วัดไทรย์
ที่ตั้ง |
---|
วัดไทรย์อยู่บนถนนขุนแผน สุพรรณบุรี-บางปลาม้า อำเภอเมืองสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ทิศตะวันออกจดถนนสายบางปลาม้า ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสุพรรณบุรี |
ประวัติวัด |
---|
วัดไทรย์ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2514 มีประวัติว่าเมื่อคราวที่กองทัพไทยปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ตีเมืองเวียงจันทน์แตกกวาดต้อนผู้คนชาวเวียงจันทน์กลับมาที่ไทยเข้ามาอยู่ที่บ้านโคกหม้อมีการสร้างวัดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ 2 แห่งคือวัดไทรและวัดชายทุ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ชื่อวัดน่าจะมาจากชื่อวัดที่มีอยู่ในนครเวียงจันทน์เป็นเมืองเดิม พื้นที่ตั้งของวัดไทรย์แต่เดิมไม่มีทางลงแม่น้ำเนื่องจากมีที่เอกชนปิดกั้นอยู่ทำให้ไม่สะดวกในการสัญจร พระภิกษุและชาวบ้านจำเป็นต้องใช้อุปโภคบริโภค ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงบริจาคเงินซื้อที่ดินติดแม่น้ำถวายวัด สมัยพระอธิการพิชัย ธมฺมปาโล เจ้าอาวาสได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายให้คงสภาพเดิม สร้างกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ สร้างหอฉัน ปัจจุบันเสนาสนะประกอบด้วยพระอุโบสถกว้าง 7.8 ยาว 23 เมตร สร้าง พ.ศ. 2513 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน ศาลาการเปรียญกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นอาคารไม้ มีหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ ด้านหน้าของพระอุโบสถมีเจดีย์สกุลช่างลาว มีฐานกลมรองรับองค์ระฆังเหลี่ยมทรงสูงและมีส่วนยอดเรียวสูงขึ้นไป |
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง |
---|
พระอุโบสถมีขนาดเล็กเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 4 บาน |
จิตรกรรมฝาผนัง |
---|
ภายในพระอุโบสถเหนือขอบหน้าต่างมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือช่างพื้นบ้านเขียนด้วยสีฝุ่น ไม่มีการปิดทองคำเปลว โครงสีโดยรวมเป็นสีเทา น้ำตาลเข้ม สีน้ำเงิน ขาว เหลือง แดง เขียว ตัวภาพบุคคลมีขนาดเล็ก แสดงอาการเคลื่อนไหว กระจายอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ทั่วทั้งผนัง เล่าเรื่องพุทธประวัติและพระมาลัย เพดานพื้นสีน้ำตาลเข้ม มีลายดาวเพดานรูปวงกลมต่างขนาดเป็นลายเส้นสีเหลืองอาจเป็นงานที่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ บานหน้าต่างด้านในเชื่อว่าเคยมีจิตรกรรมทวารบาลเทคนิคปิดทองรดน้ำปัจจุบันลบเลือน บานหน้าต่างด้านในเชื่อว่าเคยมีจิตรกรรมทวารบาลเทคนิคปิดทองรดน้ำปัจจุบันลบเลือน จากการสัมภาษณ์พระปลัดไพศาล พลวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดไทรย์ ให้ข้อมูลว่าท่านมีบรรพบุรุษเป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ เดิมวัดแห่งนี้ชื่อวัดไซย งานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถผนังสร้างโดยพี่น้องชาวจีนและชาวลาวในสมัยพระอธิการพิชัย ธมฺมปาโล เป็นเจ้าอาวาส แผนผังจิตรกรรมลำดับ ดังนี้ หมายเลข 1 : ผนังสกัดด้านหลังพระประธาน ตรงกลางด้านบนเป็นภาพพระเจดีย์จุฬามณี มีพระมาลัยถือตาลปัตรนั่งสนทนากับพระอินทร์ นิ้วชี้ของพระมาลัยชี้ออกไปทางด้านซ้ายมือของพระประธาน ด้านซ้ายและขวาของเจดีย์จุฬามณีมีเหล่าเทวดา นางฟ้า นักสิทธิ์ วิทยาธร เหาะลอยอยู่บนเมฆหันหน้ามาหาพระเจดีย์ในมือถือดอกไม้เพื่อมานมัสการพระเจดีย์ ถัดลงไปด้านล่างพื้นหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มลบเลือน หมายเลข 2 : ผนังด้านขวามือพระประธาน พื้นหลังเป็นโทนสีฟ้าอมเทาบางส่วนเห็นรอยแต้มทิ้งพู่กันคล้ายก้อนเมฆลอย มีเทวดา นางฟ้า นักสิทธิ์ วิทยาธรเหาะถือดอกไม้อยู่เป็นกลุ่ม ๆ หันหน้าไปทางผนังที่มีพระเจดีย์จุฬามณี ท้ายผนังที่ติดกับผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานวาดให้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกัน คือเหล่าเทวดาทำท่าตกใจเหาะหนีน้ำที่ท่วมพระยามาร มีการแทรกภาพตลกขบขัน เช่น วิทยาธรทำชฎาหลุดจากศีรษะ เทวดาบางองค์ถือดอกฝิ่นมานมัสการพระเจดีย์ เป็นต้น หมายเลข 3 : ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน เป็นพระพุทธประวัติตอนมารวิชัย พระพุทธองค์ประทับนั่งปางสมาธิบนโพธิบัลลังก์ ด้านล่างเป็นนางธรณีประทับยืนบีบน้ำจากมวยพระเกศาท่วมเหล่าพระยามารที่มุ่งเข้าโจมีทางซ้ายมือของพระพุทธองค์ ส่วนด้านขวาเป็นเหล่าพลมารที่ถูกน้ำท่วมพ่ายแพ้ไป น่าสังเกตมุมบนด้านขวามือเป็นภาพพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาแตกหนีกองทัพพระยามาร หมายเลข 4 : ผนังด้านขวามือพระประธาน พื้นหลังเป็นโทนสีเทา มีการแต้มพู่กันตวัดม้วนไปมา คล้ายก้อนเมฆลอย มีเทวดา นางฟ้า นักสิทธิ์ วิทยาธรเหาะถือดอกไม้อยู่เป็นกลุ่ม ๆ หันหน้าไปทางผนังที่มีพระเจดีย์จุฬามณี ท้ายผนังที่ติดกับผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานวาดให้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกัน คือเหล่าเทวดาทำท่าตกใจเหาะหนีพลพรรคพระยามารที่มาเข้าสู้รบกับพระพุทธองค์ |
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |