MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดประตูสาร

ที่ตั้ง
วัดประตูสาร ตั้งอยู่ตั้งอยู่บนถนนขุนช้าง ที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ด้านหน้ามีถนนขุนช้างตัดผ่าน เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ประวัติวัด
วัดประตูสาร ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2223 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2280 ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างที่แน่ชัด สมัยโบราณพื้นที่ตั้งวัดเคยเป็นเพนียดคล้องช้าง ควาญช้างไล่ต้อนช้างมาจากป่าและมาขึ้นที่ท่าน้ำที่วัดแห่งนี้จึงเป็นที่ของชื่อวัด

นิราศสุพรรณบุรี ของสุนทรภู่ที่เขียนขึ้นราว พ.ศ. 2345 กล่าวถึงวัดประตูสารไว้ว่า
  ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโพ้น      พิศดาร
มีวัดพระรูปบูราณ               ท่านสร้าง
ที่ถัดวัดประตูสาร                สงฆ์สู่ อยู่เอย
หย่อมย่านบ้านขุนช้าง        ชิดข้างสวนบันลัง ฯ

หลักฐานดังกล่าวแสดงว่าวัดประตูสารมีอายุกว่า 200 ปี มาแล้ว
เสนาสนะสำคัญในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ กว้าง 9 เมตร ยาว 18 เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในพระอุโบสถมีงานจิตรกรรม นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าทำเป็นมุขโถงยื่นออกมา (ต่อเติมมุขโถง พ.ศ. 2479) เสามุขที่ยื่นออกมาเป็นเสาสี่เหลี่ยมประดับบัวหัวเสา หน้าบันเป็นงานปูนปั้นลายราชวัตรหรือลายแผง ผนังด้านหน้าเจาะช่องประตู 2 ช่อง ภายในพระอุโบสถด้านท้ายมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปรวม 4 องค์ องค์ด้านในสุดเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งคล้ายหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ภายในพระอุโบสถมีงานจิตรกรรมฝาผนังประดับทั้ง 4 ด้าน เขียนเรื่องพุทธประวัติ พระอดีตพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ และภาพวิถีชีวิตของคนทั่วไป กล่าวกันว่าจิตรกรรมฝาผนังที่วัดประตูสารแห่งนี้เขียนโดยนายคำ (ซึ่งเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูร) และนายเทศ แต่บางแห่งว่าผู้เขียนภาพคือ ครูอิ้มซึ่งมาจากกรุงเทพฯ

จากการสำรวจของวรรณิภา ณ สงขลา และคณะเมื่อ พ.ศ. 2529 ได้ความว่ามีนายช่างชื่อ นาค นาคพิทักษ์ เป็นคนเมืองสุพรรณบุรี อยู่ที่วัดประตูสาร ได้เคยเขียนซ่อมภาพจิตรกรรม ช่างผู้นี้เคยเขียนซ่อมที่วัดพระแก้ว มีความสามารถเป็นช่างทอง ได้เขียนเรื่องทศชาติชาดกที่คอสองหอสวดมนต์ ต่อมาได้ไปเขียนที่วัดบางนมโค (หลวงพ่อปาน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย ปัจจุบันในพระวิหารยังเก็บภาพคัดลอกงานจิตรกรรมฝาผนังวัดประตูสารเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของนาย นาค นาคพิทักษ์ เก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังมีสมุดไทยอีกหลายฉบับ บางฉบับกำหนดอายุได้จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จิตรกรรมฝาผนัง
โครงสีโดยรวมของจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดประตูสารมีลักษณะค่อนข้างมืด เพราะนิยมใช้สีมืดคล้ำมาผสม เช่น การเขียนพุ่มไม้ด้วยสีเขียวหม่นผสมกับสีดำ หรือภาพพระอดีตพุทธเจ้าที่เรียงเป็นแถวนั้นก็มีพื้นหลังเป็นสีน้ำตาลเทาดำทำให้เกิดบรรยากาศเคร่งขรึมแต่ก็ช่วยขับให้ภาพส่วนที่มีสีเหลืองทองหรือปิดทองดูเด่นชัดขึ้น มีการใช้สีฟ้าหรือสีน้ำเงินเข้มเขียนส่วนบนสุดของท้องฟ้าและเกลี่ยสีที่ผสมด้วยสีขาวไล่น้ำหนักจากสีแก่ลงมาหาน้ำหนักอ่อนถึงส่วนล่างจนกลืนกับพื้นดิน จากนั้นจึงวาดต้นไม้หรือภูเขาทับลงไป จิตรกรรมที่วัดนี้บ่อยครั้งใช้ภาพต้นไม้เป็นตัวแบ่งฉากหรือคั่นเหตุการณ์แทนการใช้เส้นสินเทาอีกด้วย คณะผู้วิจัยลำดับเนื้อหาจิตรกรรมโดยเริ่มจากผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกเวียนทวนเข็มนาฬิกา ตามแผนผัง


ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออก หมายเลข 1-3 และ 19


หมายเลข 1 : ผนังระหว่างบานประตู ด้านล่างค่อนข้างลบเลือน
ด้านซ้าย เล่าเรื่องพุทธประวัติตอนประสูติพระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ ใต้ต้นสาละที่สวนลุมพินี
ด้านบน เป็นพระพรหมถือฉัตรอัญเชิญสิทธัตถะกุมารบนพานทองและพระอินทร์ดีดพิณถวาย
ด้านขวา เป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะร่ำลานางพิมพาและราหุลเพื่อออกบวช นายฉันนะและม้ากัณฐกะรอรับที่ประตูวัง


หมายเลข 2 : ด้านบนซ้ายเป็นตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะมีจตุโลกบาลทั้งสี่มารองรับเท้าม้า มีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จพร้อมเหล่าเทวดาถือธงนำขบวนแต่มีพระยามารมาขวางไม่ให้ออกบวช ช่างใช้มุมผนังด้านทิศเหนือเล่าเรื่องตอนนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการวาดพระยามารไว้ที่ผนังด้านทิศเหนือ

หมายเลข 3 : ด้านบนสุดเขียนลายริบบิ้นหรือลายฮ่อล้อมภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ แสดงภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิราบบนบัลลังก์เหนือพระแม่ธรณี ด้านข้างมีกองทัพเหล่าพญามารซึ่งประกอบด้วยบุคคลต่างชาติต่างภาษาจำนวนมาก


หมายเลข 4 :
ด้านล่าง เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกศาที่ริมฝั่งแม่น้ำมโนมา มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะกำลังโศกเศร้า พระพรหมนั่งพนมมือพร้อมเครื่องบริขาร พระอินทร์เตรียมนำพระเมาลีไปยังดาวดึงส์พิภพ
ตรงกลางด้านซ้าย พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อการตรัสรู้
ด้านบน เป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาวิธีในการตรัสรู้ มีพระอินทร์ดีดพิณสามสายถวาย


หมายเลข 5 :
ด้านล่างขวา เป็นภาพเรือนไทยขนาดใหญ่ มีภาพผู้คนทำกิจวัตรประจำวัน
ด้านซ้าย นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ถัดขึ้นไปเป็นพระพุทธองค์ฉันข้าวมธุปายาสเสร็จแล้วจึงอธิษฐานลอยถาด มีวิมานของพระยานาคในมหาสมุทร
ด้านบนซ้าย เป็นภาพทิวเขามีกะเหรี่ยงขี่ช้างกลุ่มใหญ่ ถัดต่อมาเป็นตอนพระพุทธองค์ทรงรับหญ้าคาจากโสถิตยพราหมณ์มาปูอาสนะ
ด้านบนขวา เป็นสองพ่อค้าตะปุสสะและภัลลิกะถวายข้าวสัตตูก้อนสัตตูผง มีภาพขบวนเกวียนของพ่อค้าแวะตักน้ำหุงหาอาหาร


หมายเลข 6 :
ด้านล่างขวา เป็นภาพพระยานาคแผ่พังพานกันพายุฝนให้พระพุทธเจ้าขณะกำลังเสวยวิมุตติสุขอยู่โคนต้นจิก (ผนังชำรุด)
ด้านบนตรงกลางภาพ พระพุทธองค์ทรงพบอุปกาชีวกระหว่างทางไปป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
ด้านขวากลางภาพ ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
ด้านซ้ายตรงกลางภาพ พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดยศกุลบุตรและสหาย รวมทั้งเหล่าชฎิล


หมายเลข 7 : ผนังตอนล่างลบเลือน
ด้านขวาล่าง เป็นภาพเรือนเครื่องผูกมีชาวบ้านกำลังใช้ครกกระเดื่อง
ถัดขึ้นไป เป็นภาพกิจวัตรประจำวัน เช่น การเข้าถ่ายในป่า การล่าสัตว์
ด้านซ้าย พระพุทธองค์ทรงจำพรรษา ณ ป่าลิไลยกะ มีพระยาช้างและพระยาลิงมาเป็นอุปัฏฐาก
ตรงกลาง พระพุทธองค์ทรงเทศนาท่ามกลางพระสาวก
ด้านบนตรงกลาง เป็นแถวพระสาวกออกบิณฑบาตจากพระอารามโดยมีพระสงฆ์ชราเดินอยู่ท้ายสุด
ด้านบนทางซ้าย มีภาพพระสงฆ์กวาดวัดและเล่นตะกร้อ


หมายเลข 8 : เป็นภาพกษัตริย์ประทับนั่งปราสาทกำลังสนทนากับข้าราชบริพาร มีแนวกำพงเมือง อาจหมายถึงพระเจ้าพิมพิสารหรือพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและต่อเนื่องกับผนังหมายเลข 10 ตอนยมกปาฏิหาริย์

หมายเลข 9 : เป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงกัน 3 แถว แต่ละองค์คั่นด้วยแจกันดอกไม้

หมายเลข 10-12 ผนังสกัดหลังพระประธาน ด้านทิศตะวันตก


หมายเลข 10 : เป็นภาพต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านออกจากกันโดยมีพระพุทธองค์ปรากฏบนต้นไม้เป็นคู่ ๆ
ด้านบนซ้าย เป็นตอนเสด็จขึ้นไปเขาพระสุเมรุ
ด้านล่าง เป็นกลุ่มเดียรถีย์ที่ตกลงจากเส้าไม้ มีกลุ่มคนยกมือท่วมหัวแสดงความเคารพ เป็นพระพุทธประวัติตอนยมกปาฏิหาริย์


หมายเลข 11 : เป็นภาพพระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดพุทธบิดาในพระมหาปราสาท (ฐานชุกชีบัง) จากนั้นทรงกระทำพุทธนิมิตระหว่างแสดงเทศนาโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ดาวดึงส์

มีภาพพระเจดีย์จุฬามณีประดับธงจระเข้และธงตะขาบ ปราสาทไพชยนต์ มีภาพวิมานเทวดาเรียงรายอยู่ด้านข้าง ส่วนเหนือขึ้นไปเขียนวิมานของเหล่าพรมลอยอยู่ในอากาศธาตุ ต่อด้วยตอนเสด็จลงจากสวรรค์ดาวดึงส์โดยพระอินทร์เนรมิตบันไดทอง นาก และแก้วมารองรับ ด้านขวาของบันไดมีภาพนรกเปิดออก ที่เชิงเขาพระสุเมรุแทรกเรื่องตลกขบขันด้วยการวาดเมขลาและรามสูรเหาะไล่กันเป็นรูปสตรีทำท่ายั่วยวนและชาวจีนไล่ขว้างขวาน ด้านซ้ายของผนังเป็นภาพเมืองสังกัสสนคร

หมายเลข 12 : เป็นแถบลายริบบิ้น มีภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับยืนจำนวน 5 พระองค์ สลับคั่นด้วยแจกันดอกไม้ อาจหมายถึง พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ อันประกอบด้วยพระอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม และพระกัสสปะ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือ พระสมณโคดม และพระอนาคตพุทธเจ้า คือ พระศรีอาริยเมตไตรย

หมายเลข 13-17 ผนังด้านขวามือพระประธาน ทิศใต้

หมายลเข 13 เป็นภาพพระพุทธองค์ฉันอาหารพร้อมด้วยสาวกในพระมหาปราสาท มีกษัตริย์และขุนนางนั่งแวดล้อมรับใช้พระพุทธองค์ อาจหมายถึงเหตุการณ์ที่เมืองสังกัสนคร


หมายเลข 14 :
ด้านซ้าย ภาพพระเทวทัตปราศรัยกับพระเจ้าอชาตศัตรู
ด้านขวาบน เป็นตอนพระพุทธองค์เทศนาโปรดนายขมังธนูที่พระเทวทัตส่งมาฆ่าพระองค์
ด้านล่าง พระพุทธองค์ทรงทรมาณช้างนาฬาคิรี
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ในภาพที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแต่น่าสนใจ เช่น ภาพบ้านเรือนชาวจีน


หมายเลข 15 :
ด้านล่างขวา พระพุทธองค์ทรงอาพาธ มีสุภัททะปริพาชกมาขอพบพระองค์
ด้านบนขวา พระมหากัสสปะเห็นนักบวชนอกศาสนาถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมาก็รู้ว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานจึงพากันเศร้าโศก
ด้านบนซ้าย พระมหากัสสปเถระถวายบังคมพระบรมศพ โดยมีพระสาวกรูปหนึ่งกำลังเหาะเหนืออาคารประดิษฐานพระบรมศพ รายล้อมด้วยกลุ่มบุคคลและกษัตริย์จากเมืองต่าง ๆ ที่มาเคารพพระบรมศพ มีกลุ่มคนเตรียมจุดบั้งไฟอยู่ด้านหน้า


หมายเลข 16 :
ด้านขวา กษัตริย์จากเมืองต่าง ๆ ยกทัพมาขอแบ่งพระธาตุ
ด้านซ้าย โทณพราหมณ์อาสาแบ่งพระธาตุแต่ตนเองแอบซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ที่มวยผม พระอินทร์ทราบข่าวจึงลอบลงมาอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานที่เจดีย์จุฬามณี ใกล้กันมีฉากกั้นและกลุ่มนักดนตรีสตรีกำลังเล่นดนตรี เช่น กระจับปี่ ด้านหน้ามีกลุ่มคนที่ต่างนำข้าวของมาทำบุญและมีกลุ่มคนกำลังเต้นรำ ในภาพเห็นชายกะเหรี่ยงกำลังฟ้อนรำ


หมายเลข 17 :
กลางภาพด้านขวา เป็นปราสาทที่ประดิษฐานพระธาตุ มีพระสงฆ์มา 2 รูป เตรียมงานฉลองพระธาตุ
ด้านบน เป็นภาพพระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้พระสงฆ์แสดงความเคารพ
ถัดลงมา เป็นภาพพระยามารที่มีซากหมาเน่าผูกคอไว้กำลังก้มลงยอมแพ้ต่อพระสงฆ์รูปหนึ่ง
ด้านล่าง เป็นพระยามารที่ถูกผูกติดไว้กับต้นไม้
ด้านล่างสุด เป็นพระสงฆ์ 2 รูป กษัตริย์และกลุ่มข้าราชบริพาร หมายถึงเหตุการณ์ตอนพระเจ้าธรรมาโศกราชรับสั่งให้ขุดพระธาตุเพื่อสมโภชเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงเลยมา 218 ปี พระยามารล่วงรู้จึงเข้าทำลายพิธีแต่ถูกพระอุปคุตปราบ ต่อมาพระอุปคุตได้ขอให้พระยามารแปลงร่างเป็นพระพุทธองค์เนื่องจากขณะนั้นไม่เคยมีผู้ใดเห็นพระพุทธองค์มาก่อน การแปลงร่างเป็นพระพุทธองค์นี้เหมือนมากจนบรรดาสาวกต่างแสดงความเคารพ

หมายเลข 18 : เป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงกัน 3 แถว แต่ละองค์คั่นด้วยแจกันดอกไม้


หมายเลข 19 : ด้านบนเป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมท่ามกลางเหล่าเทวดา พระอินทร์ พระพรหม ตอนล่างเป็นพระสงฆ์ 2 รูป แหวกมหาสมุทรไปแจ้งข่าวแก่พระอุปคุตที่เข้าฌานอยู่ในสะดือทะเล

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดประตูสาร. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต