 : (ผนังด้านล่างลบเลือน) ด้านขวาเป็นภาพพระพุทธองค์เสด็จเข้าประตูเมือง โปรดเทศนาพระนางพิมพาและราหุลบนปราสาท มีเหล่าข้าราชบริพารหมอบเฝ้า นอกกำแพงเมืองเขียนภาพวัด เจดีย์ และกุฎิสงฆ์ มีเสาหงส์คู่ปรากฏอยู่ ภาพกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ เช่น ภิกษุชราใส่แว่นถือใบลานกำลังสอนพระธรรมแก่ภิกษุหนุ่ม เหนือขึ้นไปเป็นแนวเส้นขอบฟ้า ทิวทัศน์ป่าเขาที่เขียนผลักระยะใกล้-ไกล ด้านซ้ายสุดเหนือบานหน้าต่างเป็นพระภิกษุสงฆ์เดินเรียงแถว หมายเลข 21 : ด้านซ้าย เป็นตอนพระมหากัสสปะและกลุ่มพระสงฆ์เจออาชีวกที่กำลังเดินถือดอกมณฑารพ ด้านขวา เป็นกลุ่มปราสาทแลเห็นผู้คนอยู่ภายใน จากการสำรวจของ วรรณภา ณ สงขลาและคณะ พ.ศ. 2529 ระบุว่าเป็นภาพเมืองมีกษัตริย์และมเหสีประทับอยู่ในปราสาท มีนางสนมกำนัลหมอบเฝ้า ด้านล่างเป็นภาพม้า 2 ตัว กำลังพยศมีผู้คนแตกตื่นหนี ปัจจุบันภาพลบเลือน ผนังด้านตรงข้ามพระประธาน หมายเลข 22 : พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานระหว่างต้นรังคู่ มีภาพสุภัททะมาขอบรรพชาเป็นภิกษุรูปสุดท้าย ล้อมรอบด้วยพระสงฆ์สาวก กษัตริย์ พระอินทร์ พระพรหมมาคอยเฝ้า พระภิกษุสาวกแสดงอาการเศร้าโศก ตอนล่างมีกลุ่มผู้ชายผู้หญิงกำลังถือร่มเดินสนทนากัน หมายถึงพุทธประวัติตอนปรินิพพาน หมายเลข 23 : เป็นภาพเมืองมีกษัตริย์และมเหสีประทับในพลับพลา มีผู้หญิงมาเฝ้าสนทนากับกษัตริย์ มุมบนประตูเป็นภาพผู้หญิงชาวเมืองกำลังรอใส่บาตรภิกษุเดินทางไปนมัสการพระบรมศพ ภาพส่วนใหญ่ลบเลือน หมายเลข 24 : เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ข้อสังเกต จากเทคนิคการเขียนภาพบุคคลและต้นไม้ที่มีขนาดเล็ก-ใหญ่แสดงระยะหน้า-หลัง การเขียนแนวภูเขาด้วยสีอ่อนซ้อนกันไกล ๆ การเว้นระยะพื้นดินแสดงเส้นขอบฟ้าและผืนฟ้าเชื่อมต่อแนวเดียวกันทั้งผนัง การวาดภาพก้อนเมฆม้วนไปมาเป็นกลุ่ม ๆ ภาพเรือกลไฟ ภาพสถาปัตยกรรมที่ผสมกับแบบตะวันตก รวมทั้งธงช้าง ทำให้กำหนดอายุจิตรกรรมได้ว่าอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะมีการเขียนภาพตัวละครสำคัญแบบนาฏลักษณ์และอาคารปราสาทตัดเส้นอย่างวิจิตรบรรจงก็ตาม |
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าพระเจ้า. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |