วัดสังโฆสิตาราม
ที่ตั้ง |
---|
วัดสังโฆสิตารามตั้งอยู่บนถนนสาย 3351 หมู่ที่ 5 ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ตั้งวัดห่างที่ไกลจากแม่น้ำท่าจีนและถนนสายหลัก ทิศตะวันออกมีคลองขนาดเล็กชื่อคลองสังโฆไหลผ่าน ปัจจุบันถนนหลักทางเข้าวัดอยู่ทางทิศตะวันตก |
ประวัติวัด |
---|
วัดสังโฆสิตาราม ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 เดิมชื่อวัดสังโฆ ไม่ปรากฎประวัติผู้สร้างที่แน่ชัด ภายหลังสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน) เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ได้ประทานชื่อเพิ่มเติมเป็นวัดสังโฆสิตาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2541 จากข้อมูลโบราณสถานของกรมศิลปากร เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ให้ข้อมูลว่าพระ อุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติชาดกภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมเรื่องราวของพระอดีตพุทธ พุทธประวัติ ยมโลก พระฝ่ายอรัญวาสี ใช้เทคนิคเขียนสีบนภาพปูนปั้นนูน ฝีมือช่างพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมบนสมุดข่อยเขียนด้วยสีฝุ่นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นฝีมือช่างหลวงเก็บรักษาไว้ที่วัดนี้ด้วย แต่จากการสัมภาษณ์พระอธิการ นาวิน อนงฺคโณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระอธิการ นาวิน อนงฺคโณ, สัมภาษณ์ 15 มกราคม พ.ศ. 2565) ท่านไม่ทราบรายละเอียดสมุดข่อยเขียนสีฝุ่นดังที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบัน ภายในวัดสังโฆสิตารามประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างหลายหลัง ที่มีงานจิตรกรรมฝาผนัง ได้แก่ พระอุโบสถเก่า พระวิหารพระป่าเลไลย์ และพระอุโบสถใหม่ อาคารทั้ง 3 หลังเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนวางตัวเรียงกันในแนวเหนือใต้ นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญและหอสวดมนต์ที่สร้างด้วยไม้ และมีหมู่กุฏิสงฆ์อีกหลายหลัง ในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดงานจิตรกรรมจำนวน 2 หลัง คือ ในพระอุโบสถเก่าและพระวิหารตามการสำรวจของคุณวรรณิภา ณ สงขลา และคณะ |
สถานที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนัง |
---|
พระอุโบสถเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 4 ห้อง มีประตูทางเข้าบานเดียวเฉพาะด้านหน้า หน้าบันมีงานแกะสลักไม้ด้วยลายเครือเถาและลายก้านขด ตรงกลางเป็นรูปครุฑรองพานซ้อนชั้นกัน ภายในพระอุโบสถเก่ามีจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ทศชาติชาดก พระอุปคุต พระมาลัย เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ภาพหมายเลข 41 ระบุ พ.ศ.ที่วาดเสร็จ พ.ศ. 2500 |
จิตรกรรมฝาผนัง |
---|
จิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นบนพื้นปูนเต็มผนังเหนือบริเวณบานประตูและหน้าต่างทั้ง 4 ด้าน แต่ละผนังแบ่งห้องภาพเป็น 2 ช่วง คือ บนและล่าง ช่วงบนหมายเลข 1 – 4 เป็นเรื่องพระมาลัยที่ต่อเนื่องกันทั้ง 4 ด้าน ช่วงล่างแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมแนวตั้งขนาดเท่า ๆ กัน เขียนเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก โครงสีโดยรวมคือ สีน้ำเงิน เหลือง ขาว และเทา ตัดเส้นตัวภาพด้วยสีน้ำตาลเข้มและสีดำ หมายเลข 1 : ผนังด้านขวามือพระประธาน ทิศใต้ เป็นฉากสวรรค์ มีภาพเทพและบริวารทั้งนั่งและยืนพนมมือหันหน้ามาทางพระเจดีย์จุฬามณีที่อยู่บนผนังทิศตะวันออก หมายเลข 2 : ผนังด้านตรงข้ามพระประธาน ทิศตะวันออก เป็นภาพพระมาลัยสนทนาธรรมกับพระอินทร์ที่ลานพระเจดีย์จุฬามณี มือชี้ไปยังผนังด้านทิศเหนือที่เป็นเทวดากลุ่มใหญ่กำลังเหาะมา พระมาลัยเพียรสอบถามพระอินทร์ว่าเทพและบริวารทั้งหลายที่กำลังเข้ามานั้น ใช่พระศรีอาริยเมตไตรยหรือไม่ หมายเลข 3 : ผนังด้านซ้ายมือพระประธาน ทิศเหนือเป็นภาพเทพและบริวารกำลังเหาะมานมัสการพระเจดีย์จุฬามณี ใต้ภาพบริเวณกลางผนัง มีตัวอักษร “ช. บู่ ผู้วาดเขียน” ด้านขวามีตัวอักษร “เมื่อ พ.ศ. 2503 บรรจบรอบ” หมายเลข 4 : ผนังด้านหลังพระประธาน ทิศตะวันตก เป็นภาพพระมาลัยกำลังเหาะมานมัสการพระเจดีย์จุฬามณีพร้อมกับเทวดาทั้งหลาย หมายเลข 5-48 เป็นผนังด้านล่างถัดจากพระมาลัยและกลุ่มเทวดาแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมแนวตั้ง เริ่มต้นจากหมายเลข 5-19 ผนังด้านทิศใต้ เวียนตามเข็มนาฬิกาไปยังทิศตะวันตกที่หมายเลข 20-26 ถัดไปทางทิศเหนือ หมายเลข 27-41 จบที่ผนังด้านทิศตะวันออก หมายเลข 42-48 ในแต่ละช่องภาพมีตัวอักษรระบุหมายเลขและเนื้อหา บางภาพมีชื่อผู้ที่ว่าจ้างให้สร้างและ พ.ศ. ที่วาดภาพ หมายเลข 5-19 ผนังด้านทิศใต้ มีภาพทั้งหมดจำนวน 15 ภาพ เล่าเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่อัญเชิญจุติเวสสันดรจากดุสิตสวรรค์จนถึงตอนตรัสรู้ใต้ศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชา หมายเลข 5 : มีตัวอักษร “1 อัญเชิญจุติเวสสันดรจากดุสิตสวรรค์” หมายเลข 6 : มีตัวอักษร “2 สุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายา” หมายเลข 7 : มีตัวอักษร “3 ประสูติมีดอกบัว 7 ดอกผุดรับเสด็จ” หมายเลข 8 : มีตัวอักษร “4 ทำนายลักษณะ ปาฏิหาริย์เหนือเศียรชฎิล” หมายเลข 9 : มีตัวอักษร “5 แรกนาขวัญ นั่งขัดสมาธิเจริญฌาน” หมายเลข 10 : มีตัวอักษร “6 ยกศรอัศจรรย์แก่ชาวโลกยิ่งนักแก่จักษุ” หมายเลข 11 : มีตัวอักษร “7 ราชาภิเศกกับองค์เอำพมพายะโสธยา” หมายเลข 12 : มีตัวอักษร “8 เทวทูต 4 ทรงเห็นคนแก่เจ็บตายสมณะ” หมายเลข 13 : มีตัวอักษร “9 หนีบรรพชา ทรงเผยม่านทองหนีบวช” หมายเลข 14 : มีตัวอักษร “10 ทรงม้ากัณฐกะถึงฝั่งอโนมานที” หมายเลข 15 : มีตัวอักษร “11 ตัดโมฬีด้วยพระขรรค์ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที” หมายเลข 16 : มีตัวอักษร “12 ทุกกรกิริยา พระอินทร์มาดีดพิณให้สติ” หมายเลข 17 : มีตัวอักษร “13 ทรงรับมทุปายาสของนุชนาถสุชาดา” หมายเลข 18 : มีตัวอักษร “14 ชนะมารที่ยกพลเสนามาผจญ” หมายเลข 19 : มีตัวอักษร “15 ตรัสรู้ใต้ศีรมโพธิ์ริมฝั่งเนรัญชา” หมายเลข 20-26 ผนังสกัดหลังพระประธาน ด้านทิศตะวันตกมีภาพทั้งหมดจำนวน 7 ภาพ เล่าเรื่องพุทธประวัติต่อจากผนังก่อนหน้าปะปนทศชาติชาดก หมายเลข 20 : พุทธประวัติ ภาพธิดาพระยามารมาร่ายรำยั่วยวนพระพุทธองค์ มีตัวอักษร “16 สามธิดามารมาลวงล่อด้วยอิตถีมายา” หมายเลข 21 : พรหมนารทชาดก ภาพพระพรหมนาทเหาะลงมาโปรดพระเจ้าอังคติราชให้ละมิจฉาทิฐิ (ความหลงผิด) มีนางรุจาพระธิดานั่งอยู่ด้านล่าง มีตัวอักษร “ตอนพระนารอดเสด็จลงมาว่ากล่าวสมเด็จพระเจ้าอังคติราชให้ละมิจฉาทิฏฐิ ให้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ” สังเกตการวาดพระพรหมนารทโดยทั่วไปจะแต่งกายด้วยเครื่องทรงแบบกษัตริย์และมีสี่พักตร์กำลังหาบลูกฟักแต่ในที่นี้แต่งกายแบบฤษี หมายเลข 22 : วิธุรชาดก ภาพปุณณกยักษ์ทรมานพระวิธุรด้วยการจับผูกติดหางไม้และพาวิ่งไประหว่างซอกเขา มีตัวอักษร “ตอนปุระณะกะยักษ์จับพระวิทูลมัดไว้กับหางม้า แล้วขับม้าพาไปในระหว่างไม้และซอกเขาทั้งปวง” หมายเลข 23 : ผนังค่อนข้างลบเลือนและมองเห็นได้ยากเนื่องจากอยู่หลังพระเศียรของพระประธาน เป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนทอดพระเนตรพระเทวทัตถูกธรณีสูบ มีตัวอักษร “ตอนพระเทวทัตต์ประทุษร้ายพระพุทธเจ้า” หมายเลข 24 : ผนังค่อนข้างลบเลือน ภาพพระโมคคัลลานะหนีโจรที่ตามฆ่า พุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องบุพกรรมของพระโมคคัลลานะ มีตัวอักษร “ตอนอัคคสาวกพระมหาเถระท่านทราบ… โจรพากันมาล้อมใว้ หนีออกช่องทางดาน” หมายเลข 25 : พุทธประวัติตอนพระยามารถูกพระอุปคุต (ไม่ปรากฏภาพพระอุปคุต) ทรมานด้วยการจับมัดมือไพล่หลังไว้เพื่อไม่ให้ออกมาทำลายพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ มีตัวอักษร “ตอนพระอุปคุตเถระทระมานพญามาร” หมายเลข 26 : พุทธประวัติ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ต้นไม้ มีชาวบ้านมาถวายภัตตาหาร ท้าวจาตุมาหราชิกานำบาตรมาจากทั้งสี่ทิศ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าบรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินหนึ่งใบ ท้าวจาตุมาหราชิกาจึงประสานบาตรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีตัวอักษร “17 อธิษบาตร์จาตุมหาราชทั้ง 4” หมายเลข 27-41 ผนังด้านซ้ายมือพระประธาน ทิศเหนือมีภาพทั้งหมดจำนวน 15 ภาพ เล่าเรื่องพุทธประวัติ หมายเลข 27-32 ดังนี้ หมายเลข 27 : ภาพพระพุทธองค์ประทับนั่ง มีพระพรหมและเหล่าเทวดาทูลเชิญให้ทรงแสดงธรรม มีตัวอักษรใต้ภาพ “18 พรหมอาราธนาให้แสดงธรรมโปรดสัตว์” หมายเลข 28 : พระพุทธองค์ประทับนั่งในป่าอสิปตนมฤคทายวันทรงแสดงปฐมเทศนาท่ามกลางปัญจวัคคีย์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “19 ปฐมเทศนาแสดงโปรดปัญจวัคคีย์” หมายเลข 29 : พระพุทธองค์ประทับยืนโปรดแสดงธรรมแก่ยศกุลบุตรที่นั่งพนมมืออยู่หน้าพระพักตร์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “20 โปรดพระยสให้สำเร็จพร้อมบริวาร” หมายเลข 30 : พระพุทธองค์โปรดแสดงธรรมแก่ชฎิล 1 ตน ที่แต่งกายแบบฤษี มีตัวอักษรใต้ภาพ “21 โปรดชฎิลสามพี่น้องให้ละพยศบวช” หมายเลข 31 : พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมท่ามกลางเหล่าสาวกที่มารวมตัวกัน 1,250 รูป มีตัวอักษรใต้ภาพ “22 มาฆบูชา แสดงวันเพ็ญเดือน 3” หมายเลข 32 : พระพุทธเจ้าทรงประทานบาตรส่งให้พระนนท์ประคองถือไว้และเดินตามเสด็จไปถึงนิโครธาราม มีตัวอักษรใต้ภาพ “23 โปรดพระนนท์ พุทธอนุชาให้สำเร็จ” หมายเลข 33 : พระราหุลเสด็จไปนิโครธารามทูลขอพระราชสมบัติและพระพุทธเจ้าทรงให้บรรพชาแก่พระราหุล มีตัวอักษรใต้ภาพ “24 ราหุลบรรพชา ให้บวชเณรแก่ราหุล” หมายเลข 34 : ภาพพระเทวทัตกำลังถูกธรณีสูบ มีตัวอักษรใต้ภาพ “25 ธรณีสูบพระเทวทัตต์ผู้สังฆเภท” หมายเลข 35 : พระพุทธองค์ทรงโปรดพระนางมหาประชาบดีโคตมีท่ามกลางสาวกและนางกำนัล มีตัวอักษรใต้ภาพ “26 โปรดมหาปชาบดีมารดาเลี้ยงด้วยกตัญญู” หมายเลข 36 พระพุทธองค์เสด็จถวายพระเพลิงพุทธบิดา มีตัวอักษรใต้ภาพ “27 ถวายพระเพลิงพุทธบิดาด้วยมั่นในปิตุคุณ” หมายเลข 37 พระพุทธองค์เสด็จโปรดแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “28 โปรดพุทธมารดาด้วยมั่นในมาตุภูม” หมายเลข 38 พระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเหล่าเทวดาและชาวเมืองมาคอยส่งเสด็จและรับเสด็จ มีตัวอักษรใต้ภาพ “29 เสด็จลงจากดาวดึงส์ ณ สังกัสนคร” หมายเลข 39 : องคุลีมาลกำลังเงื้อไล่ตามพระพุทธองค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “30 โปรดองคุลิมาลโจร ผู้ทิฏฐิแรงร้าย” หมายเลข 40 : พระพุทธองค์พระพุทธเจ้าทรงอาพาธและปรินิพพานท่ามกลางสาวก มีตัวอักษรใต้ภาพ “31 ปรินิพพาน ณ กรุงสินารายน์” หมายเลข 41 : กองทัพกษัตริย์ต่างยกกองทัพมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ฉากหลังคล้ายจำลองแบบกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีตัวอักษรใต้ภาพ “32 แบ่งพระบรมธาตุ โทณพราหมณ์เป็นตุลาการ” ด้านขวาของภาพหมายเลข 41 มีตัวอักษร “จบเรื่องพระพุทธเจ้าแรม 13 ค่ำ เดือนยี่ 2 – ปีระกา พ.ศ. 2500” หมายเลข 42-48 ผนังสกัดตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกมีภาพทั้งหมดจำนวน 7 ภาพ เล่าเรื่องชาดก ดังนี้ หมายเลข 42 : พระเตมีย์กุมารประทับนั่งทรงแสร้งทำเป็นนิ่งเฉยเมื่อถูกทดลองด้วยอสรพิษ มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนพระเตมีย์ทรงทำเป็นไบ้ อำมาตย์จึงทดลองด้วยงู” หมายเลข 43 : นางมณีเมขลามาช่วยเหลือพระมหาชนกที่กำลังว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนนางมณีเมขลามาช่วยพระมหาชนกเมื่อเรือสำเภาแตกมหาสมุท” หมายเลข 44 : กปิลยักขราชมาดูพระสุวรรณสามที่ถูกศรของตนยิง มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนพระยากระบิลยักษ์ยิงพระสุวรรณสามด้วยลูกศร แล้วพระสุวรรณสามร้องเชิญมาสนทนากัน” หมายเลข 45 : พระเนมีราชทรงราชรถเหาะขึ้นไปดูสวรรค์ มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนเนมีราชเสด็จประทับมาในเวชยันต์ราชรถของพระอินทร์ชมนรกแลบนสวรรค์” หมายเลข 46 : ท้าววิเทหราชทรงโปรดให้พระมโหสถแก้ปริศนาเทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรที่ถามปัญหาพระราชา มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนท้าววิเทษราชให้พระมโหสถมาแก้ปริศนาสี่ข้อของเทวดารักษาเสวตร์ฉัตร์” หมายเลข 47 : พรานอาลัมพายน์กำลังร่ายมนต์สะกดพระภูริทัตที่กำลังจำศีลขดตัวรอบจอมปลวก มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนภูริทัตขึ้นมาจำศีล หมองูมาจับเอาตัวไป” หมายเลข 48 : พระอินทร์เหาะลงมานำค้อนไฟมาหักฉัตรทำลายพิธีบูชายัญเพื่อช่วยพระจันทกุมารและ มีตัวอักษรใต้ภาพ “ตอนพระจันทกุมารถูกฆ่าบูชายัญ พระอินทร์ลงมาช่วยไว้” พระวิหาร พระวิหารมีขนาดเล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านด้านเดียว เจาะช่องหน้าต่างข้างละ 3 บาท หลังพระประธาน 1 บาน ท้ายอาคารด้านทิศเหนือมีพระประธานปางป่าเลไลย์ขนาบสองข้างด้วยลิง ช้าง และพระสาวก ผนังภายในอาคารโดยรอบเหนือบานประตู-หน้าต่างมีงานปูนปั้นนูนต่ำระบายสีฝีมือช่างพื้นบ้าน เริ่มต้นด้วยผนังหมายเลข 1 ด้านหลังพระประธานเวียนตามเข็มนาฬิกาจนจบหมายเลข 4 ด้านทิศใต้ แผนผังภาพ หมายเลข 1 : ด้านหลังพระประธาน ทิศตะวันตก แถวบนเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับยืน 4 พระองค์สลับด้วยแจกันดอกไม้ แถวล่างเป็นภาพต้นไม้ หมายเลข 2 : ด้านซ้ายมือของพระประธาน ทิศเหนือ แถวบนเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับยืน 18 องค์ แถวล่างเป็นอุบาสกกำลังถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์ 5 รูป อุบาสกและอุบาสิกากำลังแสดงความเคารพ หมายเลข 3 : ด้านตรงข้ามพระประธานทิศตะวันออก เป็นพุทธประวัติ 2 ตอน ตอนบนเป็นพระพุทธองค์เสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อด้วยเทโวโรหนะ หมายเลข 4 : ด้านขวามือของพระประธาน ทิศใต้ แถวบนเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับยืน 18 องค์ แถวล่างเป็นพระสงฆ์ 9 รูป พร้อมอุบาสกและอุบาสิกา พระอุโบสถใหม่ พระอุโบสถใหม่สร้างแล้วเสร็จราว พ.ศ. 2545 สมัยพระปลัดสมคิด กิตติสาโร เจ้าอาวาสองค์ก่อน (ปกครองวัดระหว่าง พ.ศ. 2508-กุมภาพันธ์ 2546) เดิมมีกำหนดการเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาเป็นประธานในพิธีเปิดพระอุโบสถใหม่แต่พระปลัดสมคิด กิตติสาโร มรณภาพเสียก่อน (สัมภาษณ์พระสังขรักษ์ณรงค์ รกฺขิตโต 15 มกราคม พ.ศ. 2565) ภายในพระอุโบสถใหม่มีงานจิตรกรรมสีฝุ่นแบบไทยประเพณีประยุกต์และงานปิดทองรดน้ำที่เชิงบานหน้าต่างเนื้อหาโดยรวมเป็นเรื่องเทพชุมนุม พุทธประวัติ ไตรภูมิ และทศชาติชาดก แต่คณะผู้วิจัยจะไม่ลงรายละเอียดเนื่องจากเป็นงานที่สร้างใหม่ |
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (2545). ประวัติวัดทั่วพระราชอาณาจักร เล่ม 21. กรุงเทพฯ: กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2533). จิตรกรรมไทยประเพณี หนังสือชุดที่ 001 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ เป็นผลจากการศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการวิจัย โดย … รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติยา เนตรวงษ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |