MuralPainting@Supanburi

จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพร้าว

ที่ตั้ง
วัดพร้าว ตั้งอยู่เลขที่ 179 บ้านโพธิ์พระยาหมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์พระยาอำเภอเมืองสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินวัดทิศเหนือจรดแม่น้ำท่าจีน ทิศใต้และทิศตะวันออกจรดที่ดินชลประทาน ทิศตะวันตกจรดที่ดินเอกชน

ปัจจุบันการเดินทางไปวัดพร้าวโดยทางรถยนต์สามารถไปทางถนนสาย 340 ผ่านวัดวรจันทร์ข้ามสะพานไปยังบริเวณวัดพร้าว
ประวัติวัด
วัดพร้าวตั้งเมื่อ พ.ศ. 2240 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2255 เสนาสนะประกอบด้วยพระอุโบสถ กว้าง 70 เมตร ยาว 25 เมตร สร้าง พ.ศ. 2457 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีซุ้มหน้าต่างที่ติดกระจก พื้นปูด้วยหินอ่อน ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น กว้าง 31 เมตร ยาว 38 เมตร สร้าง พ.ศ. 2479 เป็นอาคารขนาด 7 ห้อง (มีตัวอักษรระบุปีที่ยก (สร้าง) ศาลาการเปรียญ พ.ศ. 2479) หอสวดมนต์เป็นอาคารไม้มุงกระเบื้องเคลือบกว้าง 9 เมตร ยาว 43.40 เมตร มีมณฑปจำนวน 2 หลัง หลังใหญ่กว้างและยาว 15.20 เมตร หลังเล็กกว้างและยาว 10.20 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท หอไตรกว้าง 4.90 เมตร ยาว 6.80 เมตร นอกจากนี้ยังมีกุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ และ อื่นๆ

จากการสำรวจของวรรณิภา ณ สงขลา และคณะ พ.ศ. 2529 ให้ข้อมูลประวัติวัดพร้าวไว้โดยเรียบเรียงจากงานเขียนของนายสนิท ทองคำใส อธิบายชื่อวัดพร้าวว่าเดิมบริเวณนี้แห้งแล้งมากในฤดูแล้งต้องขุดสระและมีการปลูกมะพร้าวไว้โดยรอบ ในฤดูแล้งไม่สามารถทำนาได้เพราะขาดฝนชาวบ้านจึงแห่นางแมวเพื่อขอฝน ขณะที่ชาวบ้านนั่งล้อมวงอยู่รอบสระภายในวัดได้เห็นแสงสีต่าง ๆ อยู่ภายในสระจึงอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ฝนตก ต่อมาเมื่อฝนตก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญจะตั้งชื่อว่าวัดแก้วพร้าว เพราะเจ้าอาวาสชื่อแก้วและได้พบสิ่งอัศจรรย์บริเวณมะพร้าวริมสระ ในสมัยหลวงพ่อแก้วได้สร้างหอไตรกลางสระขึ้นเป็นอาคารไม้ทรงไทย 2 ห้องมีระเบียงรอบสูงเพียงพ้นน้ำมีฝาล้อมหลังคามุงกระเบื้อง เป็นที่เก็บตำรายาโบราณและหนังสือ

ในสมัยหลวงพ่อปลื้ม เจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนชื่อจากวัดแก้วพร้าวมาเป็นวัดพร้าว หลวงพ่อปลื้มบูรณะพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2459 เมื่อสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จจึงสร้างวิหารขึ้น 2 หลัง ตั้งอยู่ตรงกำแพงหน้าพระอุโบสถโดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2463 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2472 จากนั้นจึงสร้างมณฑปหลังใหม่อยู่ด้านหลังมณฑปหลังเก่าอีก 1 หลัง สมัยพระครูสังฆรักษ์ สร้างศาลาหลังใหม่เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นศาลา 7 ห้อง ยาว 16 วา กว้าง 9 วา
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง
ข้อมูลการเผยแพร่ของกรมศิลปากรตีพิมพ์ พ.ศ. 2533 ระบุว่าวัดพร้าวมีอาคารที่มีงานจิตรกรรมฝาผนัง 2 หลัง ได้แก่
1) วิหารน้อย จิตรกรรมปรากฏที่บานประตูเขียนเรื่องโทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารรีกธาตุและพระมาลัย เป็นจิตรกรรมแบบไทยประเพณีเขียนด้วยสีฝุ่นมีรองพื้นเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุและตอนพระมาลัยเสด็จดาวดึงส์สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยที่ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พ.ศ. 2459 ซึ่งครั้งนั้นได้สร้างวิหารน้อยหน้าพระอุโบสถ 2 หลัง
2) ศาลาการเปรียญ เขียนเรื่องพุทธประวัติ อาจารย์ปัญญา มั่นคงดี เป็นผู้ซ่อม พ.ศ. 2523 เดิมผู้เขียนจิตรกรรมที่คอสอง ศาลาการเปรียญ คือ พระมหาต่วน เป็นชาวบ้านยอดเมื่ออุปสมบทได้มาจำพรรษาที่วัดพร้าวแห่งนี้และเขียนภาพประดับคอสองศาลาการเปรียญไว้ราว พ.ศ. 2489 ก่อนหน้านี้เมื่อแรกสร้างศาลาเสร็จใหม่ ๆ มีพระทองสุขเคยเขียนไว้ที่คอสองเช่นกันแต่ไม่ค่อยงามนัก พระมหาต่วนจึงได้เขียนขึ้นใหม่ซึ่งปรากฏเรื่อยมา ราว พ.ศ. 2523 มีการซ่อมภาพจิตรกรรม 2 แผ่น โดยอาจารย์ปัญญา มั่นคงดี ซึ่งเคยเป็นพระที่เคยบวชอยู่ที่วัดนี้ ภาพที่เขียนซ่อมจำนวน 4 แผ่น ได้แก่ ภาพพระบรมโพธิสัตว์ไปอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า ภาพพระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต ภาพพระพุทธองค์แสดงธรรมโอวาทแก่กษัตริย์ทั้งปวงในเมืองเวสาลี และภาพมัลลกษัตริย์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าวันปรินิพพาน

จากการเก็บข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 พบว่าวิหารน้อยที่ตั้งอยู่ทิศเหนือของพระอุโบสถ ภาพเขียนที่บานประตูถูกทาสีทับจนมองไม่เห็นภาพ ในขณะที่ศาลาการเปรียญภาพเขียนปรากฏที่คอสองเป็นงานจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนพื้นไม้ ฝีมือช่างพื้นบ้าน
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญแต่ละภาพเขียนบนไม้กระดานเรียงกันในแนวนอน 3 แผ่น 1 ช่วงเสาประดับ 1 แผ่น แต่ละแผ่นส่วนใหญ่แบ่งภาพเขียนเป็น 2 ภาพ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่ติดกับทิศใต้แบ่งเป็น 3 ภาพ รวมทั้งหมดมี 18 ภาพ แต่ละภาพมีขนาดเท่า ๆ กัน โครงสีโดยรวมเป็นสีเข้ม สีที่ใช้มากคือ สีดำ-เทาเข้ม สีขาว สีเหลือง สีเขียวขี้ม้า สีฟ้า มีการระบายสีให้น้ำหนักแสงเงาแสดงระยะใกล้-ไกลและทัศนียวิทยา และเน้นตัวละครหลักในภาพด้วยการลงแสงเงา มีความพยายามแสดงเวลาสมจริงตามเนื้อเรื่อง ขนาดของบุคคลในภาพมีขนาดใหญ่ ไม่มีการปิดทองคำเปลว เหนือภาพมีอักษรกำกับเนื้อหา ใต้ภาพเป็นชื่อบุคคล แผนผังงานจิตรกรรมลำดับ ดังนี้


แผนผังจิตรกรรมคอสองศาลาการเปรียญ วัดพร้าว เริ่มจากทิศใต้ด้านที่ติดกับทิศตะวันออกเวียนตามเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันตก ดังนี้


หมายเลข 1 : พระโพธิสัตว์ประทับนั่งสมาธิในพระมหาปราสาท ขนาบซ้ายและขวาด้วยเหล่าเทวดานั่งพนมมืออัญเชิญพระองค์ลงมาจุติ มีตัวอักษรบนภาพ “อาราธนาพระบรมโพธิสัตว์ไปอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า” หมายถึงพุทธประวัติตอนพระอินทร์และเหล่าเทพยดาทั้งหลายไปทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้เสด็จลงไปจุติในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา
หมายเลข 2 : พระราชวังที่มีปราสาทหลายหลัง มีพระนางสิริมหามายาทรงบรรทมและนิมิต ด้านขวาของภาพเป็นช้างเผือก มีตัวอักษรบนภาพ “พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตร” สังเกตการให้โทนสีขาว-เทา-เทาเข้มเพื่อแสดงเวลากลางคืน หมายถึงตอนพระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต

หมายเลข 3 : พระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ประสูติพระสิทธัตถะกุมารที่กำลังย่างพระบาทโดยมีฉัตรอยู่เหนือพระเศียร ซ้ายและขวามีเทวดาและนางสนมนั่งพนมมือ มีตัวอักษรบนภาพ “ประสูติ” หมายถึงตอนประสูติ สังเกตการตัดเส้นตัวบุคคลบางตำแหน่งด้วยสีขาวซึ่งต่างไปจากแบบไทยประเพณี
หมายเลข 4 : ภาพดาบสนั่งบนแท่นในปราสาทโดยมีพระสิทธัตถะกุมารประทับยืนบนศีรษะ มีตัวอักษรบนภาพ “กาลเทวินดาบศเยี่ยมทายลักษณ” หมายถึงตอนพระสิทธัตถะกุมารกระทำปาฏิหาริย์เสด็จขึ้นไปยืนบนชฎาของดาบส


หมายเลข 5 : ภาพสตรีนางหนึ่งกำลังอุ้มพระกุมาร มีตัวอักษรบนภาพ “พระปชาบดีอภิบาลพระโพธิสัตว์” หมายถึงตอนพระนางสิริมหายาสวรรคตหลังประสูติพระสิทธัตถะกุมาร พระนางประชาบดีโคตมีจึงรับเป็นผู้อภิบาล
หมายเลข 6 :
กลางภาพ เป็นรูปพิธีแรกนาขวัญ
ด้านซ้าย เป็นพระกุมารประทับนั่งปะรำพิธีใต้ต้นไม้ใหญ่ ฉากหลังเป็นพระราชวัง มีตัวอักษรบนภาพ “พระเจ้าสุทโธทน แรกนาขวัญ” หมายถึงตอนพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จออกพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสดงปาฏิหาริย์บรรลุปฐมฌานขณะประทับใต้ร่มไม้หว้า สังเกตฉากหลังที่คล้ายกับวัดพระแก้ว

หมายเลข 7 : เจ้าชายสิทธัตถะประทับยืนบนแท่นพระหัตถ์ขวายกคันธนู มีตัวอักษรบนภาพ “ทรงประลองศิลป์” หมายถึงตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงสำแดงศิลปศาสตร์ธนู
หมายเลข 8 : พระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมมายาเตรียมอภิเษกให้เจ้าชายสิทธัตถะและพระนางพิมา ตรงกลางแท่นมีบายศรี มีตัวอักษรบนภาพ “ราชาภิเศก” หมายถึงตอนเจ้าชายสิทธัตถะและพระนางพิมพาอภิเษกสมรส
หมายเลข 9 : เจ้าชายสิทธัตถะประทับนั่งในราชรถทอดพระเนตรเทวทูตทั้งสี่ มีตัวอักษร บนภาพ “ประพาศอุทธยาน ทรงทอดพระเนตร์เห็นเทวทูต” หมายถึงตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงประพาสอุทยานแลเห็นเทวทูตทั้งสี่จนตัดสินพระทัยออกบวช
หมายเลข 10 : เจ้าชายสิทธัตถะประทับยืนที่ประตูปราสาท ทอดพระเนตรพระนางพิมพาและราหุล มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะรอที่เชิงบันได มีตัวอักษรบนภาพ “มหาภิเนษกรม” หมายถึงพุทธประวัติตอนออกบวช


หมายเลข 11 : ภาพวาดแสดงฉากสำคัญ 2 ฉาก ฉากแรกด้านขวามือเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะมีจตุโลกบาลทั้งสี่ประคองเท้าม้าเพื่อข้ามแม่น้ำ มีพระพรหมถือเครื่องบริขาร ด้านหน้ามีพระยามารยกมือห้ามไว้ ไกลออกไปทางด้านซ้ายเจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเกศาริมฝั่งน้ำ มีตัวอักษรบนภาพ “เทวดายกเท้าม้าข้ามน้ำฯ พระยามารห้ามบรรพชา” หมายถึง พุทธประวัติตอนออกบวช
หมายเลข 12 : พระพุทธองค์นั่งสมาธิใต้ต้นไม้ พระวรกายซูบผอม ใกล้กันมีปัญจวัคคีย์คอยดูแล มีตัวอักษร “เมื่อพระองค์ทรงทุกขกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ตามมาปฏิบัติ” หมายถึง พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงแสวงหาวิธีบรรลุ สังเกตว่าภาพนี้จะเป็นภาพสุดท้ายที่พระพุทธองค์ยังไม่มีฉรรพพรรณรังสี

หมายเลข 13 : พระพุทธองค์นอนโดยมีพระอินทร์ดีดพิณสามสาย มีตัวอักษร “พระองค์นิมิตร์ถึงสายพินเปรียบข้อปฏิบัติ” สังเกตการแสดงความสมจริงด้วยโทนสีมืดคล้ายเวลากลางคืนและมีพระจันทร์ลอยเด่น และพระเศียรเริ่มปรากฏฉรรพพรรณรังสี
หมายเลข 14 : ด้านขวาพระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัยรอรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ไกลออกจากทางซ้ายเป็นบ้านเรือน มีตัวอักษรบนภาพ “นางสุชาดากับนางปุณทาษีถวายข้าวมธุปายาส”
หมายเลข 15 : ด้านขวาไกล ๆ เป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทลอยถาด ด้านหน้าเป็นผืนน้ำขนาดใหญ่และมีปราสาทพระยานาค มีตัวอักษรบนภาพ “ทรงลอยถาดทองที่แม่น้ำเนรันชะรา” หมายถึง พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงลอยถาดอธิษฐาน
หมายเลข 16 : ชายคนหนึ่งกำลังยกมือไหว้ถวายหญ้าคาจำนวน 2 ฟ่อนให้กับพระพุทธองค์ มีตัวอักษรบนภาพ “โสตถิยะพราหมณ์ถวายหญ้าคา” สังเกตการเขียนเส้นขอบฟ้าและเส้นนำสายตาบริเวณทางเดินที่คล้ายการเขียนภาพผลักระยะใกล้-ไกลแบบทัศนียวิทยาตะวันตก สังเกตการแต่งกายของโสตถิยะพราหมณ์ที่คล้ายชายหนุ่มทั่วไปที่ไม่บ่งบอกวรรณะพราหมณ์


หมายเลข 17 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัยเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาช่วยปราบพระยามารที่เข้ารุมทำร้ายจากทางซ้ายของภาพ ด้านขวาเหล่ากองทัพมารที่โดนน้ำท่วมและพนมมือยอมรับความพ่ายแพ้ มีตัวอักษรบนภาพ “พระยามารยกทัพมาประจน”
หมายเลข 18 : พระพุทธองค์ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ท่ามกลางความสว่างไสวของวันเพ็ญแลเห็นพระจันทร์เต็มดวง มีตัวอักษรบนภาพ “เมื่อตรัสรู้” สังเกตการแสดงบรรยากาศสมจริงยามค่ำคืนเขียนแสงจันทร์ที่สะท้อนน้ำ
หมายเลข 19 : พระพุทธองค์ประทับยืนใต้ต้นโพธิ์แสดงปางถวายเนตร กล่าวคือ ทรงลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถ์ซ้ายในอาการสังวรทอดพระเนตรต้นโพธิ์ มีตัวอักษรบนภาพ “พระถวายเนตร” หมายถึง พุทธประวัติตอนทรงเสวยวิมุตติสุข ณ สัตตมหาสถาน 7 แห่ง


หมายเลข 20 : พระพุทธองค์ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นห้าม ล้อมรอบด้วยธิดาพระยามารที่มายั่วยวน 3 นาง มีตัวอักษรบนภาพ “มารธิดาทั้งสามรำล่อ พระองค์ทรงขับไล่”
หมายเลข 21 : ชายหนุ่มแต่งกายคล้ายฤษีนั่งพนมมือต่อหน้าพระพุทธองค์ ใกล้กันมีฝูงแพะ มีตัวอักษรบนภาพ “แสดงขีณาสวะบุคคลแก่หิหิกชาติ

หมายเลข 22 : พระพุทธองค์ประทับนั่งบนขนดนาค มีตัวอักษรบนภาพ “พระนาคปรก” หมายถึง พุทธประวัติตอนทรงเสวยวิมุตติสุข ณ สัตตมหาสถาน 7 แห่ง
หมายเลข 23 : พระพุทธองค์ประทับนั่งพระหัตถ์ขวาทรงบาตร พระหัตถ์ซ้ายเอื้อมรับก้อนสัตตูข้าวสัตตูผงของสองพ่อค้าวานิช ถัดออกไปด้านขวาเป็นขบวนเกวียน ด้านซ้ายมีจตุโลกบาลทั้งสี่นำบาตรมาถวาย มีตัวอักษรบนภาพ “สองพานิชถวายสัตตูก้อนสัตตูผง” หมายถึง พุทธประวัติตอนกำเนิดปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนา
หมายเลข 24 : พระพุทธองค์ประทับยืนใต้ต้นโพธิ์แสดงปางรำพึง กล่าวคือ พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย มีตัวอักษรบนภาพ “พระองค์ทรงรำพึงถึงสัตว์” หมายถึง พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงลังเลที่จะแสดงธรรมแก่สรรพสัตว์
หมายเลข 25 : พระพุทธองค์ทรงพบกับชายหนุ่มผู้หนึ่งแต่งกายคล้ายพราหมณ์ยืนไขว้แขนไว้ด้านหลัง มีตัวอักษรบนภาพ “อุปกาชีวกพบพระพุทธเจ้า”
หมายเลข 26 : พระพุทธองค์ทรงประทับยืนถือบาตรแสดงธรรมล้อมรอบด้วยปัจจวัคคีย์ที่บ้างปูอาสนะ บางก้มลงแสดงความเคารพ มีตัวอักษรบนภาพ “พระองค์เสด็จไปยังหมู่ปัญจวัคคีย์” หมายถึงพุทธประวัติตอนท้าวจตุโลกบาลถวายบาตร
หมายเลข 27 : พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ มีพระอินทร์ พระพรหม มนุษยนาค เทวดา กษัตริย์ ราษฎรมาล้อมฟังพระธรรม มีตัวอักษรบนภาพ “ทรงแสดงธัมมจักกปวัตตนสูตร” หมายถึงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา


หมายเลข 28 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในศาลาทรงแสดงธรรมแก่ประชาชน ไกลออกเป็นเป็นกลุ่มคนเดินเรียงกันเป็นแถว มีตัวอักษรบนภาพ “เทสนาโปรดยศกุลบุตร”
หมายเลข 29 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรม มีกลุ่มคนทั้งพระ 5 รูปและกษัตริย์ 15 องค์มารับฟังพระธรรม ด้านขวามีกษัตริย์ 5 องค์กำลังเดินเข้ามา ไกลออกเป็นเป็นกลุ่มปราสาทราชวัง มีตัวอักษรบนภาพ “โปรดภัททะวัคคีย์ 30 ในไร่ฝ้าย” หมายถึงพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์เทศนาโปรดพระราชกุมารจำนวน 30 องค์จนบรรลุพระโสดาบัน

หมายเลข 30 : ด้านซ้ายล่างภาพพระพุทธองค์ประทับยืนมีพระรัศมีเป็นแฉกปรากฏรอบพระวรกาย ด้านขวาเป็นแม่น้ำที่มีเหล่าฤษียืนลอยบริขารของตน ด้านบนขวาเป็นพระพุทธองค์แสดงพระธรรมโดยมีเหล่าพระสาวกล้อมวงฟังพระธรรม มีตัวอักษรบนภาพ “ชฎิลลอยบริขาร ขออุปสมบท” หมายถึงพุทธประวัติตอนปราบเหล่าชฎิล
หมายเลข 31 : ด้านซ้ายบนมีแนวต้นตาลเรียงกัน ใกล้กันมีพระพุทธองค์ทรงประทับยืนแสดงธรรมให้คน 2 คน ด้านซ้ายเป็นวัด ถัดลงมาเป็นพระพุทธองค์แสดงธรรม ด้านขวาเป็นเมืองขนาดใหญ่ ภายในมีพระพุทธองค์แสดงธรรมในอาคารหลังหนึ่ง มีตัวอักษรบนภาพ “เมื่อพระองค์เสด็จประทับยังลัฏฐิวันตาลหนุ่ม” หมายถึง ตอนพระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์เสด็จสู่ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) ฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์
หมายเลข 32 : ด้านซ้ายเป็นภาพพระพุทธองค์แสดงธรรมแก่กษัตริย์ 3 องค์ที่นั่งพนมไหว้ ใกล้กันมีหอระฆังแสดงความเป็นวัด ด้านขวาเป็นอาคารบ้านเรือนขนาดใหญ่ มีตัวอักษรบนภาพ “พระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวัน” หมายถึงพุทธประวัติตอนพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายเวฬุวันให้เป็นอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
หมายเลข 33 : ด้านซ้ายเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ มีทหารยืนเฝ้า นอกกำแพงพระพุทธองค์ประทับนั่งใต้ต้นไม้ ล้อมรอบด้วยพระสงฆ์ ถัดออกมาเป็นกลุ่มชาวบ้านนั่งพนมมือ มีตัวอักษรบนภาพ “ทรงตั้งอัครสาวก” หมายถึง พุทธประวัติตอนอุปดิศมานพและโกลิตมานพอุปสมบทเป็นพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ


หมายเลข 34 : ภาพพระนางพิมพาแสดงอาการเศร้าโศก พระราหุลก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ ทั้งหมดอยู่ภายในปราสาท มีตัวอักษรบนภาพ “พระองค์เสด็จเยี่ยมพระนางพิมพาแลพระราหุล” หมายถึง พุทธประวัติตอนพิมพาพิลาป
หมายเลข 35 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมแก่พระบิดาที่ทรงประชวรโดยบรรทมบนพระแท่น มีตัวอักษรบนภาพ “พุทธบิดาทรงประชวรและนิพพาน” หมายถึง พุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพุทธบิดา

หมายเลข 36 : ด้านซ้ายพระพุทธองค์ทรงฉันอาหารพร้อมพระสาวกในบ้านของราษฎร ด้านขวาพระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดกษัตริย์ในเมืองใหญ่ มีตัวอักษรบนภาพ “พระองค์แสดงธัมโมวาทแก่กษัตริย์ทั้งปวงในเวสาลี” หมายถึง พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์แสดงธรรมแก่บรรดากษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีก่อนที่รุ่งเช้าจะเสด็จเข้าบิณฑบาตในเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย
หมายเลข 37 : พระพุทธองค์ทรงประทับนอนแตะแคงขวา (สีหไสยาสน์) ปางปรินิพพาน มีกษัตริย์และชาวบ้านมาล้อมรอบ มีดอกไม้โปรยปราย มีตัวอักษรบนภาพ “มัลลกระษัตริย์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าวันปรินิพพาน” หมายถึง พุทธประวัติตอนปรินิพนาน

เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. (2529). รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดพร้าว. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย
เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน

ดำเนินการวิจัย โดย …
รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต