MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดปราสาททอง

ที่ตั้ง
วัดปราสาททอง ตั้งอยู่บนถนนหมื่นหาญ ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2493 ทิศเหนือติดถนนหมื่นหาญ ทิศใต้ติดถนนสร้อยทอง ทิศตะวันออกติดถนนขุนแผน และทิศตะวันตกจรดถนนพระพันวษาต่อเนื่องกับแม่น้ำท่าจีน
ประวัติวัด
วัดปราสาททอง ไม่ปรากฏประวัติแน่ชัดว่าเริ่มมีการสร้างวัดเมื่อใด แต่เดิมเป็นซากก่ออิฐรูปปราสาททอง 4 มุข อยู่เหนือพระอุโบสถหลังเก่า ปัจจุบันมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่บนเนินทับซากปราสาท 4 มุข เสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถกว้าง 27 เมตร ยาว 43 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ศาลาการเปรียญกว้าง 20 เมตร ยาว 36 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้ยังมีหอสวดมนต์ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ศาลาเอนกประสงค์ กุฎิสงฆ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามจากรายงานการสำรวจของ วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 ระบุว่าวัดปราสาททองเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นเดียวกันกับวัดกลาง วัดสวนหงส์ ปรากฏในหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ว่าวัดปราสาททองได้รับการประกาศตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 สิ่งก่อสร้างเมื่อแรกสร้างถูกรื้อและสร้างใหม่ เช่น พระอุโบสถ ศาลา และกุฏิ พระอุโบสถหลังใหม่สร้าง พ.ศ. 2491 ทับจตุรมุขเดิม ในสมัยพระวิกรมมุนีเป็นเจ้าอาวาส ด้านหน้าพระอุโบสถเคยมีสระน้ำเก่า เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระวิกรมมุนีรื้อมณฑปและสร้างพระอุโบสถทับซากมณฑปได้พบโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปศิลาเขียวปางนาคปรกแกะสลักและพระพุทธรูปอื่น ๆ ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่ามีพระธุดงค์เดินทางมาจากราชบุรีราว 200 รูป มาช่วยกันสร้าง เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กเตี้ย ติดพื้นดิน ไม่มีช่อฟ้า มีพาไล อายุของพระอุโบสถหลังเก่าไม่สามารถกำหนดปีที่สร้างได้แน่นอน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากการตั้งเป็นวัดแล้ว ภายในวัดเคยพบเทวรูป ฐานศิวลึงค์ ใบเสมาหิน พระพุทธรูปนาคปรก ศิวลึงค์ที่พบ ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรนำไปไว้ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังพบวิหารซึ่งสร้างอยู่บนโคกเนินดินสูงเป็นวิหารขนาดเล็ก มีลักษณะเดียวกับพระอุโบสถเก่า คือ มีพาไลอยู่ทางทิศตะวันออก ผนังด้านที่มีพาไลเป็นผนังทึบ บนพาไลประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตกฝั่งพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก นอกจากพระประธานยังมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์รวมทั้งพระศรีอารย์หล่อโลหะซึ่งมีผู้เล่าว่านำไปไว้ที่วัดจำปา
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
พระอุโบสถวัดปราสาททองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทยประเพณี หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลด 2 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านหน้าและด้านหลังสร้างเป็นมุขยื่นออกมา มีเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมปลายเสาเป็นกลีบบัวรองรับอยู่ด้านละ 2 ต้น หน้าบันทั้งสองด้านเป็นปูนปั้นพระอินทร์ประทับในปราสาทล้อมรอบด้วยกระหนกก้านขด มีประตูทางเข้าที่ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถด้านละ 1 บาน กรอบซุ้มประตูเป็นรูปเทพพนม ด้านข้างทำหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานหน้าต่างเป็นบานไม้มีรูปเทพพนม 2 องค์ พื้นภายในปูพื้นหินอ่อน ที่เชิงผนังบุด้วยแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่ เพดานประดับด้วยดาว ที่บานประตูด้านหลังพระอุโบสถด้านหนึ่งมีอักษรกำกับว่า “สร้าง พ.ศ. 2491” อีกข้างหนึ่งเขียนว่า “ซ่อม พ.ศ. 2513” ในที่นี้กำหนดอายุจิตรกรรมไว้ช่วง พ.ศ. 2491-2513
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมภายในพระอุโบสถเขียนด้วยสีน้ำมันมีทั้งที่เขียนตามแบบพระเทวาภินิมมิตและแบบสมัยใหม่ตามรูปแบบของครูเหม เวชกร เขียนเป็นตอน ๆ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเรียงซ้อนกันเป็นชั้นเหนือขอบแผ่นหินอ่อนที่บุผนังช่วงล่างจนจรดเพดานด้านบน ส่วนใหญ่ใต้กรอบภาพมีตัวอักษร ตัวเลขระบุเนื้อหาและชื่อผู้อุปถัมภ์ให้เขียนภาพ เนื้อหาเป็นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก ฎีกาพาหุง และสังเวชนียสถาน มีทั้งหมด 108 ภาพ คณะผู้วิจัยลำดับเนื้อหาจิตรกรรมโดยเริ่มจากผนังหลังพระประธานด้านทิศตะวันตกแถวบนสุดด้านซ้ายมือเริ่มจากหมายเลข 1 เรียงจากบนลงล่าง เวียนขวาตามเข็มนาฬิกาไปทางผนังทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้จนจบหมายเลข 108 แผนผังภาพจิตรกรรม ดังนี้



หมายเลข 1-18 ทิศตะวันตก เรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และฎีกาพาหุง โดยภาพที่ 15-18 มีขนาดใหญ่กว่าภาพอื่น ๆ และเฉพาะภาพหมายเลข 15 และ 18 จะมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับผนังในตำแหน่งเดียวกันกับทิศใต้และทิศเหนือตามลำดับ


หมายเลข 1 : ภาพพระเนมียกราชรถขึ้นกวัดแกว่งเพื่อประลองกำลัง นายสุนันทะเงยหน้าขึ้นมองด้วยอาการตกใจ มีตัวอักษรใต้ภาพ “1.เน-พระเตมีย์”
หมายเลข 2 :
ด้านซ้าย เป็นพระสิทธัตถะกุมารก้าวพระบาทมีดอกบัวมารองรับ 7 ดอก
ด้านขวา เป็นพระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ ฉากหลังเป็นเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช  ลุมพินีวันซึ่งเป็นสถานที่ประสูติ มีตัวอักษรใต้ภาพ “1.ประสูติ
หมายเลข 3 :
ด้านขวา พระพุทธองค์ประทับนั่งตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์
ด้านซ้าย เป็นพุทธคยาฉากหลังเป็นอาคารพุทธคยา มีตัวอักษรใต้ภาพ “2.ตรัสรู้”
หมายเลข 4 : เป็นพระพุทธองค์ปฐมเทศนา ฉากหลังเป็นธรรมเมกขสถูป เมืองสารนาถ มีตัวอักษรใต้ภาพ “3.ปฐมเทศนา”
หมายเลข 5 : ภาพพระพุทธองค์ปรินิพพาน ฉากหลังเป็นสถูปปรินิพพาน เมืองกุสินารา มีตัวอักษรใต้ภาพ “4.ปรินิพพาน”
หมายเลข 6 : ภาพพระมโหสถเงื้อดาบขู่พระเจ้าจุลนีพรหมทัต มีตัวอักษรใต้ภาพ “5.ปัญ-พระมโหสถ”
หมายเลข 7 : นางมณีเมขลาช้อนร่างพระมหาชนกขึ้นจากมหาสมุทร ด้านล่างเป็นเรือสำเภาที่กำลังอับปาง มีคนตะเกียกตะกายหนีตายชุลมุน มีตัวอักษรใต้ภาพ “2.วิ-พระมหาชนก”
หมายเลข 8 : ด้านซ้ายเป็นสุวรรณสามต้องศร ด้านขวาเป็นกบิลยักขราช มีตัวอักษรใต้ภาพ “7.เมตฺ-พระสุวรรณสาม”
หมายเลข 9 : สุนันทะสารถีนำราชรถพาพระเนมีขึ้นไปชมสวรรค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “4.อ-พระเนมิราช”
หมายเลข 10 : พราหมณ์อาลัมพายน์กำลังร่ายมนต์ใส่พระภูริทัตต์ที่กำลังขดจำศีลอยู่บนจอมปลวก มีตัวอักษรใต้ภาพ “6.ลี-พระภูริทัต”
หมายเลข 11 : พระอินทร์นำค้อนเหล็กไฟมาหักฉัตรเพื่อทำลายพิธีบูชายัญพระจันทกุมาร ฉากหลังมีภาพอาคารที่มีหลังคาลดหลั่นคล้ายวัดเบญจมบพิตร มีตัวอักษรใต้ภาพ “3.ขนฺ-พระจันทกุมาร”
หมายเลข 12 : เป็นพระพรหมนารทเหาะหาบสาแหรกบรรจุฟักสีทองลงมาแสดงธรรมโปรดพระเจ้าอังคติราชโดยมีพระนางรุจาผู้เป็นพระธิดานั่งอยู่ด้านข้าง มีตัวอักษรใต้ภาพ “8.อุ-พระพรหมนารท”
หมายเลข 13 : ภาพพระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์ที่มาขอ มีตัวอักษรใต้ภาพ “10.ทา-พระเวสสันดร”
หมายเลข 14 : ปุณณกยักษ์จับวิธูรบัณฑิตฟาดกับภูเขา มีตัวอักษร “9.สัจ-พระวิธูร”
หมายเลข 15 : ปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศบังเกือบหมดภาพ พอมองเห็นฉากหลังเป็นป่า มีช้างอยู่ทางด้านซ้าย ด้านขวา น่าจะเป็นภาพภิกษุองค์สำคัญ หมายถึงตอนพระโกณฑัญญะเถระขออนุญาตพระพุทธองค์ออกปปฏิบัติธรรมในป่าหิมพานต์ช่วงบั้นปลายชีวิต มีช้างฉัททันต์มาปรนนิบัติ มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระโกณฑัญญะนิพพาน”


หมายเลข 16 : ภาพการประชุมของพระภิกษุจำนวนมาก คล้ายนั่งอยู่ในถ้ำ มีพระ 3 รูป คือ พระมหากัสสป พระอุบาลีและ พระอานนท์ ทำหน้าที่ประธานในการทำสังคายนา มีตัวอักษรใต้ภาพ “ปฐมสังคายนา”
หมายเลข 17 : ภาพพระสงฆ์รูปหนึ่งนั่งสมาธิอยู่กลางอากาศ ฉากหลังเป็นทิวทัศน์ หมายถึงพระอานนท์ปรินิพพาน มีตัวอักษรใต้ภาพ “พระอานนท์ปรินิพพาน”


หมายเลข 18 : ปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศบังภาพแต่พอมองเห็นเรือสำเภาแล่นในมหาสมุทร มีภาพพระยานาค หมายถึง การอันเชิญต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียไปศรีลังกา ในทะเลมี พระยานาคมาแสดงความชื่นชม มีตัวอักษรใต้ภาพ “อัญเชิญพระศรีมหาโพธิสู่สีลังกา”

หมายเลข 19-52 และ 71 ทิศเหนือ โดยภาพหมายเลข 71 เนื้อหาจะเชื่อมโยงกับผนังในตำแหน่งเดียวกันกับทิศตะวันออก จิตรกรรมหมายเลข 19-48 เล่าเรื่องพุทธประวัติ หมายเลข 49-52 เล่าเรื่องฎีกาพาหุง


หมายเลข 19 : พระอินทร์และพระพรหมอัญเชิญพระโพธิสัตว์ลงมาจุติ มีตัวอักษใต้ภาพ “1.เชิญจุติ”
หมายเลข 20 : พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตว่ามีช้างมาประทักษิณรอบพระองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “2.สุบินนิมิต”
หมายเลข 21 : พระนางสิริมหามายาทรงยืนประทับเหนี่ยวกิ่งไม้ประสูติพระสิทธัตถะกุมารที่กำลังก้าวพระบาทมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ เหล่าเทวดา เช่น พระอินทร์ พระพรหม มาแห่แหนต้อนรับ มีตัวอักษรใต้ภาพ “3.ประสูติ”
หมายเลข 22 : พระสิทธัตถะกุมารกระทำปาฏิหาริย์เสด็จขึ้นไปยืนบนชฎาของดาบส มีตัวอักษรใต้ภาพ “4.อาสิตดาบสถวายบังคม”
หมายเลข 23 : พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาทรงให้พราหมณ์ทั้งแปดทำนายดวงชะตาของพระสิทธัตถะกุมาร มีตัวอักษรใต้ภาพ “5.ทายพระลักษณะ”
หมายเลข 24 : ​ ด้านหน้าพระสิทธัตถะกุมารทรงแสดงปาฏิหาริย์​บรรลุปฐมฌานขณะประทับใต้ร่มไม้หว้า ฉากหลังเป็นพระราชพิธี​จรดพระนังคัล​แรกนาขวัญ ​มีตัวอักษรใต้ภาพ “6.แรกนาขวัญ”
หมายเลข 29 : เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จมาที่บันได้ปราสาท พบกับนายฉันนะและม้ากัณฐกะ ฉากหลังเป็นเวลาค่ำมีพระจันทร์เต็มดวง มีตัวอักษรใต้ภาพ “11.ปลุกนายฉันนะผูกม้า”
หมายเลข 30 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกจากพระนครพร้อมนายฉันนะ มีพระยามารมายืนขวางไว้ มีตัวอักษรใต้ภาพ “12.พระยามารห้ามบรรพชา”
หมายเลข 31 : เจ้าชายสิทธัตถะปลงผมตัดพระเมาลีที่แม่น้ำอโนมา มีพระอินทร์และพระพรหมอยู่ด้านข้าง มีตัวอักษรใต้ภาพ “13.ตัดเกศาบรรชา”
หมายเลข 32 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่า มีพระเจ้าพิมพิสารไปเข้าเฝ้าทูลเชิญให้ไปครองราชย์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “14.พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้า”
หมายเลข 33 : พระพุทธองค์ประทับนั่งสมาธิศึกษาวิชาจากอาฬารดาบส มีตัวอักษรใต้ภาพ “15.ศึกษากับอาฬารดาบส”
หมายเลข 34 : พระพุทธองค์ทรงกระทำทุกกรกิริยา เช่น อดอาหารจนร่างกายผ่ายผอม ด้านขวาเป็นปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเฝ้าปรนนิบัติ ด้านซ้ายบนเป็นพระอินทร์ดีดพิณสามสาย มีตัวอักษรใต้ภาพ “16.บำเพ็ญทุกกรกิริยา”
หมายเลข 39 : พระพุทธองค์ประทับนั่งสมาธิ เบื้องหน้าพระพักตร์เป็นธิดาพระยามาร 3 ตน มาล่อลวง มีตัวอักษรใต้ภาพ “21.สามธิดามารลวงล่อ”
หมายเลข 40 : พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข ณ สัตตมหาสถาน 7 แห่ง สัปดาห์ที่ 6 ประทับใต้ต้นจิก มีพระยานาคมุจลินทร์ขึ้นมาขดกายแผ่พังพานกั้นฝนและลมพายุ มีตัวอักษรใต้ภาพ “22.พระยานาคปรกพระกาย”
หมายเลข 41 : ท้าวจตุโลกบาลถวายบาตรให้พระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “23.ท้าวจตุโลกบาลถวายบาตร”
หมายเลข 42 : สองพ่อค้าพี่น้อง ตปุสสะและภัลลิกะถวายสัตตูก้อนและสัตตูผงแด่พระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “24.สองพานิชถวายข้าวสัตตุ”
หมายเลข 43 : ท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้าอาราธนาพระพุทธองค์ให้ทรงแสดงธรรมแก่อเนกนิกรสัตว์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “25.พรหมอารธนา”
หมายเลข 44 : พระพุทธองค์ประทับนั่งสมาธิใต้ต้นไม้ ทรงเปรียบเทียบอเนกนกรสัตว์เป็นดอกบัวทั้งสี่เหล่า มีอักษรใต้ภาพ “26.ตรวจอุปนิสัยเวไนยสัตว์”


หมายเลข 25 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงสำแดงศิลปศาสตร์ ทรงยกสหัสถามธนูที่หนักเท่าคนจำนวนหนึ่งพัน มีตัวอักษรใต้ภาพ “7.ประลองศิลปศาสตร์”
หมายเลข 26 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกกับพระนางพิมพา มีพระอินทร์และพรพรหมมารดน้ำอภิเษก มีตัวอักษรใต้ภาพ “8.อภิเศกกับพิมพา”
หมายเลข 27 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงประพาสอุทยานและเห็นเทวทูตทั้งสี่ มีตัวอักษรใต้ภาพ “9.พบเทวทูตสี่”
หมายเลข 28 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยออกผนวช ทรงร่ำลาพระนางพิมพาและพระราหุล มีตัวอักษรใต้ภาพ “10.ลาพิมพา”
หมายเลข 35 : นางสุชาดาถวายข้างมธุปายาส มีตัวอักษรใต้ภาพ “17.นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส”
หมายเลข 36 : พระพุทธองค์ทรงลอยถาดอธิษฐาน ด้านล่างเป็นวิมานของพระยานาคที่มีถาดอธิษฐานของพระพุทธเจ้า มีตัวอักษรใต้ภาพ “18.เสี่ยงบารมีลอยถาด”
หมายเลข 37 : ด้านซ้ายกองทัพพระยามารเข้าทำร้ายพระพุทธองค์ ด้านล่างเป็นนางธรณีบีบน้ำจากมวยพระเกศาท่วมเหล่ามารที่อยู่ทางด้านขวา มีตัวอักษรใต้ภาพ “19.มารผจญ”
หมายเลข 38 : พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ฉากหลังเป็นเวลาค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง มีตัวอักษรใต้ภาพ “20.ตรัสรู้”
หมายเลข 45 : พระพุทธองค์ทรงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “27.โปรดปัญจวัคคีย์”
หมายเลข 46 : พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดยศกุลบุตรที่ถอดรองเท้าทองคำไว้ด้านข้างและขอบรรพชา มีตัวอักษรใต้ภาพ “28.โปรดยสกุลบุตร”
หมายเลข 47 : พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลสามพี่น้องจนออกบวชและลอยเครื่องบริขารทั้งหมดลงในน้ำ มีตัวอักษรใต้ภาพ “29.โปรดชฎิลสามพี่น้อง”
หมายเลข 48 : ด้านหน้าเป็นพระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร มีตัวอักษรใต้ภาพ “30.โปรดพระเจ้าพิมพิสาร”


หมายเลข 49 : จิตรกรรมระหว่างบานหน้าต่าง พระพุทธองค์ประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ มีนางธรณีประทับยืนบีบน้ำจากมวยพระเกศาท่วมเหล่ากองทัพมารพ่ายแพ้ไป หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยามาร มีตัวอักษรใต้ภาพ “1.พาหุง-ชนะพระยามาร”

หมายเลข 50 : พระพุทธองค์ทรงปราบอาฬวกยักษ์ที่เงื้อกระบองหมายจะทำร้ายพระพุทธองค์ หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี มีตัวอักษรใต้ภาพ “2.มารา-ชนะอาฬวกยักษ์”
หมายเลข 51 : พระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคิรีหมายให้แทงพระพุทธเจ้าขณะออกบิณฑบาตแต่มีพระอานนท์ยืนขวางไว้ ต่อมาทรงทรมานช้างนาฬาคิรีให้หยุดพยศหมอบตัวลง หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะช้างนาฬาคิรี มีตัวอักษรใต้ภาพ “3.นาฬา-ชนะช้างนาฬาคิรี”
หมายเลข 52 : พระพุทธองค์ทรงชนะองคุลิมาล โจรที่ฆ่าคนเพื่อตัดนิ้วให้ได้ครบพันคน โดยหวังที่จะสำเร็จวิษณุมนต์ หมายถึงฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะโจรองคุลีมาล มีตัวอักษรใต้ภาพ “4.อุกขิต-ชนะโจรองคุลีมาล”

หมายเลข 53-74 ทิศตะวันออกเป็นพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และฎีกาพาหุง โดยภาพที่ 71-74 มีขนาดใหญ่กว่าภาพอื่น ๆ ภาพหมายเลข 71 มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับผนังในตำแหน่งเดียวกันด้านทิศเหนือ หมายเลข 74 มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับผนังในตำแหน่งเดียวกันกับทิศใต้

หมายเลข 53 : พระเจ้าพิมพิสารกรวดน้ำโดยมีพระพุทธองค์ยื่นพระหัตถ์รอรับ ฉากหลังเป็นพระราชวัง พุทธประวัติตอนพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันให้เป็นอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา มีตัวอักษรใต้ภาพ “31.พระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวัน”
หมายเลข 54 : ด้านซ้ายเป็นพระเจ้าพิมพิสารกรวดน้ำอุทิศส่วนให้เปรตที่มาขอส่วนบุญที่อยู่ทางด้านขวา ด้านซ้ายพระพุทธองค์แสดงธรรม มีตัวอักษรใต้ภาพ “32.อุทิศกุศลให้พระญาติเปรต
หมายเลข 55 : พระพุทธองค์ทรงอุปสมบทให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีเครื่องอัฐบริขารเหาะลอยเข้ามาทางหน้าต่าง ตัวอักษรใต้ภาพ “33.อัครสาวกบรรพชา”
หมายเลข 56 : พระพุทธองค์แสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางภิกษุจำนวนมาก มีตัวอักษรใต้ภาพ “34.โอวาทปาติโมกข์”
หมายเลข 57 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมตรงกลาง มีบรรดากษัตริย์มาฟังธรรมโดยรอบ หมายถึงพุทธประวัติตอนโปรดแสดงธรรมแก่พระญาติมีตัวอักษรใต้ภาพ “35.โปรดพระญาติ”
หมายเลข 58 : ภาพกษัตริย์ทั้งหกพระองค์ร่ำไห้ในพระมหาปราสาท มีตัวอักษรใต้ภาพ “13 ฉกษัตริย์”
หมายเลข 59 : ด้านหน้าพระเวสสันดรทรงประทับราชรถเทียมกวางพร้อมพระนางมัทรี กัณหาและชาลี ด้านหลังเป็นตอนที่พระเวสสันดรบริจาคม้าให้กับพราหมณ์ที่มาขอ มีตัวอักษรใต้ภาพ “3 ทานกัณฑ์”
หมายเลข 60 : ชูชกพานางอมิตตดาซึ่งเป็นลูกของเพื่อนที่ถูกนำมาใช้หนี้แทนกลับบ้าน ด้านหลังเป็นเพื่อนของชูชกยืนมอง มีตัวอักษรใต้ภาพ “5 ชูชก”
หมายเลข 61 : ชูชกออกอุบายให้อัจจุตฤษีชี้ทางไปเขาวงกตเพื่อไปขอพระกัณหาและพระชาลีจากพระเวสสันดร มีตัวอักษร “7 มหาพน”
หมายเลข 62 : พระเวสสันดรทรงเรียกพระกัณหาและพระชาลีให้ขึ้นมาจากสระน้ำเพื่อบริจาคเป็นทานให้กับชูชก มีตัวอักษรใต้ภาพ “8 กุมาร”
หมายเลข 63 : ด้านบนเป็นพระอินทร์เหาะแปลงกายลงมาเป็นพราหมณ์เพื่อขอบริจาคพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร มีตัวอักษร “10 สักกบรรพ”
หมายเลข 64 : ระหว่างการเดินทางในเวลากลางคืน ชูชกผูกเปลนอนบนต้นไม้ ทิ้งพระกัณหาและพระชาลีไว้ข้างล่าง เทวดาจึงแปลงกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีมาดูแลพระกัณหาและพระชาลี มีตัวอักษรใต้ภาพ “11 มหาราช”
หมายเลข 65 : พระเวสสันดรทรงบริจาคราชรถให้กับผู้ที่มาขอ ทรงเดินเข้าสู่เขาวงกตด้วยพระบาท มีตัวอักษรใต้ภาพ “4 วันประเวศน์”
หมายเลข 66 : ชูชกถูกสุนัขของพรานเจตบุตรจนต้องหนีขึ้นต้นไม้ มีตัวอักษรใต้ภาพ “6 จุลพน”
หมายเลข 67 : พระนางผุสดี มเหสีของพระอินทร์ เมื่อต้องจุติจากสวรรค์ได้ขอพระจากพระอินทร์ว่าให้ได้เป็นพระพุทธมารดาในอนาคต มีตัวอักษรใต้ภาพ “1 ทศพร”
หมายเลข 68 : พระเวสสันดรทรงหลั่งน้ำพระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับพราหมณ์จากเมืองข้างเคียงที่มาทูลขอ มีตัวอักษรใต้ภาพ “2 หิมพานต์”
หมายเลข 69 : พระนางมัทรียืนพนมมือ ระหว่างทางด้านหน้าพระนางมีเสือดาว เสือโคร่ง และราชสีห์ขวางทางอยู่ มีตัวอักษรใต้ภาพ “9 มัทรี”
หมายเลข 70 : ภาพขบวนทหารนำขบวนเสด็จพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง มีตัวอักษรใต้ภาพ “13 นครกัณฑ์”
หมายเลข 71 : ภาพโลกสัณฐานกลมและมีดอกบัวผุดอยู่ รอบลูกโลกมีเทวดาและเหล่าพรหมล้อมรอบ มีตัวอักษร “โลกภัททกัปป์” หมายถึงกัลป์อันเจริญ คือ กัลป์ปัจจุบันที่มีพระพุทธเจ้าจำนวนมากถึง 5 พระองค์ น่าสังเกตการเขียนโลกมีสัณฐานกลมแบบดาวเคราะห์ไม่แสดงความเข้าใจแบบไตรภูมิ
หมายเลข 72 : ภาพสระน้ำที่มีภูเขาสูงรายล้อม มีพระนาคเจ็ดเศียรปกป้องอยู่ มีเทวดา พระอินทร์ พระพรหม และพระพุทธเจ้าลอยอยู่เบื้องบน มีตัวอักษรใต้ภาพ “อโนดาด” พระยานาคที่ปรากฏคงหมายถึงปันนกนาคราชที่อาศัยอยู่ที่สระแห่งนี้
หมายเลข 73 : ภาพกษัตริย์และประชาชนลอยกระทงในแม่น้ำ มีตัวอักษรใต้ภาพ 2 บรรทัด คือ “นัมทา” หมายถึงคติการบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา และ “วาดเมื่อ พ.ศ. 2513 บูรณะ พ.ศ. 2548” ทำให้เราทราบถึงปีที่งานจิตรกรรมในพระอุโบสถถูกวาดและบูรณะ
หมายเลข 74 : พระพุทธองค์ประทับยืนตรงกลางภาพ รัศมีใต้ฐานบัวรองรับพระบาทลุกเป็นเปลวเพลิงค่อย ๆ สลายไป รายล้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดา มีตัวอักษรใต้ภาพ “ธาตุอันตรธาน” หมายถึง การเสื่อมสูญแห่งพระบรมธาตุซึ่งเป็น 1 ในความเลือนหายแห่งพระศาสนา 5 ประการ

หมายเลข 75-108 ผนังด้านซ้ายมือพระประธาน ทิศใต้ จิตรกรรมหมายเลข 75-104 เล่าเรื่องพุทธประวัติ หมายเลข 105-108 เล่าเรื่องฎีกาพาหุง


หมายเลข 75 : พระนางพิมพาชี้ให้พระราหุลมองพระพุทธองค์ขณะเดินบิณฑบาตในเมือง มีตัวอักษรใต้ภาพ “36.พิมพาเห็นพุทธองค์
หมายเลข 76 : พระพุทธองค์เดินบิณฑบาตมีชายชรายืนคล้ายดักสนทนากับพระองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “37.พุทธบิดาตัดพ้อ” หมายถึงตอนที่พระพุทธบิดาทราบข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตจึงทูลขอให้เสด็จไปประทับเสวยในวัง
หมายเลข 77 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง พระนางพิมพากำลังหมอบแทบพระบาท พระราหุลกำลังกอดพระอูรุ (หน้าขา) มีตัวอักษรใต้ภาพ “38.พิมพาพิลาป” หมายถึงตอนพระนางพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์
หมายเลข 78 : พระพุทธองค์ทรงดำเนินออกจากเมือง มีชายหนึ่งเดินถือบาตรตาม มีหญิงสาวอยู่ในอาคารที่ไกล ๆ กำลังร้องตะโกน มีตัวอักษรใต้ภาพ “39.โปรดพระนันทะ” หมายถึง ตอนพระนันทะผู้เป็นพระอุนุชารับบาตรส่งเสด็จ นางชนบทกัลยานีคู่วิวาห์ของพระนันทะร้องสั่งให้รีบกลับมา แต่เมื่อถึงวัดพระพุทธองค์ทรงชวนให้พระนันทะผนวช
หมายเลข 85 : พระนางปชาบดีโคตมีถวายผ้าแก่พระพุทธองค์ท่ามกลางหมู่ภิกษุ มีตัวอักษรใต้ภาพ “46.พระแม่น้าถวายผ้า” หมายถึงตอนพระนางปชาบดีโคตมีต้องการถวายผ้าสาฎก แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้ พระอานนท์จึงแนะนำให้ถวายผ้ากับพระบวชใหม่รูปหนึ่งชื่อ “อชิต” ซึ่งต่อมาจะตรัสรู้เป็นพระศรีอาริย์
หมายเลข 86 : พระพุทธองค์ประทับยืนตรงลางแสดงปางห้ามญาติ ด้านข้างมีกองทัพกำลังรบกัน มีตัวอักษรใต้ภาพ “47.ห้ามพระญาติมิให้รบกัน” หมายถึงพุทธประวัติตอนทรงห้ามพระญาติฝ่ายพระบิดากับพระมารดาซึ่งแย่งกันทดน้ำเข้านามิให้วิวาทกัน
หมายเลข 87 : พระพุทธองค์แสดงธรรมให้พระบิดาที่กำลังประชวร มีตัวอักษรใต้ภาพ “48.โปรดพุทธบิดา” เป็นตอนพระพุทธบิดาประชวร พระพุทธองค์ทราบข่าวจึงเสด็จไปโปรดกระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพานในที่สุด
หมายเลข 95 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่าทรงสนทนากับภิกษุรูปหนึ่งที่แสดงท่าทางตกใจ มีตัวอักษรใต้ภาพ “56.ตรัสบอกข่าวปรินิพพาน” หมายถึงตอนพระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่าทรงปลงอายุสังขาร อีกสามเดือนถึงกำหนดปรินิพพาน
หมายเลข 96 : พระพุทธองค์ประทับนั่งฉันภัตตาหารในศาลาพร้อมเหล่าสาวก มีภาพชาวบ้านผู้มาเตรียมปรนนิบัติ มีตัวอักษรใต้ภาพ “57.เสวยปัจฉิมบิณฑบาต” พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะซึ่งเป็นปัจฉิมบิณฑบาต
หมายเลข 97 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง ใกล้กันมีภิกษุสองรูป ไกลออกเป็นไปเป็นพระอานนท์ถือบาตรออกไปตักน้ำ ใกล้พระอานนท์มีขบวนเกวียน มีตัวอักษรใต้ภาพ “58.พระอานนท์ตักน้ำ” เป็นเหตุการณ์ระหว่างทางเสด็จกรุงกุสินารา พระพุทธองค์ทรงกระหายน้ำ โปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวายแต่มีขบวนเกวียนพ่อค้าเพิ่งผ่านไปทำให้น้ำขุ่น ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้น้ำใสไม่ขุ่นมัว


หมายเลข 79 : ภาพพระนางพิมพาและพระราหุลกำลังทูลขอสมบัติจากพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “40.ราหุลทูลขอราชสมบัติ”
หมายเลข 80 : พระราหุลบรรพชาต่อหน้าพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “41.ราหุลบรรพชา” หมายถึง ตอนที่พระพุทธองค์ทรงมอบสมบัติที่วิเศษยิ่งกว่าสมบัติอื่นคือ พระนิพพาน ทรงโปรดให้พระราหุลบรรพชาเป็นสามเณรองค์แรกโดยมีพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์
หมายเลข 81 : พระพุทธองค์แสดงธรรมต่อพระนันทะผู้เป็นพระอนุชา นอกหน้าต่างเป็นนางฟ้าที่อยู่บนสวรรค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “42.พานันทะชมนางฟ้า” หมายถึง ตอนที่พระนันทะแม้ว่าจะออกบวชแต่ยังคงอาลัยอาวรณ์คู่หมั้น พระพุทธองค์จึงออกอุบายพานันทะไปชมนางฟ้าที่มีความงดงามยิ่งกว่าคู่หมั้น ภายหลังพระนันทะได้สติจึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหันต์
หมายเลข 82 : พระพุทธองค์ทรงออกบิณฑบาต พระเทวทัตใช้ไม้งัดให้หินกลิ้งลงมาทับพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “43.พระเทวทัตกลิ้งหิน” หมายถึงตอนพระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้าโดยกลิ้งหินให้ตกจากหน้าผาเขาคิชฌกูฏ สะเก็ดหินทำพระพุทธองค์ห้อพระโลหิตที่ข้อพระบาท
หมายเลข 83 : พรานธนูวางอาวุธน้อมกายรับฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “44.โปรดนายขมังธนู” หมายถึงตอนพระเทวทัตจ้างนายธนูไปลอบยิงพระพุทธองค์
หมายเลข 84 : พระเทวทัตถูกธรณีสูบ มีพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ตกใจกลัว มีตัวอักษรใต้ภาพ “45.เทวทตฺ” หมายถึงเหตุการณ์ตอนพระเทวทัตสำนึกผิด ขณะเดินทางไปขอขมาพระพุทธเจ้าแต่ถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรกที่ริมสระโบกขรณีหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร
หมายเลข 90 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมในปราสาทที่มีฉากหลังเป็นเมฆ มีพระอินทร์ พระพรหม เทวดามารอรับฟัง มีตัวอักษรใต้ภาพ “51.โปรดพระพุทธมารดา” หมายถึงตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หมายเลข 91 : พระพุทธองค์เสด็จลงจากบันไดแก้ว บันไดทอง และบันไดเงิน มีพระอินทร์ทรงบาตรตามลงมาทางด้านซ้าย พระพรหมทรงฉัตรทางด้านขวา มีตัวอักษรใต้ภาพ “52.ลงจากดาวดึงส์” หมายถึงตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หมายเลข 92 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรม ด้านข้างมีภิกษุและเทวดาพนมมือฟังพระธรรม ด้านล่างมีเหล่าสัตว์นรกพนมมือไหว้ล้อมรอบด้วยเปลวไฟ มีตัวอักษรใต้ภาพ “53.พระเจ้าเปิดโลก” หมายถึงเมื่อพระองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงเปิดโลกบันดาลให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกแลเห็นซึ่งกันและกัน
หมายเลข 93 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่า มีช้างถวายกระบอกน้ำ ลิงถวายรวงผึ้ง มีตัวอักษรใต้ภาพ “54.ช้างกับลิงถวายอุปัฏฐาก” หมายถึงครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จจำพรรษา ณ ป่าปาเลไลยก์ มีช้างกับลิงมาเป็นผู้อุปัฏฐาก
หมายเลข 94 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่าทรงสนทนากับพระยาวัสดีมารที่มาทูลเชิญให้พระองค์ปรินิพพาน มีตัวอักษรใต้ภาพ “55.พระยามารทูลให้ปรินิพพาน” หมายถึงตอนพรรษาที่ 45 พระยามารเข้าเฝ้าทูลให้เสด็จปรินิพพาน
หมายเลข 100 : พระพุทธองค์บรรทมตะแคงขวาบนพระแท่นระหว่างต้นรังคู่ท่ามกลางสาวกและเทวดาที่มารับฟังพระธรรม มีตัวอักษรใต้ภาพ “61.ประทานปัจฉิมโอวาท” หมายถึงตอนพระพุทธองค์ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ทรงประทานปัจฉิมโอวาทและปรินิพพาน



หมายเลข 88 : ภาพสตรีสองหน้านุ่งขาวห่มขาวโกนศีรษะ มีพานผ้าไตรวางเบื้องหน้าพระพุทธองค์ และพระสาวก มีตัวอักษรใต้ภาพ “49.พระแม่น้าบวชเป็นภิกษุณี” หมายถึงตอนพระนางปชาบดีโคตมีนำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี
หมายเลข 89 : ด้านซ้ายมีหอคอยยอดหักและมีคนตกลงมา ด้านขวาเป็นต้นมะม่วงแผ่กิ่งก้านมีพระพุทธองค์แสดงอิริยาบถต่าง ๆ เป็นคู่ ๆ มีตัวอักษรใต้ภาพ “50.แสดงยมกปาฏิหาริย์” หมายถึงตอนพระพุทธองค์ทรงสำแดงยมกปาฏิหาริย์ข่มพวกเดียรถีย์ที่ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์
หมายเลข 98 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง ใกล้กันมีภิกษุสองรูป ด้านพระพุทธองค์มีชายผู้หนึ่งกำลังถวายผ้า มีตัวอักษรใต้ภาพ “59.ปุกกสะถวายผ้าเนื้อเกลี้ยง” หมายถึงปุกกุสะบุตรแห่ง มัลลกษัตริย์เดินทางมาจากเมืองกุสินาราจะไปยังเมืองปาวา มาถึงตรงที่พระพุทธเจ้าประทับหยุดพักจึงเข้าไปพัก พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ปุกกุสะเลื่อมใสจึงถวายผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทอง
หมายเลข 99 : พระพุทธองค์บรรทมตะแคงขวาบนพระแท่นระหว่างต้นรังคู่ท่าม กลางสาวก มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนั่งพนมมือ มีตัวอักษรใต้ภาพ “60.โปรดสุภัททปัจฉิมสาวก” หมายถึงตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล


หมายเลข 101 : ด้านซ้ายเป็นชายแก่แต่งกายคล้ายพราหมณ์ในมือขวาถือดอกไม้ขนาดใหญ่ มือซ้ายชี้บอกทาง ด้านขวาเป็นกลุ่มภิกษุที่แสดงความตกใจเสียใจ มีตัวอักษรใต้ภาพ “62.อาชีวกบอกข่าวปรินิพพาน” หมายถึงตอนอาชีวกบอกข่าวการปรินิพพานแก่พระมหากัสสปะและภิกษุรูปอื่น ๆ
หมายเลข 102 : กลางภาพเป็นโลงพระศพ ด้านซ้ายมีพระบาทยื่นออกมา มีพระมหากัสสปะแสดงความเคารพล้อมรอบด้วยพระสาวก มีตัวอักษรใต้ภาพ “63.ถวายพระเพลิง” หมายถึงตอนที่พระมหากัสสปะเดินทางมาถวายบังคมที่พระบาทพระพุทธองค์ เพลิงสวรรค์ก็บันดาลให้ลุกโชติช่วง
หมายเลข 103 : ฉากกำแพงเมืองและพระมหาปราสาท มีพราหมณ์รูปหนึ่งยืนบนกำแพงเมือง ด้านหน้าเป็นกองทัพที่ล้อมเมืองไว้ มีตัวอักษรใต้ภาพ “64.แย่งพระธาตุ” หมายถึงตอนโทณพราหมณ์อาสาแบ่งพระธาตุ

หมายเลข 104 : พระอินทร์แปลงกายลอบนำพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาที่โทณพราหมณ์แอบเอาไปซ่อนไว้ ท่ามกลางกษัตริย์ 7 พระองค์ที่มาแย่งชิงพระธาตุ มีตัวอักษรใต้ภาพ “65.แบ่งพระธาตุ” หมายถึงตอนโทณพราหมณ์อาสาแบ่งพระธาตุ


หมายเลข 105 : หนูกัดเชือกจนทำให้ท่อนไม้ที่นางจิญจมาณวิกาซ่อนไว้หล่นลงมาต่อหน้าผู้คน มีตัวอักษรใต้ภาพ “5.กัตวา-ชนะนางจิญจมาณวิกา” หมายถึงฎีกาพุงตอนพระพุทธองค์ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา แสดงการปราบนางจิญจมาณวิกาหญิงแพศยาด้วยสันติธรรม


หมายเลข 106 : กลางภาพเป็นรูปชายชรายกมือคล้ายกำลังอธิบายบางอย่าง มีพระพุทธองค์ พระสาวก และกษัตริย์นั่งฟัง มีตัวอักษรใต้ภาพ “6.สัจจัง-ชนะสัจจนิครนถ์” หมายถึง เนื้อหาฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกะนิครนถ์ แสดงการปราบสัจจะกนิครณเจ้าลัทธิด้วยปัญญา

หมายเลข 107 พระยานาคเจ็ดเศียรรูปกายสีเขียวแผ่ผังพานแสดงอาการข่มขู่พระพุทธองค์และพระสาวก มีตัวอักษรใต้ภาพ “7.นันโท-ชนะนันโทปนันทะนาคราช” หมายถึงพุทธประวัติตอนพระโมคัลลนะแปลงกายเป็นนาคเพื่อปราบพระยานาคนันโทปะนันทะ หรือฎีกาพาหุง ตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระยานาคนันโทปนันทะ


หมายเลข 108 : พระพรหม พระอินทร์และเทพอื่นๆ กำลังพนมมือฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “8.ทุคคา-ชนะท้าวพกาพรหม” หมายถึงฎีกาพุงตอนพระพุทธองค์ทรงชนะพระพกาพรหม แสดงการปราบพกาพรหมหลงผิด สังเกตการวาดภาพท้าวพกาพรหมแสดงอาการพนมมือ ไม่ใช่การโต้เถียงดังเช่นที่เจอมาในวัดก่อน ๆ

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดปราสาททอง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต