วัดปู่บัว
ที่ตั้ง |
---|
วัดปู่บัวตั้งอยู่บนถนนสาย 3558 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย |
ประวัติวัด |
---|
วัดปู่บัว เดิมชื่อวัดปลูกบัว ต่อมาเพี้ยนเป็นวัดปู่บัว ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2476 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พ.ศ. 2478 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2489 แผนผังวัดด้านทิศตะวันออกจดถนนสาธารณะสายสุพรรณบุรี-ศรีประจันต์ ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำท่าจีน เสนาสนะประกอบด้วย พระอุโบสถกว้าง 8.5 ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ชั้นเดียว นอกจากนี้ยังมีหอสวดมนต์ กุฏิ และศาลาเอนกประสงค์ |
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง |
---|
อาคารที่ตั้งงานจิตรกรรมคือ ศาลาการเปรียญ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นศาลาโถงยกพื้นสูง ด้านบนเป็นอาคารไม้แบบไทยประเพณีประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปัจจุบันติดเหล็กดัดโดยรอบ มีป้ายที่ทำด้วยระบุข้อความว่า “ศาลาหลังนี้พระภิกษุสามเณรประชาชนสร้างพระครูปัญญาสารวัฒน์ (โปร่ง) เป็นประธานเมื่อ พ.ศ. 2493” ภายในอาคารด้านท้ายยกพื้นไม้เป็นเวทีขนาดเตี้ย ๆ ที่ฝาผนังด้านทิศตะวันตกมีธรรมาสน์และโลงศพวางเก็บไว้ บริเวณคอสองมีจิตรกรรมสีฝุ่นแผ่นไม้ประดับอยู่จำนวน 42 ภาพ เพดานไม่มีภาพเขียน |
จิตรกรรมฝาผนัง |
---|
คณะผู้วิจัยลำดับเนื้อหาของภาพโดยเริ่มจากฝั่งตะวันออกที่ติดกับทิศเหนือเป็นหมายเลข 1 เวียนตามเข็มนาฬิกา หมายเลข 1-32 เขียนเรื่องพุทธประวัติ หมายเลข 33-42 เป็นเรื่องทศชาติชาดก ภาพเขียนแต่ละภาพเขียนบนไม้จำนวน 5 แผ่น มาวางเรียงต่อกันแนวนอน หนึ่งช่วงเสามีภาพเขียน 3 ภาพ ยกเว้นด้านทิศตะวันตกและตะวันออกที่มีด้านละ 6 ภาพ คั่นแต่ละภาพด้วยลายหน้ากระดานรักร้อย สีที่ใช้คือ สีฝุ่นที่มีการรองพื้นบางมาก โครงสีโดยรวม ได้แก่ สีเหลือง น้ำตาลแดง น้ำเงิน ขาว และตัดเส้นด้วยสีดำ เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ตัวภาพบุคคลมีขนาดใหญ่ มีการเขียนเส้นขอบฟ้า ฉากหลังหรือฉากทิวทัศน์ที่แสดงทัศนียภาพแบบตะวันตก ปัจจุบันภาพเขียนค่อนข้างลบเลือน บางภาพศึกษาเนื้อหาได้ยาก แผนผังงานจิตรกรรมศาลาการเปรียญ วัดปู่บัว ดังนี้ หมายเลข 1-6 ทิศตะวันออก หมายเลข 1 : โพธิสัตว์ประทับบนแท่นที่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพระอินทร์และเหล่าเทพยดาทั้งหลายมาทูลเชิญให้เสด็จลงไปจุติในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา หมายเลข 2 : พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตว่ามีช้างมาทำประทักษิณรอบพระองค์ หมายเลข 3 : พระนางสิริมหามายายืนประทับเหนี่ยวกิ่งไม้ให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ หมายเลข 4 : จิตรกรรมค่อนข้างลบเลือน ด้านขวาเป็นพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาอัญเชิญพราหมณ์ทำนายพุทธลักษณะ ด้านซ้ายมือเป็นพระสิทธัตถะกุมารประทับยืน หมายเลข 5 : ด้านขวา เป็นพิธีแรกนาขวัญ ด้านซ้าย เป็นพระสิทธัตถะกุมารทรงแสดงปาฏิหาริย์บรรลุปฐมฌานขณะประทับใต้ร่มไม้หว้า ฉากหลังเขียนแสดงระยะใกล้-ไกลด้วยเส้นเฉียงทำนองทัศนียวิทยา หมายเลข 6 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงสำแดงศิลปศาสตร์ ทรงยกสหัสถามธนูที่หนักเท่าคนจำนวนหนึ่งพันขณะอายุ 16 พรรษา หมายเลข 7-21 ทิศใต้ หมายเลข 7 : ด้านซ้ายเป็นพระนางพิมพาให้ประสูติพระราหุล ด้านขวาเจ้าชายสิทธัตถะแสดงอาการเศร้าโศก หมายเลข 8 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงประพาสอุทยานและพบเทวทูตทั้งสี่ จึงเกิดความสังเวช ตัดสินพระทัยออกผนวช หมายเลข 9 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงร่ำลาพระนางพิมพาและพระราหุลเสด็จออกจากพระราชวัง หมายเลข 10 : เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัญฐกะออกผนวช ด้านขวาพระยาวัสวดีมารยกมือขัดขวาง หมายเลข 11 : ด้านซ้าย เจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเมาลีที่แม่น้ำอโนมา ด้านขวา นายฉันนะและม้ากัณฐกะ หมายเลข 12 : พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรโดยมีปัญจวัคคีย์เฝ้าปรนนิบัติ หมายเลข 13 : เป็นพระพุทธองค์ประทับนั่ง มีนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส หมายเลข 14 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัยบนบัลลังก์เรียกนางธรณีมาเป็นพยาน ภาพส่วนที่เหลือลบเลือน หมายเลข 15 : พระพุทธองค์ทรงบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ช่างวาดฉรรพพรรณรังสีแผ่ออกล้อมพระเศียร หมายเลข 16 : พระพุทธองค์ประทับนั่ง มีบาตรหนึ่งใบอยู่เบื้องหน้า ด้านขวาเป็นเทวดา 4 องค์ ที่ยังมองเห็นมงกุฎที่สวมบนศีรษะ หมายถึงพุทธประวัติตอนท้าวจตุโลกบาลสถวายบาตร หมายเลข 17 : จิตกรรรมลบเลือน สันนิษฐานจากภาพพระพุทธองค์ประทับนั่ง มีกลุ่มเทวดาหลายองค์ล้อมรอบ อาจหมายถึงพุทธประวัติตอนท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมด้วยหมู่พรหมเข้าเฝ้าอาราธนาพระองค์แสดงธรรมแก่สัตว์โลก หมายเลข 18 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แสดงปฐมเทศนาพระธรรมจักรกัปปวัฒนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ หมายเลข 19 : พระพุทธองค์ประทับยืนแสดงธรรมโปรดชฎิลที่แต่งกายแบบฤษีนั่งอยู่ในศาลาด้านขวา หมายเลข 20 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมต่อหน้าพระสงฆ์จำนวนมาก หมายถึงตอนแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หมายเลข 21 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในปราสาท ภาพส่วนที่เหลือลบเลือน อาจหมายถึงฉากปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์ที่เสด็จสู่ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) ต่อมาทรงถวายเวฬุวันให้เป็นอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา หมายเลข 22-27 ทิศตะวันตก หมายเลข 22-24 : ลบเลือน หมายเลข 25 : ด้านซ้าย พระพุทธองค์ประทับนั่งบนบัลลก์ ด้านขวา เป็นโกศประดิษฐานในปราสาท หมายถึงพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ถวายพระเพลิงพุทธบิดา หมายเลข 26 : ภาพลบเลือน อาจหมายถึงพระพุทธองค์เสด็จโปรดพุทธมารดาเพราะต่อเนื่องกับภาพหมายเลย 27 คือ ตอนพระพุทธองค์เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หมายเลข 27 : ภาพค่อนข้างลบเลือนแต่ยังคงเห็นที่ทอดลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระพุทธองค์ประทับยืน ด้านล่างมีชาวเมืองสังกัสสนครมารอรับ หมายเลข 28-42 ทิศเหนือ หมายเลข 28 : ด้านซ้าย เป็นองคุลีมาลที่ถือดาบไล่ฟันพระพุทธองค์ที่อยู่ด้านขวา มีสตรีนางหนึ่งอยู่ด้านซ้ายสุดของภาพ หมายเลข 29 : พระพุทธองค์ปรินิพพานท่ามกลางเทวดาและสาวก หมายเลข 30 : พระมหากัสสปะเดินทางมาถึงและกราบที่โลงพระศพของพระศาสดา หมายเลข 31 : เป็นภาพกำแพงเมืองและมีกองทัพที่เข้ามาขอแบ่งพระธาตุ หมายเลข 32 : ตรงกลางเป็นภาพเจดีย์ที่ล่องลอยอยู่บนสวรรค์ มีกลุ่มเทวดาเหาะอยู่บนเมฆโดยรอบ หมายเลข 33 : เป็นภาพพระเตมีย์ทดลองกำลังด้วยการกวัดแกว่งราชรถเพื่อแสดงพระองค์ว่าไม่ได้เป็นคนพิการ หมายถึงพระเตมีย์ชาดก หมายเลข 34 : ด้านขวาเป็นเรือสำเภาที่ใบหัก ด้านซ้ายมีนางมณีเมขลาเหาะพาพระมหาชนกให้รอดพ้นจากอันตราย หมายเลข 35 : ผนังค่อนข้างลบเลือน พอมองเห็นภาพสุวรรณสามกำลังล้มลงข้างบ่อน้ำหลังถูกศรกบิลยักขราช หมายเลข 36 : พระเนมีราชประทับนั่งบนราชรถโดยมีสุนันท์สารถีพาไปชมนรก ด้านซ้ายเป็นรูปกระทะทองแดง หมายเลข 37 : ภาพค่อนข้างลบเลือน แต่พอมองเห็นบุคคลสองคน คนที่อยู่ด้านขวากำลังเงื้อมือทำท่าข่มขู่ คนที่อยู่ด้านซ้ายนั่งเงยหน้ามอง จากการเรียงลำดับเนื้อหาทศชาติชาดก ภาพนี้จึงอาจหมายถึงพระมโหสถที่กำลังได้เปรียบเกวัฏพราหมณ์ หมายเลข 38 : ภาพด้านซ้ายเป็นภาพพระภูริทัตต์ขดกายบำเพ็ญสมาธิบนจอมปลวก หมายเลข 39 : ภาพค่อนข้างลบเลือน แต่พอมองเห็นบุคคลสองคน คนที่อยู่ด้านซ้ายนั่งอยู่ในอาคาร คนที่อยู่ด้านขวามีขนาดเล็กกว่าทำท่าเงื้อขวานจึงน่าจะหมายถึงพระอินทร์ จากการเรียงลำดับเนื้อหาทศชาติชาดก ภาพนี้จึงหมายถึง จันทกุมารชาดก หมายเลข 40 : ภาพค่อนข้างลบเลือน แต่พอมองเห็นบุคคลด้านบนขวาหาบสาแหรกเหาะลงมา จากการเรียงลำดับเนื้อหาทศชาติชาดก ภาพนี้หมายถึง พรหมนารทชาดก หมายเลข 41 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ตรงกลางเป็นรูปปุณณกยักษ์จับปลายเท้าของวิธูรบัณฑิตเงื้อขึ้นฟาดกับภูเขา หมายถึง วิธูรชาดก หมายเลข 42 : ภาพค่อนข้างลบเลือน ด้านซ้ายเป็นกำแพงเมืองและซุ้มประตูยอดปรางค์ ด้านขวามีฉากปราสาทมีบุคคลสวมมงกุฎนั่งอยู่ด้านใน มีศีรษะขนาดเล็ก 2 ศีรษะ ปรากฏอยู่ จากการเรียงลำดับเนื้อหาทศชาติชาดก ภาพนี้จึงหมายถึงพระเวสสันดรชาดก ข้อสังเกต เมื่อพิจารณาเทคนิคการเขียนภาพที่เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน มีการต้นไม้ที่วาดเรียงกันขนาดเล็ก-ใหญ่แสดงระยะใกล้-ไกล บางภาพแสดงเส้นขอบฟ้าอย่างชัดเจน ขนาดภาพตัวบุคคลมีขนาดใหญ่ ห่างไกลความเป็นนาฏลักษณ์ ประกอบกับประวัติการสร้างศาลาใน พ.ศ. 2494 ทำให้กำหนดอายุจิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญในเวลาเดียวกันคือ พ.ศ. 2494 |
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |