MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพยัคฆาราม

ประวัติวัด
วัดพยัคฆาราม ตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2275 ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา จากการสำรวจของคณะผู้วิจัย เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ยังพบพระเศียรพระพุทธรูปหินทรายแดงในพระวิหารน้อยเป็นหลักฐานการสนับสนุนว่าวัดพยัคฆารามอาจเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดพยัคฆารามเดิมชื่อวัดเสือ ตามประวัติที่มีผู้เล่าว่าเคยเห็นเสือเพ่นพ่านบริเวณนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2509 เสนาสนะสำคัญ เช่น พระอุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร สร้าง พ.ศ. 2508 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 22 เมตร ยาว 40 เมตร นอกจากนี้ยังมีหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ ฯลฯ

จากการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 ได้ข้อมูลจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพระเถระ 2 รูป ชื่อหลวงพ่อเนียมและหลวงพ่อเสือ ได้ธุดงค์มาปักกลดบริเวณนี้ เมื่อก่อนเป็นวัดร้างมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น จากนั้นหลวงพ่อเนียมไปจำพรรษาที่วัดไก่เตี้ย หลวงพ่อเสืออยู่ที่นี่ ว่ากันว่าท่านเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระด้านอาโปกสิณสมบัติ เดินบนผิวน้ำได้ ท่านผูกเสือธนูไว้เฝ้าหน้าพระวิหาร 1 ตัว ผู้คนมักพบเห็นเสือเดินเพ่นพ่านภายในบริเวณวัดจนเป็นที่เกรงขามของชาวบ้าน สมัยพระมหาดิษฐ์เป็นเจ้าอาวาส สันนิษฐานว่าท่านเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพยัคฆาราม มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าพระมหาดิษฐ์ท่านเข้าสอบบาลีปากเปล่าที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประธานการสอบ สอบคราวนั้นได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค เป็น “พระธรรมกถึก” เชี่ยวชาญในการแสดงธรรม ท่านเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงเทพฯ ท่านกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้หลายปี เจ้าจอมเที่ยงกับเจ้าจอมช้อยพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลื่อมใสศรัทธานะพระกฐินมาทอดคราวหนึ่ง
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
อาคารที่ตั้งงานจิตรกรรมคือ วิหารน้อย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดติดกับโรงเรียน เป็นอาคารทรงโรงก่ออิฐถือปูน มีอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานบัวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้า 1 ช่อง มีพาไลยื่นออกมา มีบันได้ขึ้นสู่พื้นพาไลทั้ง 2 ข้าง ผนังด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง ด้านหลังเป็นผนึงทึบ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม่ประดับลวดลาย เพดานไม้พื้นสีน้ำตาลแดงเขียนลายดาวขนาดเล็กใหญ่ด้วยสีอ่อนสลับสีคราม
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมภายในวิหารเหลือปรากฏเพียงเล็กน้อยคือ ที่ผนังสกัดหลังพระประธานเป็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้านและผนังด้านซ้ายมือพระประธานเป็นภาพเทพชุมนุมแบบไทยประเพณีฝีมือช่างพื้นบ้านที่รับอิทธิพลช่างหลวงอย่างใกล้ชิด เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวมีชั้นรองพื้นค่อนข้างบาง สีที่นิยมใช้คือ สีขาว สีเขียว สีคราม และสีแดง การตัดเส้นรายละเอียดภาพเทพชุมนุม เช่น ชฎา ผ้านุ่ง เครื่องประดับ ทำได้ประณีตงดงาม โดยมีแผนผังจิตรกรรม ดังนี้



หมายเลข 1 : ส่วนใหญ่ลบเลือน ตรงกลางพอมองเห็นภาพบ้านเรือนที่มีผู้หญิงอยู่ภายใน ภาพเสือ และภาพกินรี


หมายเลข 2 : เป็นแถวเทพชุมนุมเหนือบานหน้าต่างเหลือเพียง 1 แถว ประกอบด้วยเทพจำนวน 6 องค์ ทุกองค์นั่งพนมมือหันหน้าไปหาพระประธาน เทพมีทั้งที่เป็น เทวดา ยักษ์ และครุฑ เทพแต่ละองค์คั่นสลับด้วยแจกันดอกบัวและมีเส้นสินเทาอยู่ด้านหลังเทพชุมนุม สังเกตการเขียนลายผ้านุ่งมีการออกแบบลายให้ไม่ซ้ำกัน รวมทั้งตัดเส้นเครื่องประดับอย่างงดงาม

ข้อสังเกต แม้ว่าภาพเทพชุมนุมวัดพยัคฆารามใช้เส้นสินเทาในการแบ่งเนื้อหาของภาพ รวมทั้งการวาดภาพเทพสลับกันทั้งครุฑ ยักษ์ และเทวดาคล้ายจิตรกรรมพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี แต่ลวดลายเส้นสินเทากระด้างไม่เป็นลายตะขอหรือวิจิตรบรรจง รวมทั้งการสับหว่างแถวเทพด้วยแจกันจีนตามแบบที่นิยมในจิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นจึงกำหนดอายุเทพชุมนุมวัดพยัคฆารามไว้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต